เทรนด์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มปี 2567 - สคต. ชิคาโก

“นอกจากผู้บริโภคในตลาดสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแล้วยังให้ความสำคัญกับการลดการก่อให้เกิดขยะในสิ่งแวดล้อมด้วย”

 

ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสุขภาพของประชากรทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการในวงการอาหารและผู้บริโภคชาวอเมริกันหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยคาดว่ากระแสความนิยมดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแนวรักษ์โลกในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า

 

ทั้งนี้ Mr. Andres Jimenez ตำแหน่ง รองประธานอาวุโสด้านโรงแรมและบาร์ บริษัท Makeready ผู้ประกอบด้านธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร บาร์ และสปา รายใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมานานกว่า 25 ปี ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมว่า กระแสการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ รวมถึงพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันจะส่งผลทำให้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มแนวรักษ์โลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า และจะทำให้ผู้ประกอบการในตลาดพัฒนาสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจรายการใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดด้วย

 

นอกจากนี้ Mr. Jimenez ยังคาดว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ลงและหันไปเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ให้อรรถประโยชน์ (Functional Beverages) ต่อสุขภาพมากขึ้นในปีหน้าด้วย

 

ทั้งนี้ สามารถสรุปเทรนด์ทิศทางแนวโน้มในอุตสาหกรรมบริการอาหารและเครื่องดื่มที่จะได้รับความนิยมในสหรัฐฯ ปี 2567 ได้ดังนี้

 

เทรด์การใช้วัตถุดิบโบราณสำหรับปรุงอาหาร (Ancient Grains and Heritage Ingredients) วิวัฒนาการด้านการปรุงอาหารเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาทำให้ความนิยมในการเลือกใช้วัตถุดิบการปรุงอาหารโบราณลดลงไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าความนิยมในการใช้วัตถุดิบโบราณที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น เมล็ดควินัว (Quinoa) เมล็ดผักโขม (Amaranth) และเมล็ดเทฟ (Teff) มาใช้ปรุงอาหารจะขยายตัวมากขึ้น

 

เทรนด์อาหารนวัตกรรม (Innovative Food Technologies) ปัจจัยด้านนวัตกรรมด้านการผลิตวัตถุดิบอาหารที่พัฒนาไปอย่างรุดหน้าในปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้สินค้าอาหารวัตกรรม เช่น อาหารโปรตีนจากพืช อาหารโปรตีนจากห้องปฏิบัติการ (Lab-Grown Protein) และอาหารจากระบบพิมพ์สามมิติ (3D-Printed Food) ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

 

เทรนด์การสร้างมูลค่าและลดขยะ (Upcycled-Zero Waste) การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะทำให้ผู้ประกอบการหันไปสร้างมูลค่า (Upcycled) วัตถุดิบการผลิตอาหาร เช่น ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลดขยะจากอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อีกทั้ง ยังคาดว่า ผู้ประกอบการจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะต่อสิ่งแวดล้อมจะลดลงและหันไปเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เป็นต้น

เทรนด์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มปี 2567 - สคต. ชิคาโก

“ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีเมล็ดพืชที่สามารถนำไปปลูกได้”

 

เทรนด์อาหารที่มีอรรถประโยชน์และช่วยเสริมสมรรถภาพ (Functional Foods and Adaptogens) ผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันใม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะปัจจัยด้านคุณค่าทางอาหารแต่ยังให้ความสำคัญกับอรรถประโยชน์ของอาหารที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย เช่น สินค้าอาหารจากสมุนไพรที่มีส่วนช่วยเสริมสมรรถภาพ (Adaptogens) อาหารผสมสารแคนนาบิไดออล (CBD-Infused) และอาหารที่ช่วยผ่อนคลายลดความเครียด เป็นต้น

 

เทรนด์วัตถุดิบจากเห็ด (All Things Mushrooms) เป็นที่ทราบกันดีว่าเห็ดอุดมไปด้วยสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนจึงทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการเลือกนำเห็ดไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจหลายรายการ เช่น เห็ดอบแห้ง (Jerky) แป้งพิซซ่า (Pizza Crust) ชา กาแฟ และเบียร์ เป็นต้น

 

เทรนด์การเลือกวัตถุดิบจากท้องถิ่น (Hyper-local Sourcing Sustainability) การให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นและการรับผิดชอบต่อสังคมเป็นกระแสที่ผู้ประกอบการบริการร้านอาหารนิยมมากขึ้น เช่น การเลือกซื้อ ผักผลไม้จากฟาร์มในท้องถิ่น การปลูกผักบนดาดฟ้า (Rooftop Gardens) เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อคัดสรรวัตถุดิบสำหรับเป็นเมนูพิเศษ เป็นต้น

 

เทรนด์อาหารจุลินทรีย์มีประโยชน์ (Microbiome-Friendly Foods) จุลินทรีย์หลายชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพและระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ เช่น โพรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งมีมากในอาหารผักและผลไม้หมักดอง ทำให้ผู้บริโภคนิยมบริโภคมากขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพและระบบการย่อยอาหาร

 

เทรนด์การผลิตเครื่องดื่มเพื่อความยั่งยืน (Sustainability in Brewing and Distilling) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการผลิต การคัดเลือกวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น เบียร์เกษตรอินทรีย์ (Organic Beers) ไวน์เกษตรชีวพลวัตร (Biodynamic Wines)

***เกษตรชีวพลวัตรให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งระบบนิเวศ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคแบบองค์รวม***

 

เทรนด์เครื่องดื่มมีส่วนผสมสารแคนนาบิไดออล (CBD – Infused Beverages) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสารแคนนาบิไดออลได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดเนื่องจากมีสรรพคุณช่วยลดความเครียดและทำให้ผ่อนคลาย ผู้ประกอบการในตลาดนิยมนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เช่น คอกเทลล์ มอกเทลล์ และกาแฟเพื่อทำตลาด

 

เทรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำหรือปราศจากแอลกอฮอล์ (Low-ABV & Non-Alcoholic Cocktails) กระแสการให้ความสำคัญกับสุขภาพทำให้ผู้บริโภคบางส่วนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ลง ทำให้เครื่องดื่มประเภทคอกเทลล์หรือมอกเทลล์ได้รับความนิยมมากขึ้น

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในสินค้าปัจจัยพื้นฐานที่เป็นที่ต้องการบริโภคทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการบริโภคภายในประเทศเป็นมูลค่ากว่าสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้สหรัฐฯ จะมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 4.47 เหลือมูลค่าทั้งสิ้น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมา จากปริมาณสินค้าคงคลังที่ยังคงเหลืออยู่ในตลาดค่อนข้างมากในช่วงต้นปีจากการดำเนินนโยบายเพิ่มสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการในปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณความต้องการนำเข้าลดลง ประกอบกับแนวโน้มการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มผู้บริโภคเองจากปัจจัยด้านความ ผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่โดยรวมหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะคงทรงตัวในช่วงครึ่งปีหลังและจะมีความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีและน่าจะช่วยให้ไทยสามารถรักษามูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในตลาดได้ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ จากแนวโน้มความนิยมบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาปรับตัวพัฒนาสินค้าให้ตรงกับกระแสนิยมและความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชซึ่งเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยเองก็มีความได้เปรียบในด้านของวัตถุดิบการผลิตที่สามารถหาได้ง่ายภายในประเทศ เช่น ถั่ว เห็ด และเนื้อขนุน เป็นต้น ซึ่งน่าจะยังเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพเหมาะแก่การทำตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ในด้านการพัฒนาสินค้า แม้ว่าผู้บริโภคในตลาดจะสนใจเลือกบริโภคสินค้าอาหารโปรตีนจากพืชที่มีเนื้อสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์ก็ตาม แต่ผู้บริโภคในตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาเลือกใช้สารปรุงแต่ง สี กลิ่น รส ที่ผลิตจากธรรมชาติและมีความปลอดภัยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคในระยะยาว นอกจากนี้ การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ เป็นส่วนประกอบสินค้าทั้งสมุนไพรไทยและธัญพืชต่างๆ ก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยการให้ความสำคัญกับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ หลายแห่งเองที่ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากโฟมและพลาสติกที่จะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งเสริมการส่งอออกสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ของไทยด้วย แม้ว่าสินค้าจากจีนจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดเนื่องจากมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ามาก แต่ด้วยปัจจัยด้านความกังวลของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าจีนเอง ประกอบกับการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ โดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารจากจีนเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 25 ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาด

ที่มา: Hospitalitynet

 

******************************

 

Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Chicago

en_USEnglish