อาหารและการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก รัฐบาลสวิสจึงเสนอแผนเพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ประโยคที่ว่า “ประชาชนบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สมดุลพอเพียง เป็นมิตรกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม“ เป็นประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ และนี่คือเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์ภูมิอากาศเพื่ออาหารและการเกษตร ที่รัฐบาลนำเสนอเมื่อไม่นานมานี้ นาย Christian Hofer ผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรของสวิตเซอร์แลนด์ (BLW) กล่าวว่า ทั้งสองภาคส่วน คือ อาหารและการเกษตรต้องช่วยกันผลักดันให้เป้าหมายบรรลุ เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ประชาชนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค ส่วนภาคการเกษตรก็จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิต
นาย Michael Beer จากสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารและสัตวแพทย์ กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อน มีคำแนะนำทางโภชนาการว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ นั้นมีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งถ้าเราทุกคนทำตามคำแนะนำทางโภชนาการนี้ ไม่พียงแต่จะทำให้เราสุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ยังเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการรับประทานอาหารลงครึ่งหนึ่งอีกด้วย
ทั้งนี้ อาหารมีบทบาทสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างมาก ภาคการผลิตสินค้าจากการเกษตรในประเทศมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 16 ซึ่งหากนับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศหรือการนำเข้าอาหารสัตว์รวมด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ในภาคการเกษตรมีการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภาวะเรือนกระจกได้ดี ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซในธรรมชาติที่เกิดจากย่อยสลายของของเสียต่างๆ การกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ การเผาไม้เชื้อเพลิง ในการทำเกษตรกรรม การหมักมูลสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มปศุสัตว์ทั้งหลาย ส่วนก๊าซไนตรัสออกไซด์ มีแหล่งกำเนิดจากแบคทีเรียต่างๆ รวมถึงการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ รวมถึงการเผาเศษวัสดุและเชื้อเพลิงต่างๆ หรือการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนในภาคการเกษตร เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมหลักของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ความเชื่อมโยงเหล่านี้จึงอธิบายได้ว่าทำไม จึงควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
รัฐบาลสวิสออกกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศโดยมีเป้าหมายหลัก ประการแรก ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคต่อหัวควรจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 66 ภายในปี 2050 จากรายงานพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ชีส หรือเนย นั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช เกือบหนึ่งในห้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเกิดจากการเตรียมพื้นที่สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ ประการ ที่สอง ภาคเกษตรกรรมของสวิส ควรดำเนินการในภาคส่วนของตน รวมทั้งผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนนี้ต้องลดลงร้อยละ 40 ประการที่สาม เกษตรกร ชาวสวิสต้องลดการทำลายระบบนิเวศลง
เมื่อกลยุทธ์นี้นำมาใช้ได้จริง รูปแบบการเกษตรและการบริโภคในสวิตเซอร์แลนด์จะเปลี่ยนไป จำนวนสัตว์เลี้ยงปศุสัตว์จะลดลง พื้นที่ในการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ก็จะเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรใช้พื้นที่กว่า ร้อยละ 60 ในการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีมากถ้ากระบวนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารแบบยั่งยืนจากต่างประเทศง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้สินค้าออร์แกนิกที่นำเข้าจากเยอรมนีอาจมีราคาถูกกว่าสินค้าทั่วไปในสวิตเซอร์แลนด์
นาย Hofer ผู้อำนวยการ BLW กล่าวว่า เป้าหมายของกลยุทธ์นี้อาจดูยิ่งใหญ่ แต่รัฐก็ไม่ได้บังคับหรือสั่งให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคล และรัฐต้องการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ที่มา: Neue Zürcher Zeitung