แนวโน้มการบริโภคขนมขบเคี้ยวของกลุ่ม Gen Z

กลุ่ม Generation Z หรือ Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นที่อายุไม่ถึง 25 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังและมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอาหารในการขับเคลื่อนเทรนด์ของตลาดสหรัฐอเมริกา

แบรนด์ขนมขบเคี้ยวจึงต้องวางแผนปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่ม Gen Z ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจได้ จากแบบสำรวจของ Segmana ระบุแนวโน้มความนิยมขนมขบเคี้ยวของกลุ่ม Gen Z หรือผู้บริโภคอายุระหว่าง 13-24 ปี ในสหรัฐอเมริกา ไว้ดังนี้

1) ขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากผักและผลไม้ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งส่งต่อดีต่อสุขภาพและมีความอร่อยจากธรรมชาติ ขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากผักและผลไม้อบกรอบ ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 2 รองลงมาจากมันฝรั่งทอดกรอบที่เป็นอันดับ 1 โดย Gen Z ส่วนใหญ่ 57.3% เลือกขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากผักและผลไม้อบแห้งเป็นของว่างที่รับประทานประจำหรือเป็นครั้งคราว ส่วนลำดับที่ 3 คือ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส และไอศกรีม

2) แบรนด์ขนมที่เป็นที่ยอดนิยมของชาว Gen Z ได้แก่ Lay’s (มันฝรั่งทอดกรอบ) Cheez-Its (แครกเกอร์) Kit-Kats (ช็อกโกแลต) Nature Valley (สแน็คบาร์) Oreo (คุกกี้) Sour Patch Kids (ลูกอม) และ Little Debbie (ขนมเค้ก) โดยรวมแล้วกลุ่ม Gen Z จะชื่นชอบขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติเค็มมากที่สุด

3) มันฝรั่งทอด หากให้กลุ่ม Gen Z บอกชื่อของอาหารว่างทานเล่นที่นึกถึงเป็นอย่างแรก คำตอบที่จะได้ยินบ่อยที่สุดก็คือ “มันฝรั่งทอด” มากกว่าอาหาร อาจเป็นเพราะรสชาติของมันฝรั่งทอดที่เป็นเอกลักษณ์และความสดกรอบ ทำให้มันฝรั่งทอดน่ารับประทานและเป็นขนบขบเคี้ยวทานเล่นยอดนิยม

4) Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมรับประทานขนมขบเคี้ยวหรือของว่างทานเล่นแทนอาหารมื้อหลัก โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถรับประทานอาหารว่างอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันแทนอาหารมื้อหลัก อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า Gen Z วัยทำงาน ยังคงรับประทานอาหารเป็นมื้อหลัก หากเปรียบเทียบกับกลุ่ม Gen Z ที่ว่างงาน จะชอบรับประทานของว่างหรือขนมขบเคี้ยวทานเล่นที่ราคาไม่แพงทดแทนมื้ออาหารหลัก

5)  กลุ่มผู้หญิง Gen Z จะรับประทานตามอารมณ์ (Emotional Eating) คือ การกินอาหารที่ไม่ได้เกิดจากความหิว แต่เกิดจากอารมณ์โกรธ เบื่อ เหงา เศร้า หรือเครียด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้หญิงอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่า ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของผู้หญิงกลุ่ม Gen Z ที่ชอบรับประทานอาหารว่างตามอารมณ์ โดยพบว่า 41.9% ของผู้หญิงอายุ 18 ปีและต่ำกว่า มักนิยมรับประทานอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยวเพื่อช่วยจัดการอารมณ์ความวิตกกังวล ความเครียด และความเศร้าได้ (เทียบกับผู้ชายในวัยเดียวกัน 31.1% และ 36.2% ของผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปี)

6) จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 4 ของ Gen Z ให้ความใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ซึ่งแบรนด์ขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นยังมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเลือกที่สำคัญของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ซึ่งพบว่ากลุ่ม Gen Z ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมยังให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพเป็นหลัก มากกว่ากลุ่ม Gen Z ที่ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถึง 2.1 เท่า

7) กลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 22-24 ปี 21% รับประทานของว่างหรือขนบขบเคี้ยวเนื่องจากความหิว 43% เลือกรับประทานเพราะความสะดวก และ 14% เลือกรับประทานเพื่อเพิ่มพลังงานแคลอรี่ในชีวิตประจำวัน กล่าวโดยสรุปก็คือ คน Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 22-24 ปี รับประทานของว่างหรือขนมขบเคี้ยวเนื่องจากความหิว ความสะดวกสบายและต้องการเพิ่มพลังงาน

8) การสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาว Gen Z ที่ชอบรับประทานอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยวที่มีรสหวานจัดและรสเค็มจัดนั้นส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีต่อมรับรสดี แบรนด์ขนมทานเล่นอย่าง Lay’s และ Skittles เป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของขนมที่มีรสชาติเข้มข้น โดยผู้บริโภค Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับ Gen Z ในวัยอื่นแล้ว มีแนวโน้มที่จะทานอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยวมากกว่า 1.9 เท่า และชอบรับประทานมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอาหาร

9) วิดีโอแสดงการทำอาหาร DIY (ทำอาหารด้วยตนเอง) ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่ผู้หญิง Gen Z

โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายละตินอเมริกาหรือฮิสแปนิก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชม Gen Z โดยรวม ผู้หญิงเชื้อสายละตินอเมริกาหรือฮิสแปนิกฮิสแปนิกซึ่งมีสัดส่วนเป็น 35% ของผู้ชมกลุ่ม Gen Z เพศหญิงทั้งหมด พบว่ามีแนวโน้มที่จะดูวิดีโอทำอาหารเป็นประจำมากกว่าผู้ชมกลุ่ม Gen Z เชื้อชาติอื่น ซึ่งเป็นโอกาสดีของแบรนด์ในการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์โดยการนำเสนอคลิปทำอาหารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้

10) จากการสำรวจของบริษัท Segmana กับกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาจำนวน 632 คน เกี่ยวกับ

ความรู้สึก (sentiment) ที่มีต่อแบรนด์ขนมจำนวน 80 แบรนด์ พบว่าความชื่นชอบต่อแบรนด์ขนมของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มีความสัมพันธ์กัน อาทิ ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่ชื่นชอบแบรนด์ Kellogg’s มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Dove มากถึง 68% ผู้บริโภคที่ชื่นชอบแบรนด์ขนมขบเคี้ยวอย่าง KEHLE มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Cape Cod มากถึง 1.2 เท่า และผู้บริโภคที่ชื่นชอบรับประทาน โนล่าบาร์ (Granola Bar) ของแบรนด์ Quaker ก็มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบรับประทานขนมเค้กของแบรนด์  Sara Lee ซึ่งจากการสำรวจนี้ นับเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ในการวางแผนกลยุทธ์ร่วมมือกันทางการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค Gen Z เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

สำหรับกลุ่ม Gen Z ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกำลังมาแรง การใส่ใจสุขภาพและการออกกำลังกายกำลังกลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ กลุ่ม Gen Z ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากอาหารนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และ กลุ่ม Gen Z ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่ยังชอบรับประทานของว่างและขนมขบเคี้ยว โดยขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์กับสุขภาพน่าจะมีแนวโน้มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว ควรใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างเช่น ขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากผักและผลไม้อบกรอบหรืออบแห้ง เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของไทยประเภทผักและผลไม้อบกรอบอบแห้งยังมีช่องทางในการขยายสินค้ามายังสหรัฐอเมริกาได้ในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

https://segmanta.com/generation-z-snack-insights/

สคต. นิวยอร์ก พฤศจิกายน 2566

en_USEnglish