เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ในการประชุมเกี่ยวกับข้าวที่จัดขึ้นในจังหวัด Da Nang (จังหวัด ดานัง) นางสาว Nguyen Ngoc Nam ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: FVA) กล่าวว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพสูงมากกว่าเน้นปริมาณ โดยปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ระหว่าง 6.2 – 6.3 ล้านตันในช่วงปี 2562-2565

ในปี 2566 การส่งออกข้าวของเวียดนามทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่ประเทศเริ่มส่งออกข้าวในปี 2532 โดย สร้างรายได้ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 จากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม
กรมคุณภาพ แปรรูป และการพัฒนาตลาดของเวียดนาม (Department Of Quality, Processing And Market Development)
กล่าวว่า แบรนด์ข้าวของเวียดนามในปัจจุบันยังไม่ได้โดดเด่นมากนัก แม้เวียดนามติดอันดับต้นๆในด้านผลผลิตเพื่อการส่งออกข้าว

นาย Phung Van Thanh ผู้อํานวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าของเวียดนามในฟิลิปปินส์กล่าวว่า เมื่อก่อนผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์พูดถึงข้าวจะนึกถึงข้าวไทยและข้าวญี่ปุ่นแม้จะบริโภคข้าวเวียดนามก็ตาม จึงอยากให้เวียดนามมีการปรับตัวทางการตลาดโดยการสร้างแบรนด์ข้าวเวียดนาม “Made in Vietnam” ในการเข้าตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านขายส่ง และร้านขายปลีกในต่างประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ทวีปเอเชียเป็นตลาดหลักในการส่งออกข้าวของเวียดนาม โดยฟิลิปปินส์กลายเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม นับเป็นร้อยละ 34 (2.87 ล้านตัน) ของการส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2566 เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ข้าวของเวียดนามสามารถเพิ่มอัตราการส่งออกและมีส่วนแบ่งการตลาดที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่สุดขิ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ กลุ่มประเทศในยุโรป ประเทศในตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ได้กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวของเวียดนามรายใหม่

อย่างไรก็ตาม ข้าวของเวียดนามมีการส่งออกไปยัง 54 ประเทศทั่วโลกแต่ยังพบปัญหาในด้านการลดต้นทุนวัตถุดิบ อัตราส่วนการสูญเสียระหว่างการแปรรูปและการเก็บรักษา นโยบายการลงทุน การกู้ยืมจากธนาคารและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวที่ยังมีข้อจำกัด

นาย Le Anh Nam หัวหน้าแผนกส่งออกข้าวของบริษัท Tan Long กล่าวว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงตลาด และการผลิตข้าวระดับพรีเมี่ยมจะช่วยให้บริษัทในท้องถิ่นขยายมูลค่าเพิ่มและมีการเติบโตที่ยั่งยืน โดยบริษัท มีรายได้ประมาณ
120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการส่งออก 200,000 ตันในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300,000 ตันในปี 2567 และในปีนี้บริษัทได้ทุ่มเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อติดตั้งเครื่องสีข้าวอัตโนมัติเต็มรูปแบบจากยุโรป ความจุสูงสุด 240,000 ตัน ในโรงสีข้าว Hanh Phuc นอกจากนี้บริษัทยังใช้ระบบทำความเย็นเพื่อจัดเก็บเมล็ดพืชเพื่อการผลิตตลอดทั้งปี บริษัทจะดำเนินระบบโรงสีข้าว 60 แห่งทั่วประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายปี 2567 และวางแผนส่งออกข้าวพรีเมี่ยมจำนวน 1,500 ตันไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งราคาสูงกว่ามูลค่าส่งออกเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ข้าวอื่นๆ ถึง 50 เหรียญสหรัฐฯ

(จาก https://en.vietnamplus.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของการส่งออกข้าวทั่วโลก โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 45.43 ล้านไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 36.68 ตัน/ไร่ อย่างไรก็ดี การสร้างแบรนด์ข้าวของเวียดนามยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างๆทั่วโลก ผู้บริโภคในตลาดโลกยังขาดการรับรู้กับข้าวเวียดนามเท่าที่ควร ในปี 2566
ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (3.13 ล้านตัน) อินโดนีเซีย (1.16 ล้านตัน) และจีน (0.9 ล้านตัน)
ซึ่งตลาดดังกล่าวจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในเรื่องคุณภาพข้าว นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh ได้ออกคำสั่งให้ส่งเสริมการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพของเวียดนาม โดยผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกับผู้ปลูกข้าวเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ส่งเสริมผลประโยชน์ของเกษตรกร และรักษาชื่อเสียงของข้าวเวียดนาม โดยให้ดำเนินโครงการต่างๆในการค้าที่ส่งเสริมแบรนด์ข้าวเวียดนาม เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวและความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลไกพิเศษของเขตการค้าเสรี (Free trade agreement: FTA) ที่เวียดนามมีอยู่ การที่เวียดนามส่งเสริมการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพสูงรวมทั้งการสร้างแบรนด์ข้าวเวียดนามจะช่วยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในตลาดโลกซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยด้วยเช่นกัน

en_USEnglish