ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามาพร้อมกับยอดจำหน่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้าแบบขับเคลื่อนสองล้อที่ขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญในประเทศอินเดีย ส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจหลักสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยภายในปี 2027 อุตสาหกรรมการออกแบบและผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics System Design and Manufacturing: ESDM) คาดว่าจะบรรลุเป้ามูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี มูลค่าส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าแบบขับเคลื่อนสองล้อในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาจสามารถบรรลุมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้ภายในปี 2027 โดยคาดว่าจะมีรถขับเคลื่อนแบบสองล้อระบบไฟฟ้าจำนวน 2 ล้านคันภายในปีเดียวกัน จำนวนที่กล่าวถึงนี้ครอบคลุมถึงระบบการชาร์จแบตเตอรี่และส่วนประกอบของยานยนต์เชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกัน มูลค่าการจำหน่ายชุดอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EVs Kit มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ด้วยมูลค่าของชุดอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนสองล้อคาดว่าจะขยับตัวจาก 25,000 – 40,000 รูปีเป็น 50,000 รูปีในอีกสามปีข้างหน้า ทั้งนี้ ส่วนประกอบที่สำคัญที่มีส่วนผลักดันมูลค่าดังกล่าวได้แก่ ระบบการชาร์จแบตเตอรี่ และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของโรงงานที่รับผลิตสินค้าหรือ OEM ในยานยนต์ขับเคลื่อนสองล้อ สามล้อและรถบัส ทำให้มีการสร้างงานที่มุ่งเน้นความสำคัญกับโปรเจคอีวีโดยตรงและแยกออกจากฝ่ายที่ดูแลเรื่องระบบเครื่องยนต์สันดาป อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านจากการใช้ระบบเครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ระบบยานยนต์ไฟฟ้ามีการเร่งตัวสูงขึ้น ด้วยยอดจำหน่ายระบบยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนสองล้อสูงถึง 1 ล้านคันในปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้ 5% ของยานยนต์ขับเคลื่อนสองล้อได้ปรับเป็นระบบไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 10% ได้ภายในสามปี
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ภาคอุตสาหกรรมการออกแบบและผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ESDM) ในประเทศอินเดียเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดและกำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยระบบ ESDM ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ออฟฟิศออโตเมชั่น โทรคมนาคม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้สอยในครัวเรือน การบินอวกาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ พลังงานแสงอาทิตย์ นาโนอิเล็กทรอนิกส์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์
2. นโยบายสำคัญของภาครัฐที่สนับสนุนระบบ ESDM อาทิ Digital India, Make in India และนโยบายที่สนับสนุนอื่นๆรวมถึงนโยบายด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมด้านการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ทำให้กระบวนการสร้างหน่วยผลิตในประเทศอินเดียสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร้รอยต่อ
3. หากเปรียบเทียบขนาดของตลาดในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียในปีงบประมาณ 2019 มีมูลค่า 215 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตถึง 540 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้ภายในปีงบประมาณ 2025 โดยอัตราขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 16.6 ในขณะที่อุตสาหกรรม ESDM มูลค่าตลาดในปีงบประมาณ 2019 อยู่ที่ 90 พันล้าน เหรียญสหรัฐ คาดว่าจะสร้างมูลค่าบรรลุ 220 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปีงบประมาณ 2025 ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.1
4. ในปีงบประมาณ 2019 ตลาด ESDM สามารถจำแนกได้เป็น 1) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ครองสัดส่วนตลาด
ร้อยละ 78 และ 2) การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 22 โดยในปี 2019 มูลค่าทางการตลาดของระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีมูลค่าสูงถึง 70 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโต สร้างมูลค่าถึง 160 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้ภายในปีงบประมาณ 2025
ความท้าท้ายต่อผู้ประกอบการไทย
1. มีศักยภาพสูงที่จะเติบโต: การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าจะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นในการรองรับชิ้นส่วน EVs ภายในประเทศ โดยภาคธุรกิจ ESDM จะทำให้มีโอกาสเพิ่มสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องตามมา
2. ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์: ระบบ EVs มีความจำเป็นต้องพึ่งพาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก อาทิ ชาร์จเจอร์ ระบบการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ ส่งผลให้ความต้องการของส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นโอกาสแก่ผู้ส่งออกไทย
3. ภาวะการแข่งขันที่ตึงตัว: ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอินเดียดึงดูดผู้เล่นระดับโลกทำให้เกิดการแข่งขันของซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น
ข้อคิดเห็น
1. รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการออบแบบและผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ESDM) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศผ่านการเสนอสิทธิประโยชน์ในการลงทุน (Incentives) อาทิ เงินอุดหนุน (Capital Subsidy) เงินอุดหนุนดอกเบี้ย (Interest Subvention) เงินอุดหนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Subsidy) และการให้ความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินทางปัญญาและใบรับรองของบริษัท นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัท ESDM ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาการเข้ามาลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
2. ในปี 2565 ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย มีมูลค่าราว 1.49 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นชิ้นส่วนประเภท OEM หรือชิ้นส่วนฯที่ป้อนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์โดยตรง จะมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของมูลค่าตลาด และชิ้นส่วนฯ ประเภท REM หรือชิ้นส่วนฯ ประเภทอะไหล่ทดแทน มีสัดส่วนประมาณ 60-70% ของมูลค่าตลาด ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์เดิม การส่งเสริมเพื่อต่อยอดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และผลักดันให้กลายเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนที่สามารถใช้ร่วมกับยานยนต์ไฟฟ้าได้ ทั้งในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรม ESDM ให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดที่ยังคงความต้องการอย่างต่อเนื่องได้ในประเทศอินเดีย
ที่มา:
1. https://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/ev-component-of-esdm-business-is-a-multi-billion-opportunity-iesa-chairman/articleshow/108078480.cms
2. https://evcarsdekho.in/blog/the-electric-vehicle-revolution-a-multi-billion-opportunity-for-electronics/