สถานะตลาดกล้วยในญี่ปุ่น
สตท ณ เมืองฮิโรชิมา
กล้วยเป็นผลไม้ยอดนิยมที่มีการบริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.6 ของปริมาณการบริโภคผลไม้โดยรวมของญี่ปุ่น ตามด้วยแอปเปิ้ล(ร้อยละ 41.5) และส้ม(ร้อยละ 29.3)ผู้บริโภคร้อยละ 12 บริโภคกล้วยแทบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 35 รับประทานกล้วยสัปดาห์ละ 1-5 วัน นับเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มความต้องการที่สม่ำเสมอในญี่ปุ่น
แม้ว่าจะเป็นผลไม้ที่มีการบริโภคมากที่สุด แต่ผลผลิตกล้วยในญี่ปุ่นเองมีน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สามารถปลูกได้เพียงใน 2 จังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ คือ โอกินาวาและคาโงชิมา ญี่ปุ่นจึงต้องนำเข้ากล้วยถึงร้อยละ 99 ของความต้องการภายในประเทศ โดยสถิติล่าสุด คือ ในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.03 ล้านตัน โดยลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า ส่วนทางด้านมูลค่า เท่ากับ 1.34 แสนล้านเยน (ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 จากปีก่อนหน้า
ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยจากหลายประเทศ โดยในปี 2023 ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งครองตลาดนำเข้าอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 79.1 และ 79.5 ของปริมาณและมูลค่านำเข้ากล้วยโดยรวม ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ เอกวาดอร์(ร้อยละ 9.2 และ 8.6) เม็กซิโก(ร้อยละ 6.6 และ 6.7) กัวเตมาลา(ร้อยละ 1.7 และ 1.6) และเวียดนาม(ร้อยละ 1.6 และ1.5) ส่วนแหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เปรู ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย นอกจากนั้น ได้เริ่มมีการนำเข้าจากลาวตั้งแต่ปี 2021 แม้ว่าจะยังเป็นปริมาณน้อยมาก
แนวโน้มการนำเข้ากล้วยของญี่ปุ่น มีประเด็นซึ่งเป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแหล่งนำเข้า ดังนี้
- Taiwan ในปี 2010 เคยครองตำแหน่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับสาม รองจากฟิลิปปินส์และเอกวาดอร์ ปรากฎว่าการนำเข้าได้ลดลงเรื่อยมา จนปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 8 ของปริมาณนำเข้ารวม ทั้งนี้ ตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มนำเข้ากล้วยเมื่อปี 1949 ไต้หวันเป็นแหล่งนำเข้าแห่งเดียวมาโดยตลอด จนถึงประมาณต้นทศวรรษ 1960 ได้เริ่มมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์และเอกวาดอร์ และในปี 1963 เอกวาดอร์ได้แย่งชิงตำแหน่งแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่นไป จนกระทั่งในปี 1974 ปรากฏว่าฟิลิปปินส์ได้ขยับขึ้นเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งและครองตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผู้นำเข้าให้ความเห็นว่า กล้วยจากไต้หวันปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย ปริมาณการผลิตและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ราคาไม่สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับกล้วยจากฟิลิปปินส์ซึ่งมีการปลูกเป็น Plantation โดยบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ มีการควบคุมคุณภาพและมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ จึงมีความสามารถในการแข่งขันสูง จนสามารถแย่งชิงการเป็นแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่น
- อย่างไรก็ตาม แม้ว่าPhilippinesจะเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งตั้งแต่นั้นมา แต่พบว่าตั้งแต่ประมาณปี 2010 เป็นต้นมา การนำเข้าจากฟิลิปปินส์มีแนวโน้มลดลงเรื่อยมาตามลำดับ แม้ว่าจะยังคงการเป็นแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่นก็ตาม
- แหล่งนำเข้าที่กำลังถูกจับตามอง คือ Vietnam ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่เริ่มมีการนำเข้าเมื่อปี 2015 ผู้นำเข้าให้ความเห็นว่ากล้วยจากเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคว่ามีรสชาติดี แม้ว่าปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าเพียงร้อยละ 6 แต่คาดการว่ากล้วยจากเวียดนามจะยังคงขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อไป
- สำหรับการนำเข้าจากไทย มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเป็นปริมาณ 1,345 ตัน มูลค่า 201 ล้านเยน (ประมาณ 57 ล้านบาท) โดยเป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง (Gros Michel) ทั้งนี้ แม้ว่าไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้มาตรการโควตาภาษี(Tariff Quota) ของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยมีอัตราภาษีเป็นศูนย์ภายในจำนวนโควตา 8,000 ตันต่อปี แต่ไทยยังไม่สามารถส่งออกถึงปริมาณดังกล่าวไปยังตลาดญี่ปุ่นได้
การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วย
แม้ว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่มีความนิยมสูง แต่การที่จะขยายปริมาณความต้องการให้เพิ่มยิ่งขึ้นด้วยการส่งเสริมการบริโภคกล้วยเป็นผลไม้สดอาจคาดหวังไม่ได้มากนัก ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นจึงพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กล้วย โดยการพัฒนาสินค้าใหม่ต่างๆที่ทำจากกล้วย อาทิบริษัท Grapestone Co.,Ltd (https://www.grapestone.co.jp/company/index.html) ผู้ผลิต Tokyo Banana (ขนมหวานประเภทสปันจ์เค็ก (Sponge cakes) ซึ่งมีไส้เป็นคัสตาร์ดครีมกล้วย ซึ่งเริ่มออกจำหน่ายตั้งแต่เมื่อปี 1991 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากทั้งผู้บริโภคญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ) ได้พัฒนาเครื่องดื่มจากกล้วยเรียกชื่อว่า Banana Milk โดยวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อตั้งแต่เมื่อปี 2021 ปัจจุบันได้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมอีกรายการหนึ่งของ บริษัทฯ โดยมีรสชาติเข้มข้นเหมือนกับรับประทานกล้วยสด พร้อมรสหวานมันของไวท์ช็อกโกแลต(White Chocolate)
บริษัท Beasia (https://www.beisia.co.jp/) ก็ได้ผลิตจำหน่าย Banana Milk เช่น เดียวกัน แต่ใช้วัตถุดิบเป็นกล้วยหอมทองของไทย โดยใช้กล้วยที่ตกเกรด เช่น ขนาดหรือรูปร่างไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ มาแปรรูป จึงเป็นการช่วยลดการทิ้งผลผลิตการเกษตรโดยเปล่าประโยชน์
บริษัท Kumamotoseikabutsu Shukkakumiai (http://www.kumamoto-s.co.jp/) ซึ่งเป็นบริษัทสหกรณ์การเกษตรตั้งอยู่ในจังหวัดคูมาโมโต ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ใช้เปลือกและใบตองของกล้วยออร์แกนิคซึ่งเป็นผลผลิตในท้องถิ่นสกัดทำเป็นอาหารเสริมแบบเม็ด โดยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (https://yacchirobanana.com) อาหารเสริมนี้สกัดจากใบตองและเปลือกกล้วยซึ่งมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทั้งเส้นใย วิตามินบี 2 และบี 6 ซึ่งมีปริมาณมากกว่า Aojiru (Green juice อาหารเสริมประเภทหนึ่งสกัดจากพืชใบเขียวต่างๆ) ถึงสองเท่า มีคุณสมบัติช่วยชะลอวัย ป้องกันโรคหวัด และยังสามารถลดระดับคอเรสเตอรอลได้อีกด้วย อีกทั้งเป็นผลผลิตออร์แกนิคทำให้ไร้ความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีและยาฆ่าแมลง
นอกจากผลิตภัณฑ์ประเภทขนมและเครื่องดื่มแล้ว ยังมีการพัฒนาใช้ส่วนของต้นกล้วยผลิตเป็นกระดาษอีกด้วย บริษัท One Planet Café (https://oneplanetcafe.com/vision_mission/) ได้ใช้เยื่อต้นกล้วยนำมาแปรรูปผลิตเป็นกระดาษและผลิตภัณฑ์ทำด้วยกระดาษหลากหลายประเภท เช่น สมุด กล่อง/บรรจุภัณฑ์ ดินสอ ปฎิทิน ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ Banana & Planet (https://oneplanetcafe.com/paper/) โดยบริษัทฯได้ไป บุกเบิกแหล่งปลูกกล้วยในประเทศแซมเบีย (Zambia) และใช้วัตถุดิบ ทั้งหมดของท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จากกล้วยดังกล่าวได้รับเครื่องหมายรับรองจาก FSC (Forest Stewardship Council) ด้วย
บทสรุปและข้อคิดเห็น
กล้วยเป็นผลไม้ยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่นจึงมีความต้องการที่สม่ำเสมอ โดยที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพี่งพาการนำเข้ากล้วย ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับประเทศผู้ส่งออกกล้วย อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการนำเข้าตลอดระยะที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง มีการแย่งชิงการเป็นแหล่งนำเข้าหลักกันเรื่อยมา ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกล้วยในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ ความสม่ำเสมอของอุปทาน(Supply)และคุณภาพ ราคาที่แข่งขันได้ และการมีระบบการขนส่งและกระจายสินค้าซึ่งมีประสิทธิภาพที่สามารถคงความสดของกล้วยตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงร้านค้าปลีก กล้วยหอมทองของไทยได้เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดผู้บริโภคญี่ปุ่นแล้วในระดับหนึ่ง หากมีความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพก็จะยิ่งมีโอกาส และหากเป็นกล้วยออร์แกนิคก็จะยิ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคญี่ปุ่นมากขึ้น นอกจากนั้น การวิจัยพัฒนาสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้กล้วยและส่วนต่างๆของต้นกล้วยเป็นวัตถุดิบ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าและน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีโอกาสในการเปิดตลาดในญี่ปุ่น
เมษายน 2567