กองทุนการเงินอาหรับ (AMF) คาดเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี2568 จะเติบโต 6.2 %

จากข้อมูลของกองทุนการเงินอาหรับ(Arab Monetary Fund (AMF ) ระบุเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตอย่างมีพลวัตของภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน นโยบายสาธารณะที่มั่นคงสอดคล้องกับแนวทางที่ตั้งไว้ และนโยบายการเงินที่เข้มแข็ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจ ปี 2567 จะเติบโตร้อยละ 3.9  และเพิ่มเป็นร้อยละ 6.2 ภายในปี 2568

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจอาหรับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา AMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเออีมาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมภาคการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การค้าระหว่างประเทศ การใช้จ่ายเงินลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ต่อประเทศ   ในระยะยาวที่เพิ่มขึ้น และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ของยูเออี

การสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือในสายตานานาประเทศทั่วโลกก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการพลิกโฉมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินโลก นอกจากนั้นยังลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ยูเออีกลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุนอุตสาหกรรมและนวัตกรรม

รายงานกล่าวว่ายูเออีเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในปี พ.ศ. 2565 ถึงร้อยละ 7.5 เนื่องจากรัฐบาลยูเออีได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องหลายมาตรการ   อย่างเป็นรูปธรรม ทางการยูเออีสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เป็นประเทศแรกๆ ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ผ่อนปรนเอกชนให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบปกติ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลดูไบเริ่มจัดงานแสดงนิทรรศการระดับโลก World Expo ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

เศรษฐกิจอาหรับในภาพรวม

รายงานประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาหรับ ปี 2567 คาดขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 และคาดว่าปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 4.5  ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด นอกจากนี้เสถียรภาพของราคาน้ำมันในระดับที่ค่อนข้างสูง และเสถียรภาพของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนประเทศกลุ่ม GCC ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวกในปี 2567 และ 2568  โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC รายประเทศ ในระหว่างปี 2567-2568 ที่ AMF คาดการณ์ไว้ดังนี้

 

         ประเทศ     ปี 2567   ปี 2568
•          ซาอุดิอาระเบีย 4 .4 % 5.7 %
•     United Arab Emirates 3 .9 % 6.2   %
•          Qatar 1 .8 % 3.1 %
•          คูเวต 2 .7 % 3.0   %
•          โอมาน 2 .7 % 2.7 %
•          บาห์เรน 3 .5 % 3.2   %

ที่มา : กองทุนการเงินอาหรับ(Arab Monetary Fund (AMF )

การค้าระหว่าง GCC กับไทย

ประเทศหลักที่ไทยส่งออกไป GCC ได้แก่ ยูเออี (สัดส่วน 45.0%) ซาอุดิอาระเบีย (37.2%) กาตาร์ (5.8%) คูเวต(5.0%) โอมาน(4.9%) และบาห์เรน (2.1%)

การส่งออกจากไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2567 มูลค่า 3,831  ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 6.2% การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง สอดคล้องกับกองทุนการเงินอาหรับ  (AMF ) ที่มีมุมมองว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน  GCC มีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น  สินค้าที่ไทยส่งออกมาก 10 อันดับแรก คือ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง  ปลากระป๋อง เครื่องปรับอากาศ  เครื่องคอมพิวเตอร์     เครื่องจักรกล โทรศัพท์มือถือ  และตู้เย็น/ตู้แช่

การนำเข้าของไทยจาก GCC ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 มีมูลค่า 13,675 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.2% สินค้าหลักที่นำเข้า คือน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมเชาติ น้ำมันสำเร็จรูป (คิดเป็นสัดส่วน 89%) ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ และเศษโลหะ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลกลุ่ม GCC เริ่มหันมาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆมากขึ้น โดยเฉพาะปิโตรเคมีขั้นปลาย ซึ่งหลายประเทศมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวจะช่วยรักษา Margin และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่าการส่งออกแต่เพียงน้ำมันดิบเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมพลาสติก

————————————————————-

 

en_USEnglish