หากจะกล่าวถึงงานแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของอิตาลี คงต้องยกให้งานแสดงสินค้า Vicenzaoro ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีจากทั่วโลกรู้จัก โดยเป็นงานที่มีความสำคัญ 1 ใน 3 ของโลก และอันดับ 1 ในยุโรป โดยมีบริษัท Italian Exhibition Group (IEG) เป็นผู้จัดงาน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ณ ศูนย์แสดงสินค้า Vicenza เมืองวีเชนซา ประเทศอิตาลี บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ภายในงานจัดแสดงสินค้าทองรูปพรรณ อัญมณี พลอย มุก หินและเครื่องประดับ บรรจุภัณฑ์ นาฬิกา และเครื่องจักร โดยทุก ๆ ปีจะมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเวทีที่รวมผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดห่วงโซ่การผลิตจากทั่วโลก โดยมีสินค้าตั้งแต่ High-end แฟชั่น สินค้าแบรนด์น้องใหม่ที่มีศักยภาพ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงเครื่องจักรที่ทันสมัย
สำหรับการจัดงาน Vicenzaoro 2024 (กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2567) ครบรอบ 70 ปี ได้รับผลตอบรับดีเกิดคาด โดยมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับงานเดือนกันยายน 2566 โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานจาก 132 ประเทศ ซึ่งจากยุโรป เพิ่มขึ้นถึง 63.37% (เทียบกับ 52% ในเดือนกันยายน 2566) โดยเฉพาะผู้เข้าเยี่ยมชมงานจากสเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี และจากเอเชียและตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นเป็น 21% (เทียบกับ 17% ในปี 2566) โดย Mr. Corrado Peraboni ผู้บริหาร Italian Exhibition Group เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด (หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19) ส่งผลให้งานแสดงสินค้า Vicenzaoro กลับเข้าสู่สภาวะปกติ อันมีผลมาจากกลยุทธ์ของผู้จัดงาน ที่มุ่งเน้นคุณภาพของผู้เข้าเยี่ยมชมงานมากขึ้น โดยมีสำนักงานพาณิชย์อิตาเลียน (ICE Agency) เป็นผู้ดูแลและเชิญชวนผู้ซื้อจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน
โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้ามากกว่า 1,200 แบรนด์ โดยร้อยละ 40 มาจากต่างประเทศ 35 ประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความสามารถในการนำเสนอสินค้าและเทรนด์ที่ยอดเยี่ยม และมีจำนวนผู้ซื้อมากกว่า 450 ราย จาก 60 ประเทศ โดยการดูแลของสำนักงานพาณิชย์อิตาเลียน (ICE Agency) กระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สเปน และฝรั่งเศส Mr. Maurizio Ermeti ประธาน Italian Exhibition Group มีแผนสำหรับการพัฒนาพื้นที่จัดแสดงงานใหม่ และเชื่อว่าวิสัยทัศน์จะต้องทำให้กลายเป็นจริง ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณที่ทำให้งานแสดงสินค้า Vicenzaora เป็นงานที่จัดมายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดย IEG เชื่อมั่นในการจัดงาน Vicenzaoro และมีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ โดยมีโครงการในการพัฒนางานแสดงสินค้าด้วยเงินทุนมูลค่า 60 ล้านยูโร IEG ได้เผชิญกับความท้าทายในอดีตที่ผ่านมา เพื่อสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมทองคำและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญของการผลิตในอิตาลี (Made in Italy)
โดยในพิธีเปิดงาน Vicenzaoro 2024 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 จัดทำโดยสมาคมอุตสาหกรรมทองคำของอิตาลี (Club degli Orafi Italia) และธนาคาร Intesa Sanpaolo คาดว่า ปี 2567 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทองคำ จะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น (+28% จากผลสำรวจเดือนธันวาคม 2566) ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันกับสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) ที่แสดงข้อมูลว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2567 ผลประกอบการของภาคอุตสาหกรรมทองคำ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +4% ในขณะที่ ผลประกอบการของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ลดลง -8% โดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า 29% ของผู้ประกอบการที่ถูกสำรวจความคิดเห็น มีความเห็นว่าการลงทุนมีแนวโน้มที่เป็นบวก อันมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และการลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดความกังวลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของหนี้และต้นทุนพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจของ Intesa Sanpaolo เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องความยั่งยืนซึ่งเจาะลึกเกี่ยวกับมาตรการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินการของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG – Environment, Social และ Governance) โดยรับประกันการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบ และปรับปรุงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม โดยการปฏิบัติการที่แพร่หลายที่สุดในขณะนี้ คือ การแยกขยะของกระบวนการผลิตและการตลาด (77% สำหรับบริษัทผู้ผลิต และ 95% สำหรับบริษัทด้านการตลาด) โดยในจำนวนของบริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการลดปริมาณของการใช้บรรจุภัณฑ์ (59%) ลดการใช้วัสดุที่เป็นอันตราย (55%) และเพิ่มเอกสารการรับรองเฉพาะทาง (55%) โดยเฉพาะเอกสารการรับรองของสภาอัญมณีที่รับผิดชอบ (RJC – Responsible Jewellery Council)
สำหรับเทรนด์สินค้าเครื่องประดับและอัญมณีของฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2024-25 ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เกี่ยวกับมรดกทางประวัติศาสตร์และนวัตกรรมร่วมสมัย โดยผู้บริโภคมีความต้องการที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจระหว่างการย้อนยุค (วินเทจ) และความก้าวหน้าที่ทันสมัย โดยศูนย์วิจัยของ IEG ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์สินค้าเครื่องประดับและอัญมณี 4 เทรนด์ ได้แก่ 1) Boldness เป็นเทรนด์ของการกลับเข้าสู่ความสุนทรีย์แห่งยุค 70 และ 80 ด้วยการใช้โลหะเรียบและโค้งมน ไปจนถึงทรงกลมสีทองที่มีผิวมันแวววาว พร้อมด้วยทรงหลังเตาและหินสังเคราะห์ 2) X-Treme Décor เป็นเทรนด์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งและความหรูหราจากในอดีต ในความทรงจำของยุควิกตอเรียนหรือแม้แต่ยุคจอร์เจียน 3) Superstyling เป็นเทรนด์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก บนท้องถนน และโซเชียลมีเดีย และ 4) Graphique เป็นเทรนด์ของการเฉลิมฉลองให้กับการออกแบบที่หรูหราผ่านเส้นสายที่เรียบง่ายและวัสดุน้ำหนักเบา คุณสมบัติที่โดดเด่น เช่น เกลียวและรูปทรงตัว V ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกันของนักออกแบบที่เปลี่ยนความเรียบง่ายให้กลายเป็นความหรูหรา
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. จากผลของการจัดงาน Vicenzaoro 2024 แสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของอิตาลีได้กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ผู้จัดงานมีแผนขยายและพัฒนาพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าดังกล่าว ให้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมแสดงสินค้า จำนวน 54 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าร่วมงานอยู่เป็นประจำทุกปี โดยผู้ประกอบการไทยให้ข้อมูลว่า การจัดงานในครั้งนี้ถึงแม้จะมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก แต่กลับพบว่าการเจรจาการค้าค่อนข้างซบเซา ผู้ซื้อส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศในยุโรปยังคงไม่ทำการสั่งซื้อสินค้าทันทีภายในงาน ซึ่งสัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในยุโรปลด/ชะลอการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน การปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังคงมองว่า งาน Vicenzaoro ยังคงเป็นแฟลตฟอร์มที่สำคัญในการพบปะเจรจาการค้าร่วมกับผู้ซื้อในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก
2. จากข้อมูล Global Trade Atlas พบว่า ถึงแม้ปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) แนวโน้มการส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี (HS Code 71) ของโลก มีการชะลอตัวเล็กน้อย -0.73% หรือคิดเป็น มูลค่า 644,941.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับพบว่าประเทศส่งออกสำคัญของสินค้าดังกล่าว ยังคงมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 69,522.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+1.09%) ฮ่องกง มูลค่า 45,563.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(+12.06%) แคนาดา มูลค่า 15,148.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+7.59%) เยอรมนี มูลค่า 13,366.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+16.01%) อิตาลี มูลค่า 12,042.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+14.42%) เป็นต้น โดยพบว่าสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่อิตาลีส่งออกไปทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สินค้าเครื่องประดับและส่วนประกอบ (HS code 7113) มูลค่า 7,804.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+39.82%) และอันดับ 2 คือ สินค้าทองคำ (HS Code 7108) มูลค่า 2,033.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+20.25%) โดยไทยส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี (HS Code 71) ของโลก มีมูลค่า 7,477.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+2.62%) สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับต้น ๆ ได้แก่ สินค้าทองคำ (HS Code 7108) มูลค่า 2,979.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.94%) และสินค้าเครื่องประดับและส่วนประกอบ (HS code 7113) มูลค่า 2,233.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+9.13%) จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มด้านการค้าของภาคอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกยังคงมีทิศทางที่สดใส เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญของสินค้าดังกล่าวที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. งาน Bangkok Gems and Jewelry จัดขึ้นในช่วงที่ใกล้เคียงกับงานแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นงาน Jewellery & Gem World Hong Kong ณ ฮ่องกง และงาน Vicenzaoro ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งส่งผลสำคัญต่อนักธุรกิจต่างชาติ ในการพิจารณาเลือกเดินทางเข้าชมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ไทยควรดำเนินการประชาสัมพันธ์งาน Bangkok Gems and Jewelry และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจต่างชาติในวงกว้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งออกสินค้ามายังต่างประเทศ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับต้น ๆ มายังอิตาลี โดยปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังอิตาลีมีมูลค่า 151.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.37% คิดเป็นสัดส่วน 11.93% ของสินค้าที่ไทยส่งมายังอิตาลีทั้งหมด ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ต้องการขยายการส่งออกมายังตลาดอิตาลีและยุโรป ควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภค และแนวโน้มการดำเนินการของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดอิตาลีและยุโรปอย่างแท้จริง
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.vicenzaoro.com/it/media-room
2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
3. Global Trade Atlas
4. รูปภาพประกอบจากงาน Vicenzaoro 2024
Department of International Trade Promotion (Headquarter)
563 Nonthaburi Road, Bang Kra Sor, Amphur Muang, Nonthaburi 11000, Thailand
Phone: +66 2507 7999
Email: saraban@ditp.go.th
User Online : 1 | Visitors : 6269153
Copyright © 2023
Department of International Trade Promotion