1. ภาพรวมอุตสาหกรรม

ข้อมูลจาก Statista พบว่าตลาดเสื้อผ้าสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567 มีมูลค่า 53,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2567-2571 น่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 1.78%  ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าสำหรับเด็กที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเลือกแฟชั่นที่มีจริยธรรมและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเภทของเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ เรียงลำดับตามมูลค่าการจำหน่ายในปี 2567 สามารถแบ่งได้ ดังนี้ เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็ก เสื้อผ้าเด็กอ่อน กางเกงสำหรับเด็ก เสื้อยืดแขนยาวสำหรับเด็ก เครื่องประดับและตกแต่งสำหรับเด็ก เสื้อสำหรับเด็ก ชุดนอนสำหรับเด็ก เสื้อเชิ้ตสำหรับเด็ก ชุดและกระโปรงสำหรับเด็ก เสื้อหนาวสำหรับเด็ก

ถุงเท้าสำหรับเด็ก เสื้อเบเซอร์สำหรับเด็ก เสื้อสูทเข้าชุดสำหรับเด็กและกางเกงรัดรูปสำหรับเด็ก ตามลำดับ

มูลค่าเสื้อผ้าเด็กในตลาดสหรัฐฯ (พันล้านเหรียญสหรัฐ)

ประเภทเสื้อผ้า 2566 2567 2568 2569 2570 2571
เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็ก 12.60 13.12 13.62 14.10 14.57 15.03
เสื้อผ้าเด็กอ่อน 8.12 8.15 8.17 8.20 8.23 8.42
กางเกงสำหรับเด็ก 7.63 7.68 7.73 7.77 7.82 8.12
เสื้อยืดแขนยาวสำหรับเด็ก 5.19 5.21 5.22 5.24 5.25 5.38
เครื่องประดับและตกแต่งสำหรับเด็ก 4.02 4.16 4.30 4.43 4.54 4.64
เสื้อสำหรับเด็ก 3.72 3.70 3.69 3.69 3.68 3.73
ชุดนอนสำหรับเด็ก 3.38 3.45 3.52 3.59 3.65 3.72
เสื้อเชิ้ตสำหรับเด็ก 2.21 2.30 2.38 2.46 2.53 2.65
ชุดและกะโปรงสำหรับเด็ก 2.13 2.12 2.11 2.10 2.09 2.13
เสื้อหนาวสำหรับเด็ก 1.85 1.85 1.85 1.85 1.85 1.88
ถุงเท้าสำหรับเด็ก 0.91 0.92 0.93 0.94 0.96 0.99
เสื้อเบเซอร์สำหรับเด็ก 0.77 0.75 0.73 0.71 0.69 0.68
เสื้อสูทเข้าชุดสำหรับเด็ก 0.30 0.29 0.28 0.27 0.26 0.26
กางเกงรัดรูปสำหรับเด็ก 0.10 0.09 0.09 0.09 0.09 0.09
รวม 52.91 53.78 54.62 55.43 56.22 57.71
  1. ช่องทางการจัดจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ

2.1.ช่องทางออฟไลน์

2.1.1.ห้างสรรพสินค้า: ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมเช่น Macy’s, JCPenney และ Kohl’s ยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเสื้อผ้าเด็ก โดยอาศัยจุดเด่นในเรื่องความหลากหลายของแบรนด์และสินค้า ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตรงตามความต้องการในคราวเดียว

2.1.2.ร้านค้าเฉพาะทาง: ร้านค้าปลีกที่เน้นการจำหน่ายเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น Children’s Place, Gap Kids และ Carter’s มีสถานะแข็งแกร่งในตลาด โดยร้านค้าปลีกดังกล่าวจะเน้นการนำเสนอสินค้าเฉพาะทาง สินค้าคอลเลคชั่นเฉพาะพิเศษตามฤดูกาล ซึ่งผู้ขายมีความรู้และสามารถให้คำแนะนำผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี

2.1.3.ร้านค้าปลีกแบบสาขา: ร้านค้าอย่าง Target และ Walmart มีตัวเลือกเสื้อผ้าเด็กหลากหลายและมี          แบรนด์ของตนเองจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยาว์ สามารถตอบสนองความต้องการแบบมหภาค

2.1.4.ร้านบูติก: ร้านบูติกจะเน้นจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กที่เป็นแบรนด์หรือมีการผลิตในคอลเลกชั่นพิเศษ เน้นเจาะตลาดลูกค้าระดับบนที่ต้องการความแตกต่าง

2.2.ช่องทางออนไลน์

2.2.1.แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ: Amazon, eBay และ Etsy เป็นกำลังสำคัญของการค้าปลีกออนไลน์ รวมถึงเสื้อผ้าเด็กด้วย เนื่องจากมีความหลากหลายของแบรนด์ มีขนาดและสไตล์ให้เลือกมากมาย

2.2.2.เว็บไซต์ของแบรนด์: แบรนด์เสื้อผ้าเด็กจำนวนมากมีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากแหล่งที่มาได้โดยตรง สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ลูกค้าก็ยังสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษเฉพาะจากแบรนด์ เช่น การสะสมแต้ม การลดราคาและของแถมต่างๆ

2.2.3.แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย: การครอบคลุมของสื่อโซเชียลและผู้ทรงอิทธิพลได้ช่วยแบรนด์ในการเผยแพร่และแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยช่องทางดังกล่าวจะเน้นการผลักดันเทรนด์ใหม่ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อกระตุ้นผู้ปกครองที่มีอำนาจในการซื้อ

  1. สถานการณ์เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567

3.1.ภาพรวมตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ

ตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 13,120 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.13% นับว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเด็กรวม โดยอาศัยแรงผลักดันจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น การที่เยาวชนมีส่วนรวมในกีฬามากขึ้น ความตระหนักเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหนุนให้ผู้ปกครองหันมาสนับสนุนบุตรหลานในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคกำลังมองหาชุดกีฬาที่มีสไตล์สามารถสวมใส่ได้ทั้งในและนอกสนาม กอปรกับความก้าวหน้าทางนวัตกรรมใหม่ทำให้ชุดกีฬาสำหรับเด็กสวมใส่สบายและมีประสิทธิภาพในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเด็กในตลาดสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม หลัก คือ

3.1.1.ผู้เล่นหลักในตลาดชุดกีฬาเด็ก เช่น แบรนด์ Nike ผู้นำระดับโลก มีชุดกีฬาสำหรับเด็กที่ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องประดับ  แบรนด์ Adidas สินค้ากีฬาสำหรับเด็กของแบรนด์นี้จะมุ่งเน้นการออกแบบและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็ก แบรนด์ Under Armour เน้นความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสำหรับนักกีฬา และแบรนด์ Puma เน้นชุดกีฬาสำหรับเด็กที่มีสไตล์ที่ผสมผสานแฟชั่นและการใช้งานเข้าด้วยกัน

3.1.2.แบรนด์ที่เน้นการเจาะตลาดเฉพาะ เช่น Patagonia เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอชุดกีฬาเด็กคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Athleta เน้นความหลากหลายของชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงและเด็ก, GapFit Kids เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาเด็กของ Gap เน้นการเสนอทางเลือกที่สะดวกสบายและราคาไม่แพง, Old Navy Active เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาจาก Old Navy เน้นการจำหน่ายชุดออกกำลังกายสำหรับเด็กที่เน้นดีไซน์สนุกสนานและทันสมัย และ H&M Sport เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาของ H&M เน้นการนำเสนอชุดกีฬาเด็กที่มีสไตล์และราคาไม่แพง

3.1.3.แบรนด์อิสระ เช่น แบรนด์ Outdoor Research แบรนด์ที่เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์กลางแจ้ง ได้นำเสนอชุดกีฬาเด็กประสิทธิภาพสูงเหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ

3.2.เทรนด์ที่น่าสนใจและน่าจะมาแรงในตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ อาทิเช่น

3.2.1.เทรนด์ความยั่งยืนและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นนำจนถึงปลายน้ำ เช่น การรีไซเคิลวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาผลิตสินค้า เป็นต้น ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวกำลังกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูผู้ซื้อในตลาดสหรัฐฯ

3.2.2.เทรนด์การสั่งทำเป็นพิเศษหรือเฉพาะบุคคล หนุนให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ที่มองหาตัวเลือกส่วนบุคคลเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่

3.2.3.เทรนด์ความทันสมัยทางเทคโนโลยี ช่วยทำให้วัสดุและเสื้อผ้ามีการสวมใส่ที่สบายมากขึ้น นอกจากนี้บาง            แบรนด์ได้มีการนำเทคโนโลยี เช่น การติดตาม GPS เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และผ้าควบคุมอุณหภูมิไปผนวกเข้ากับชุดกีฬาเด็กเพื่อเพิ่มอรรถประโยชน์สูงสุด

3.2.4.แนวโน้มเสื้อผ้าที่ไม่แบ่งแยกเพศมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น การออกแบบ Gender-neutral จึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

3.3.กลยุทธ์การเจาะตลาดเสื้อผ้ากีฬาในสหรัฐฯ ของแบรนด์ต่างชาติ

3.3.1.ศึกษาและทำความเข้าใจกับตลาดสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอแบรนด์ให้แตกต่างจากคู่แข่งในประเทศ และวิเคราะห์ตลาดเพื่อระบุคู่แข่งหลักและจุดแข็งของแบรนด์ตนเอง

3.3.2.การจัดลำดับความสำคัญในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายหลัก: พ่อแม่และผู้ปกครองตัดสินใจซื้อของให้บุตรหลาน และเป้าหมายรอง: ตัวเด็กเองที่อาจมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อ

3.3.3.การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon, Etsy หรือ Shopify และสื่อโซเชียลมีเดียเช่น Instagram, Pinterest และ TikTok ในการเจาะฐานลูกค้า นอกจากนี้ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ในสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือกีฬาสำหรับเด็กเพื่อสร้างการรับรู้และทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำของผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งอาจจะได้รับกระแสนิยมแบบกว้างตามมา อย่างไรก็ดี การทำการตลาดผ่านทางออนไลน์ แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อหาและนำเสนอภาพที่มีคุณภาพเพื่อสร้างความตระหนักให้สอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์และสินค้า

3.3.4.การร่วมมือกับร้านบูติกพิเศษหรือร้านคอนเซ็ปต์ที่เหมาะกับแบรนด์เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นโอกาสที่ดีในการรวบรวมและสร้างฐานรายชื่ออีเมลลูกค้าสำหรับส่งข้อมูลสินค้า และกำหนดโปรแกรมจูงใจลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำต่อไปในอนาคต

3.3.5.การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในระยะยาว โดยงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ ได้แก่

Playtime & Kid’s Hub NY: 9–11 กุมภาพันธ์ 2568 ณ Metropolitan Pavilion https://www.iloveplaytime.com

MAGIC New York: 18–20 กุมภาพันธ์ และ 14–16 กันยายน 2568 ณ Jacob K. Javits Convention Center

https://www.magicfashionevents.com/en/events/magic-new-york/about.html

ABC Kids Expo: 21–23 พฤษภาคม 2568 ณ the Mandalay Bay Resort & Convention Center

https://theabcshow.com/

Dallas Kids World Market: (รอยืนยันจากทางผู้จัดงาน) มิถุนายน 2568 ณ Dallas Market Center

https://www.dallasmarketcenter.com/markets/

  1. โอกาสของสินค้าไทยในตลาดชุดกีฬาเด็ก

แม้ว่าตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ จะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงแต่สินค้าจากไทยก็ยังมีโอกาสในการเจาะตลาดดังกล่าว โดยอาศัยโอกาสดังต่อไปนี้

4.1.การรับรู้ของตลาดต่างประเทศยอมรับในเรื่องงานออกแบบและงานฝีมือจากไทย ดังนั้นนักออกแบบไทยควรใช้โอกาสดังกล่าวในการนำเสนอชุดกีฬาเด็กที่มีการออกแบบโดดเด่นและมีคุณภาพดีเพื่อมาเจาะฐานลูกค้า

4.2.ไทยควรศึกษาในเรื่องการกำหนดราคาและให้ความสนใจตลาดเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยเน้นการนำเสนอในเรื่อง

แบรนด์ยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

4.3.อาศัยความร่วมมือกับแบรนด์ในสหรัฐฯ เพื่อสร้างสินค้าคอลเลกชั่นใหม่และขยายการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ

4.4.ร่วมมือกับผู้ทรงอิทธิพลทางสื่อโซเชียลหรือศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงในการสร้างกระแสความนิยมและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้กจักมากขึ้นบนช่องทางโซเชียล เพื่อกระตุ้นอุปสงค์การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์

  1. ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยแรงหนุนจากการที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของบุตรหลาน กอปรกับรายได้ของผู้บริโภคสหรัฐฯ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กระแสความนิยมในเรื่องกีฬาระดับนานาชาติ รวมทั้ง ภาพลักษณ์ของนักกีฬาทางโลกโซเชียลได้กระตุ้นให้กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันและต้องการที่จะเลียนแบบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้ตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กน่าจะมีการเติบโตอย่างสดใสและแข็งแกร่งต่อไป

 

ข้อมูลอ้างอิง: Statista, https://www.fibre2fashion.com/

en_USEnglish