เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นาง เจเน็ต ฮาร่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของชิลี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่น[1] เผยถึงความกังวลที่รัฐบาลชิลีมีต่อแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี[2] พบว่าการจ้างแรงงานทั้งหมดในประเทศชิลีมีจำนวน 9,235,064 คน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนมากถึง 2,547,138 คน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 27.6 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9[3] เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นสะสม 10 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งมีอัตราสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจนานาชาติ (OECD) ที่ร้อยละ 15[4] นอกจากนี้ จากการจ้างงานกว่า 229,621 ตำแหน่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 มีจำนวนกว่า 140,921 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 ที่เป็นการจ้างงานนอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของชิลี ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อวุฒิสภา โดยขอให้มีการจัดตั้งมาตรการจัดเก็บภาษีสำหรับบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ และกระตุ้นการสร้างตำแหน่งงานเพิ่ม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการผลักดันและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ยังส่งผลดีต่อแรงงานที่จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์และความคุ้มครองทางกฎหมายรวมถึงการบริการด้านสวัสดิการสังคมอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
จากดัชนีต้นทุนแรงงานของประเทศชิลีที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.9[5] เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับการลดลงของตำแหน่งงานภายในประเทศที่ร้อยละ 1.47[6] ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบปี โดยอยู่ที่ร้อยละ 8.9[7] จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ
ปัจจัยด้านต้นทุนแรงงาน การลดลงของตำแหน่งงาน และอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวสนับสนุนให้จำนวนแรงงานนอกระบบของชีลีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสคต.ฯ คาดว่าการจ้างงาน ในระบบของตลาดแรงงานชิลีจะยังอยู่ในช่วงขาลงต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากสภาวะเศรษกิจของชิลีที่ชะลอตัว นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานท้องถิ่นของชิลีที่เข้มงวดและปกป้องสิทธิของลูกจ้างมากกว่านายจ้าง ทำให้ธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ ชะลอการลงทุนและลดการเปิดตำแหน่งงานใหม่
“แรงงานนอกระบบ” เป็นคำจำกัดความที่พิจารณาถึงแรงงานที่ไม่มีส่วนร่วมในระบบประกันสังคมเป็นการทำงานที่ไม่ได้รับการจัดทำสัญญาจ้างงานและลงทะเบียนกับภาครัฐอย่างถูกต้อง จากการสืบค้นข้อมูลของสคต.ฯ พบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบในชิลีมีจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นชาวชิลีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87 และอีกร้อยละ 13 เป็นแรงงานชาวต่างชาติ (เวเนซูเอลา เปรู โคลอมเบีย และเฮติ ตามลำดับ) หากพิจารณาตามประเภทของงานแล้ว กลุ่มงานที่มีการจ้างงานนอกระบบมากที่สุด 3 อันดับแรก[1] ได้แก่ (1) กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการ (จำนวน 7.4 แสนคน) (2) กลุ่มงานทำความสะอาดและรับจ้างทั่วไป (จำนวน 6.2 แสนคน) และ (3) กลุ่มงานช่างและงานซ่อมบำรุงฯ (จำนวน 5.2 แสนคน) โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 1 ล้านคน[2]ที่มีนายจ้างและได้รับเงินเดือน (แต่ไม่มีสัญญาจ้างงานและส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงเป็นเงินสด) ในขณะที่กลุ่มแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง (Self-Employed) มีจำนวนกว่า 1.3 ล้านราย[3] และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น Graphic design ขับรถส่งผู้โดยสาร-ส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น ติวเตอร์ ช่างภาพ นักดนตรี เป็นต้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์ทางกฏหมาย อาทิ ประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน (คุ้มครองในช่วงระหว่างการทำงาน และครอบคลุมขณะเดินทางไป-กลับจากที่ทำงานด้วย) ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าประกันสุขภาพ ค่าประกันการว่างงาน เงินบำนาญ เงินสมทบ เงินชดเชย สิทธิวันลาพักผ่อน การลาป่วย การลาคลอด โดยที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่ระหว่างการลาต่าง ๆ) นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบอาจตกเป็นเหยื่อของการโดนเอาเปรียบจากนายจ้างที่จ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม หรือบังคับให้ทำงานล่วงเวลา และอาจต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ จึงถือได้ว่าแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบ มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงานถูกเลิกจ้างกะทันหัน และขาดความมั่นคงทางการเงิน ทั้งนี้ แรงงานบางรายมีความจำเป็นต้องทำงานนอกระบบ ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน เช่น การศึกษา โอกาส และการเงิน ในขณะที่บางรายก็เลือกที่จะไม่เข้าระบบ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี
ข้อมูลการสำรวจจากศูนย์วิจัยสาธารณะของชิลี[4] ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบและนอกระบบต่อความพึงพอใจในชีวิตด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงทางการเงินและเศรษฐกิจ ความปลอดภัยและสุขภาพ ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว การได้รับการยอมรับรวมถึงคุณค่าของผลงานและความภาคภูมิใจในการทำงาน โดยพบว่าแรงงานในระบบมีความพึงพอใจมากกว่าในเกือบทุกมิติ อย่างไรก็ตาม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยตารางเวลาที่ยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานที่มากกว่า
ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[5] รายงานว่าในปี 2566 มีแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 21.0 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งแรงงานนอกระบบมีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบถึง 19.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.7 โดยกว่าร้อยละ 55.4 ของแรงงานนอกระบบดังกล่าว ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ได้รับรายได้ที่น้อยกว่าแรงงานในระบบเกือบ 2 เท่า[1] และมีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า ทั้งนี้ สคต.ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ ภาครัฐบาลต้องศึกษาทำความเข้าใจถึงความหลากหลายของงานแต่ละประเภท ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม เพราะไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต่อผู้ประกอบการธุรกิจ บริษัท และแรงงาน ยังส่งผลไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวมในหลายประเด็น อาทิ
– การสูญเสียรายได้จากภาษี: เนื่องจากแรงงานนอกระบบไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องกับรัฐ ทำให้รัฐบาลสูญเสียแหล่งรายได้จากภาษี และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
– ผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน โดยแรงงานในระบบของชิลีมีรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำที่ประมาณ 825 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ในขณะที่แรงงานนอกระบบมีรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำที่ประมาณ 550 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นข้อจำกัดความสามารถในการบริโภคสินค้าและบริการ อันจะส่งผลต่อการเติบโตของตลาดผู้บริโภค
– การขาดเสถียรภาพในตลาดแรงงาน: การมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากอาจทำให้ตลาดแรงงานขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาและการลงทุนในทรัพยากรมนุษ์ของภาคธุรกิจ องค์กรและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดสภาวะสมองไหล (แรงงานที่มีความรู้ความสามารถออกไปหางานนอกประเทศ) หรือโอกาสการเอาเปรียบของนายจ้าง ที่กดค่าแรง บังคับให้ทำงานล่วงเวลา เป็นต้น
– คุณภาพของสินค้าและบริการ แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ขาดการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ ส่งผลให้การผลิตอาจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสินค้าและบริการในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
– ภาคการลงทุนและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานนอกระบบค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการปรับลดราคาสินค้า/บริการ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรงตามที่กฎหมายกำหนด หรือจ่ายสวัสดิการเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับธุรกิจที่มีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและยุติธรรมในการค้า มีผลต่อการตัดสินใจของบริษัท/นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ
– ภาพลักษณ์ของประเทศ การมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากอาจส่งผลกระทบภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานของประเทศในเวทีโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นจากคู่ค้าต่างประเทศ ทำให้ลดโอกาสและศักยภาพในการแข่งขัน หรือข้อตกลงการค้าที่ได้เปรียบ นอกจากนี้อาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้า เช่น การเก็บภาษีเพิ่มหรือมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งส่งผลให้สินค้าของประเทศนั้นมีความยากลำบากในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
การที่จะทำให้แรงงานเข้ามาอยู่ในระบบได้ ไม่เพียงอาศัยมาตรการจากภาครัฐเท่านั้น ในภาคของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจเองก็ควรให้ความร่วมมือและสนับสนุน จัดทำสัญญาจ้างงานให้ถูกต้องเพื่อดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน เพราะเมื่อพนักงานได้รับสวัสดิการที่ดี ก็จะสร้างแรงจูงใจการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้า/บริการของธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวม
สคต.ฯ เห็นว่าจากสภาพเศรษฐกิจของชิลีที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายมีความพยายามในการลดต้นทุนการดำเนินงาน และเริ่มจ้างแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนแรงงานนอกระบบของชีลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าสินค้าของชิลีจากไทยที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของชิลีในช่วงชะลอตัวดังกล่าว และสภาพการแข่งขันด้านราคาในตลาดที่รุนแรง โดยผู้ประกอบการและผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นลำดับต้น และคำนึงถึงคุณภาพเป็นลำดับรอง ส่งผลให้สินค้าและบริการจากประเทศไทยแข่งขันในตลาดชิลีได้ลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้าไทยที่ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวชิลี คือ สินค้าอาหาร เช่น ซอสปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารกระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋อง เป็นต้นดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหมาะสมและมีราคาที่แข่งขันได้ ประกอบกับการสร้างความแตกต่างของสินค้า สำหรับกลุ่มผู้บริโภคหรือตลาดเฉพาะ
______________________________________
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Santiago
ตุลาคม 2567
[1] https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/upload_file/2023/20231214120252_84926.pdf
[1] https://stat.ine.cl/Index.aspx?DataSetCode=INF_TOI
[2] https://www.cepchile.cl/informalidad-laboral-un-desafio-urgente/
[3] https://www.cepchile.cl/informalidad-laboral-un-desafio-urgente
[4] https://www.cepchile.cl/informalidad-laboral-un-desafio-urgente/
[5] https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/upload_file/2023/20231214120252_84926.pdf
[1] https://www.emol.com/noticias/Economia/2024/09/30/1144091/desempleo-jara-informalidad.html
[2] https://www.ine.gob.cl/
[3] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/employment-and-unemployment/bulletins/2024/employment-june-august-2024.pdf?sfvrsn=7b0c531c_5
[4] https://www.cepchile.cl/hagamonos-cargo-de-la-informalidad/
[5] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/sueldos-y-salarios/boletines/espa%C3%B1ol/ir-icl-base-anual-2023-100/agosto-2024.pdf?sfvrsn=fe0255c8_4
[6] https://bancodatosene.ine.cl/
[7] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/employment-and-unemployment/bulletins/2024/employment-june-august-2024.pdf?sfvrsn=7b0c531c_5