Building Green เป็นงานแสดงสินค้าที่มุ่งเน้นด้านการก่อสร้างที่ยั่งยืน และสถาปัตยกรรมสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของเดนมาร์ก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2567 ณ ศูนยการแสดงสินค้า Forum Copenhagen กรุงโคเปนเฮเกน
ผู้เข้าชมงานฯ ประกอบด้วยผู้ที่สนใจและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยั่งยืนและสถาปัตยกรรมสีเขียวจากหลากหลายสาขา เช่น ผู้จัดการระดับสูง (CEO, Managing Directors) จากบริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิกและวิศวกรที่สนใจด้านการออกแบบและก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานทดแทน นักพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันที่ยั่งยืน เจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายกิจการไปในด้านก่อสร้างสีเขียว และกลุ่มนักศึกษา และผู้ที่สนใจเรียนรู้เรื่องการออกแบบและการก่อสร้างสีเขียวทั้งจากในและต่างประเทศ โดยคาดว่ามีผู้เข้าชมงานประมาณ 8,000 ราย มีบริษัทผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 192 บริษัทโดยส่วนใหญ่มาจากประเทศในกลุ่มนอร์ดิกและยุโรป เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่มีความสนใจในด้านการก่อสร้างที่ยั่งยืน รวมกว่า 10 ประเทศ
งานแสดงสินค้า Building Green นี้ เน้นถึงการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอแนวคิด และสินค้าใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด Beyond the Roadmap ที่เน้นการก้าวข้ามเป้าหมายที่กำหนดไว้และปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยมีการแสดงสินค้าที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบยั่งยืน การออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียว และการปรับปรุงอาคารเดิมเพื่อประหยัดพลังงาน และยังมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสถาปัตยกรรมระดับโลกอีกด้วย
กลุ่มสินค้าที่จัดแสดงในงาน Building Green มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยคาร์บอน โดยมีสินค้าหลักในกลุ่มต่างๆ เช่น
• วัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน เช่น วัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ วัสดุรีไซเคิล และนวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• เทคโนโลยีเพื่อการก่อสร้างสีเขียว เช่น โซลูชันพลังงานทดแทน ระบบจัดการพลังงานสำหรับอาคาร และระบบประหยัดพลังงาน
• การออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียว: การออกแบบอาคารที่เน้นความยั่งยืน เช่น อาคารที่ประหยัดพลังงาน การก่อสร้างแบบรีเจนเนอเรทีฟ
• ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น ห้องน้ำสำเร็จรูปที่ช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
• โซลูชันด้านน้ำและพลังงาน: ระบบจัดการน้ำและพลังงานที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงาน
ทั้งนี้ ในงานมีการนำเสนอหัวข้อหลากหลายเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ยั่งยืน เช่น สถาปัตยกรรมฟื้นฟู กฎหมายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เศรษฐศาสตร์ และ พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของการออกแบบและการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส หัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น C2C Certified® to ensure products and materials are designed for the circular economy, Kiilto: No more waste from renovation? New bonding innovation enables easy repair and reuse of materials และ Build with Blue Biomass เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสองวัน ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ https://buildinggreen.eu/cph
ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกนได้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ C2C Certified® to ensure products and materials are designed for the circular economy โดยมีผู้นำการบรรยายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและนโยบาย จากบริษัท Cradle to Cradle Products Innovation Institute Inc. ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่เป็นเจ้าของตราสัญลักษณ์ C2C Certified® โดยได้เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน และกล่าวถึงบทบาทสำคัญของใบรับรอง C2C Certified® ในการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เข้มข้นขึ้น เช่น EU taxonomy โดยมีตัวแทนจากบริษัท Troldtekt A/S และ QbiQ Wall Systems ร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากตราสัญลักษณ์ C2C Certified® และยังหารือเกี่ยวกับแนวคิดต่างๆ เช่น material passports และ QR codes ในการนำมาใช้ โดยรวมแล้ว การสัมมนาเน้นย้ำถึงความสำคัญของความโปร่งใส ความร่วมมือ และการแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตามมาตรฐานตราสัญลักษณ์ C2C Certified®
ทั้งนี้ C2C Certified หรือ Cradle to Cradle Certified เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ประเมิน และรับรองผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมาตรฐานนี้มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานซ้ำ หรือรีไซเคิลได้อย่างเต็มที่ ลดการสร้างของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หลักการสำคัญของ Cradle to Cradle Certified มีดังนี้:
1. การใช้วัสดุที่ปลอดภัย – การตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ว่าปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีอันตราย
2. การหมุนเวียนของวัสดุ – ผลิตภัณฑ์ควรออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ เพื่อให้ไม่มีขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตและใช้งาน
3. พลังงานหมุนเวียน – เน้นการใช้พลังงานสะอาดและหมุนเวียนในกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
4. การจัดการทรัพยากรน้ำ – เน้นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการผลิต
5. ความรับผิดชอบต่อสังคม – การคำนึงถึงความเป็นอยู่ของพนักงานและชุมชน รวมถึงการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
C2C Certified มีระดับความสำเร็จ 4 ระดับ ตั้งแต่ Bronze, Silver, Gold ไปจนถึง Platinum ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถทำตามข้อกำหนดได้ดีเพียงใด บริษัทที่สนใจสามารถเริ่มต้นจากองค์ประกอบใดก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกองค์ประกอบ
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
• ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – สิงหาคม) การนำเข้ากลุ่มสินค้าการก่อสร้างของเดนมาร์กมีมูลค่า 3,373 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.5 โดยกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ มีความกว้างตั้งแต่ 600 มิลลิเมตรขึ้นไป ได้จากการรีดร้อน ไม่หุ้มติด ไม่ชุบ หรือไม่เคลือบ (รหัสศุลการกร 7208) มูลค่า 499 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13 (2) โครงสร้างโลหะสำหรับการก่อสร้าง เช่น เสา คาน โครงเหล็ก (รหัสศุลการกร 7308) มูลค่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12 และ (3) ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ (รหัสศุลการกร 7207) มูลค่า 328 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน และโปแลนด์ ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 54 มูลค่า 828,023 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 51
• งาน Building Green ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกนเป็นงานแสดงสินค้าที่มุ่งเน้นด้านการก่อสร้างที่ยั่งยืนและสถาปัตยกรรมสีเขียว ซึ่งมีแนวโน้มจะกระตุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์สีเขียวในกลุ่มประเทศนอร์ดิกในระยะยาว สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับการก่อสร้างและวัสดุไปยังกลุ่มประเทศนี้ จึงอาจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างแบบยั่งยืนที่กำลังเติบโต เพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งในตลาดนี้ เช่น
o การพัฒนาและนำเสนอวัสดุก่อสร้างที่มีความยั่งยืน: วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุที่มาจากกระบวนการการปล่อยคาร์บอนต่ำและวัสดุรีไซเคิลเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงตอบสนองความต้องการของตลาดที่เน้นสิ่งแวดล้อม
o การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการก่อสร้างสีเขียว: มีโอกาสสูงในกลุ่มเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้พลังงานในอาคาร เช่น ระบบจัดการพลังงาน ระบบพลังงานทดแทน และโซลูชันประหยัดพลังงาน
o การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ Circular Economy: การออกแบบผลิตภัณฑ์และวัสดุที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสามารถซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตามมาตรฐานสากล จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้นำเข้าในตลาดเดนมาร์ก และนอร์ดิก ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้อย่างมาก