สถานการณ์ความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของเนเธอร์แลนด์ ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นนี้
สำนักงานวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Bureau for Economic Policy Analysis : CPB) ได้วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมถึงสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากและเป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์จะมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ สถานการณ์และปัญหาต่างๆ นี้อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ อำนาจในการซื้อที่ลดลง และการเติบโตของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่การลงทุนจะลดน้อยลงเช่นเดียวกันในช่วงเวลาที่ไม่มีความแน่นอน และมีความเสี่ยงต่อตลาดการเงิน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หนี้สินของบริษัทต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว และบริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมของเนเธอร์แลนด์สามารถดูดซับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาด้านหนี้สินบางส่วนจากบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งหรือบริษัทขนาดเล็กที่ขาดทุน แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ (De Nederlandsche Bank : DNB) มีความเห็นว่าความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินได้ สถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญ จึงควรศึกษาวิเคราะห์และระบุความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เชิงรุกและเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน และควรเน้นที่ความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ เนื่องจากภูมิทัศน์ของภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นทางไซเบอร์มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังต้องรักษาบัฟเฟอร์ที่เพียงพอและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงิน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยความยืดหยุ่นในการดำเนินงานทางดิจิทัล (Digital Operational Resilience Act : DORA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางดิจิทัลของภาคการเงิน
นอกจากนี้ DNB ยังมีความเห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศและการค้าเสรีได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การคุ้มครองทางการค้า (Trade Protectionism) การแยกส่วน (Fragmentation) และการก่อตั้งกลุ่มประเทศและภูมิภาคใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พัฒนาการนี้มาพร้อมกับอุปสรรคทางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิดได้อีกด้วย
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เป็น Trading Nation จึงมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น สถาบันการเงินของเนเธอร์แลนด์อาจได้รับผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ อันเป็นผลจากการคว่ำบาตร ผ่านพอร์ตการลงทุนหรือผ่านเงินกู้ให้บริษัทที่อ่อนไหวต่อความตึงเครียดดังกล่าว ทั้งนี้ การเป็นตลาดเดียว (Single Market) ที่มีความแข็งแกร่งของยุโรปจะเป็นกันชนที่สำคัญต่อความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสำหรับในแง่การเงินและเศรษฐกิจ การมี European Banking and Capital Market Union จะช่วยให้ระบบการเงินแข็งแกร่งและมีความหลากหลายมากขึ้น และยังทำให้เกิดความร่วมมือกันในระดับยุโรปที่จะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจหรือเกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยมายังเนเธอร์แลนด์ให้ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Hague