- อุปทานของตลาด
ปัจจุบันอุปทานน้ำตาลโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยประเทศ/ภูมิภาคผู้ผลิตน้ำตาลหลัก ได้แก่ บราซิล อินเดีย และยุโรป เฉลี่ยรวมคิดเป็นร้อยละ 48.98 ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญเช่นกัน โดยปริมาณผลผลิตหลักมาจากเขตปกครองตนเองกวางสีที่เป็นทั้งแหล่งผลิตน้ำตาลและแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่สุดในจีนคิดเป็นร้อยละ 60 ของประเทศ ติดต่อกันเป็นเวลา 19 ปี หรือมีสมญานามว่าโหลน้ำตาลของชาติ อุตสาหกรรมน้ำตาลของจีนในหลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล เช่น การรณรงค์ทางโภชนาการเกี่ยวกับการลดการบริโภคน้ำตาล การติดฉลาดผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาล เป็นต้น และความสามารถในการผลิตที่ล้าหลัง ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลในจีนมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีการชลประทานประหยัดน้ำ การประยุกต์ใช้ปุ๋ยชีวภาพและการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัจฉริยะและอัตโนมัติของจีน จะกลายเป็นทิศทางสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำตาลให้สูงขึ้น
- อุปสงค์ของตลาด
ปริมาณการบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยของชาวจีนกลับต่ำกว่าระดับของโลก ปัจจุบันชาวจีนเฉลี่ยบริโภคน้ำตาล (รวมน้ำตาลแปรรูปทุกชนิด) อยู่ที่ 11.5 กิโลกรัมต่อปี อย่างไรก็ดี น้ำตาลทรายขาวยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเป็นสิ่งจำเป็นในการบริโภคประจำวันของประชาชน ประกอบกับการใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และร้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า อุปสงค์ของตลาดน้ำตาลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำตาลที่ผันผวนในตลาดต่างประเทศ และมาตรการปกป้องทางการค้าของจีน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศจีนต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น
- สถานการณ์อุปสงค์กับอุปทานในตลาด
ราคาน้ำตาลในประเทศได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ อุปสงค์และอุปทาน ต้นทุนการนำเข้า และการปรับนโยบาย เป็นต้น โดยในเดือนกันยายน 2567 ราคาน้ำตาลในประเทศลดลงอย่างทรงตัว ผลผลิตน้ำตาลใหม่และการนำเข้าน้ำตาลอย่างต่อเนื่องทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สต็อกยังอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้ราคายังทรงตัว
สำหรับราคาน้ำตาลต่างประเทศได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก นโยบายของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น โดยในเดือนกันยายน 2567 ราคาน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและไฟไหม้ในบราซิล จึงคาดว่าปริมาณน้ำตาลจะลดลง
- แนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมน้ำตาล
จากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมน้ำตาลจะปรับตัวไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน และการผลิตคาร์บอนต่ำ โดยใช้วิธีการปลูกและแปรรูปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ความตระหนักถึงสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำตาลต่ำ และปราศจากน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดของผลิตภัณฑ์น้ำตาลแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมขนมหวาน เช่น ช็อกโกแลตและลูกอม ก็มีการพัฒนาประเภทของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการด้านรสชาติ และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
แนวโน้มตลาดบริโภคน้ำตาลในอนาคตอยู่บนความต้องการที่หลากหลาย ตลาดน้ำตาลแบบดั้งเดิมอาจลดความนิยมลง ขณะที่ความนิยมผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลต่ำ หรือปราศจากน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลต้องปรับตัวพัฒนานวัตกรรมให้สามารถตอบสนองตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
- สถานการณ์การนำเข้าและส่งออกน้ำตาลของจีน ช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567
ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 จีนมีการนำเข้าน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลจากทั่วโลก ปริมาณ 6.33 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.36 มีมูลค่า 3,822.75 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.61 และมีการส่งออกน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลไปทั่วโลก ปริมาณ 2.95 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.54 มีมูลค่า 3,041.14 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.12
ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 จีนมีการนำเข้าน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลจากไทย ปริมาณ 2.05 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.29 มีมูลค่า 1,108.85 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.65 และมีการส่งออกน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลไปไทย ปริมาณ 0.26 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.12 มีมูลค่า 180.41 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.39
- ผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่วางจำหน่ายในจีน
ผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลกรวด น้ำเชื่อม และน้ำผึ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยความตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคทำให้มีผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำตาลที่มีคุณสมบัติเพื่อสุขภาพ ปราศจากน้ำตาล แคลอรี่ และไขมัน เกิดขึ้นจำนวนมาก อาทิ น้ำตาลอิริทริทอล (Erythritol) น้ำตาลหล่อฮังก้วย (Monkfruit) น้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia) และน้ำตาลไซลิทอล (Xylitol) เป็นต้น
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำตาลแบบดั้งเดิมที่วางจำหน่ายในตลาดจีน
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำตาลที่วางจำหน่ายในตลาดจีน
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ตลาดน้ำตาลของจีนเป็นตลาดการค้าระหว่างประเทศที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ที่ได้รับการยกเว้นเป็น 0% จึงสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าแปรรูปน้ำตาลของไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับความต้องการบริโภคน้ำตาลในจีนที่มีขนาดใหญ่ โดยพบว่าจีนมีความต้องการบริโภคน้ำตาลต่อปีประมาณ 15 ล้านตัน และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลเพียง 10 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงพึ่งพาการนำเข้าเข้ามาเสริมในส่วนการผลิตที่ขาดแคลน และไทยก็ถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่สำคัญของจีน โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าน้ำตาลจากไทยมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.65 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.29 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดน้ำตาลของจีน แต่ก็ต้องควบคุมคุณภาพของสินค้าและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงอยู่เสมอ โดยช่วงที่ผ่านมา สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีน ได้ออกมาตรการระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลของผู้ประกอบการน้ำตาลไทยบางรายไปยังจีนชั่วคราว ซึ่งฝ่ายจีนจะใช้มาตรการชั่วคราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (น้ำเชื่อมและผงพรีมิกซ์) โดยระงับการขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการรายใหม่ชั่วคราว รวมถึงระงับการสำแดงศุลกากรและการนำเข้าจากบางบริษัทที่ขึ้นทะเบียนแล้วชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารที่อาจเกิดขึ้นจะได้รับการระบุและประเมินอย่างสมบูรณ์ โดยที่มาตรการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมและผงพรีมิกซ์เท่านั้น การส่งออกน้ำตาลที่ส่งออกตามปกติอื่นๆ ไปยังจีนจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าด้านการส่งออกที่เข้มงวดมากขึ้น ร่วมมือกันแก้ปัญหา ชี้แจงมาตรฐานการค้าน้ำตาลระหว่างไทย-จีน ว่าผลิตภัณฑ์น้ำตาลของไทยมีการพัฒนาที่ดีที่สูงขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นความไว้วางใจซึ่งกันและกันอีกด้วย
แหล่งที่มา :
https://www.chinairn.com/scfx/20241205/171428462.shtml
https://caifuhao.eastmoney.com/news/20241108151400986829530
https://www.sohu.com/a/835279950_122014422
https://mbd.baidu.com/newspage/data/dtlandingsuper?nid=dt_3692051843461170841&sourceFrom=search_a
https://www.163.com/dy/article/JJ7KRK840538LNVJ.html
******************************
Overseas Trade Promotion Office in Qingdao