หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายชื่อประเทศที่ถูกกำหนดภาษีนำเข้าจำนวนมาก ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสั่นคลอนระเบียบการค้าโลกอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเยอรมนี ที่ต้องหาทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการคุ้มครองทางการค้าไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดังเช่น ในศตวรรษที่ 19 ประเทศเยอรมนี สมัยนาย Otto von Bismarck ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เคยกำหนดภาษีศุลกากรป้องกันและควบคุมปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีราคาถูกจากประเทศในยุโรปอื่น ๆ ภายใต้การผลักดันของกลุ่มเกษตรกรผู้มีอิทธิพลในรัฐสภา ซึ่งในที่สุดก็ล้มเหลว
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นที่รู้จักด้วยมุมมองที่ไม่เหมือนใคร เขาจึงไม่ลังเลที่จะเปิดศักราชใหม่ของการกีดกันทางการค้า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านนโยบายภาษีศุลกากรที่เข้มข้น ในการนี้ นาย Carsten Brzeski หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร ING กล่าวว่า “เศรษฐกิจตะวันตกส่วนใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาจากการค้าเสรี ซึ่งตอนนี้กำลังจะถูกรบกวน จึงอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่เราจะเห็นความสมดุลอีกครั้ง” อย่างไรก็ตาม นาย Brzeski มองว่าการตอบโต้ต่อนโยบายของทรัมป์ทันทีนั้น เป็นเรื่องโง่เขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเกี่ยวกับภาษีศุลกากรแบบตอบแทนเมื่อช่วงต้นเดือน ในขณะที่ กลยุทธ์ที่ชัดเจนของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งนาย Brzeski กล่าวเสริมว่า “การตอบโต้ทรัมป์ในตอนนี้ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก นโยบายของเขามีความไม่แน่นอนเกินไปสำหรับเรื่องนั้น”
ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ลองประเมินสถานการณ์ ด้วยการขู่ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ เช่น ภาษีสำหรับสินค้ารถจักรยานยนต์และวิสกี้เบอร์เบิน ซึ่งในเวลาต่อมา สินค้าวิสกี้เบอร์เบินได้ถูกถอดออกจากรายการ เนื่องจากวอชิงตันได้ออกข่าวว่าไวน์แดงของฝรั่งเศสและอิตาลีอาจเป็นเป้าหมายภาษีต่อไป ทั้งนี้ นาย Brzeski กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณารายชื่อภาษีศุลกากรแบบตอบแทนอย่างละเอียด จะพบว่าทรัมป์กำลังไล่ตามใครกันแน่ ประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเกินดุลการค้าจำนวนมากกับสหรัฐฯ ซึ่งเขาเรียกว่า “ไม่เป็นธรรม” ต่างหากที่ทำให้ประธานาธิบดีไม่พอใจ อันดับแรกและสำคัญที่สุดก็คือ “จีน แคนาดา เม็กซิโก และเยอรมนี”
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปที่มีสมาชิก 27 ประเทศนี้ ก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเขา แต่กลับเป็นประเทศจีน ซึ่งนับเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งที่สุดของอเมริกาในการชิงตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างประเทศจีน ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งสูงถึง ร้อยละ 145 สำหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ตามที่ทำเนียบขาวยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
ทางด้านสหภาพยุโรป ก็กำลังรอให้เยอรมันเป็นผู้นำการตอบโต้นี้ โดยนาย Marc Schattenberg และนาย Robin Winkler นักเศรษฐศาสตร์ จากแผนกวิจัยของธนาคาร Deutsche Bank เชื่อว่าเยอรมนีจะไม่สามารถหลีกหนีเรื่องภาษีได้ จึงต้องการเรียกร้องให้นักการเมืองเยอรมันเข้าร่วมตอบโต้ ซึ่งพวกเขาเขียนไว้ในบันทึกการวิจัยว่า “ควรเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลกลางชุดต่อไปปกป้องความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจเยอรมันในสภาพแวดล้อมระดับโลกที่ท้าทายมากขึ้น”
ข้อคิดเห็นดังกล่าวยิ่งทิ่มแทงใจกลางของปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันของเยอรมนี เนื่องจากหลังการเลือกตั้งอย่างกะทันหันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนียังไม่ได้รับการเลือกตั้ง และรัฐมนตรีชุดใหม่กำลังรอการแต่งตั้ง ด้วยสถานะทางการเมืองที่ไม่แน่นอนของเยอรมนีอีกสักระยะ ส่งผลให้สหภาพยุโรปไม่มีความเห็นจากประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป อย่างไรก็ตาม โชคดีที่คณะกรรมาธิการยุโรปตกลงที่จะไม่ดำเนินการอย่างเร่งรีบและจะพิจารณาใช้การเจรจาแทน
ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเยอรมันซึ่งพึ่งพาการส่งออกก็สูญเสียมากมายจากสงครามการค้านี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ สารเคมี เครื่องจักร และยา ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ นาย Brzeski แสดงความคิดเห็นว่าการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ อาจดูไม่น่ากังวลเมื่อมองครั้งแรก เนื่องจากมีเพียงประมาณร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหภาพยุโรปเท่านั้นที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ แต่ในเยอรมนี “งานหลายแสนตำแหน่ง” ขึ้นอยู่กับการส่งออกไปยังสหรัฐฯยิ่งไปกว่านั้น หากทรัมป์ประสบความสำเร็จในการผลักดันซัพพลายเออร์จีนออกจากตลาดสหรัฐฯ รัฐบาลจีนอาจเกิดความคิดที่จะทุ่มการอุดหนุนกำลังการผลิตส่วนเกินมายังตลาดยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งหมดในภูมิภาค
ในการนี้ นาย Brzeski มองว่า เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจของเยอรมนีที่เน้นตลาดในประเทศอาจได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้านี้ อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมส่งออกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ บริษัทในยุโรปหลายแห่งเคยพิจารณาย้ายฐานการผลิตของเยอรมันไปยังสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาลไบเดน ด้วยนโยบายลดอัตราเงินเฟ้อ การยกเลิกกฎระเบียบ การลดราคาพลังงาน และการลดภาษีทำให้สหรัฐฯ น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความวุ่นวายด้านภาษีศุลกากรได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความแน่นอนทางกฎหมาย และมีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ย้ายไปที่นั่น
ในขณะที่ยุโรปกำลังหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ผู้กำหนดนโยบายส่วนหนึ่งกำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของอเมริกา อย่างไรก็ตาม นาย Fabian Zacharias กรรมการผู้จัดการของสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลของเยอรมนี (Bitkom e. V.) เตือนว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เขากล่าวว่า “การจัดเก็บภาษีดิจิทัลของยุโรปอาจเป็นการตอบสนองที่เลวร้ายที่สุด การพยายามตอบโต้ประเด็นนโยบายการค้าด้วยการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ถือเป็นการผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง”
ทางด้านนาย Gabriel Felbermayr หัวหน้าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจออสเตรีย (Wifo) ได้เสนอทางเลือกสำหรับสหภาพยุโรปว่าสามารถจัดเก็บภาษีส่งออกสินค้าที่ออกจากเขตศุลกากรของยุโรปเองได้ จึงอาจใช้เครื่องมือนี้เพื่อจัดเก็บภาษีสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องจัดหาสินค้าจากยุโรป โดยนาย Felbermayr ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DW ว่าปัจจุบัน เครื่องจักรไฮเทคสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เกือบทั้งหมดในยุโรปมาจากบริษัท ASML Holding N.V. ของเนเธอร์แลนด์ ดังนั้น ภาษีส่งออกระดับสูงสำหรับเครื่องจักรเหล่านี้จะทำให้บริษัทในสหรัฐฯ ต้องเสียเงินจำนวนมาก และอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องประนีประนอม
อย่างไรก็ตาม นาย Brzeski ไม่เชื่อเรื่องการเก็บภาษีส่งออกสินค้าดังกล่าว แต่จะเป็นการดีกว่าหากผู้กำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปมุ่งเน้นไปที่การลงทุน การปฏิรูปโครงสร้าง การลดระเบียบราชการ และการบูรณาการเชิงลึกมากขึ้น เช่น การตั้งสหภาพตลาดทุนและการป้องกันประเทศ ซึ่งเขาเชื่อว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้สหภาพยุโรปสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำรายการภาษีตอบโต้ที่ยืดยาว
แหล่งที่มา: dw.com
ภาพประกอบ: freepik.com