กระทรวงการคลังเวียดนามยืนยันเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

กระทรวงการคลังเวียดนามกําลังกําหนดภาษีบริโภคสําหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แม้ว่าบริษัทเครื่องดื่มจะอ้างว่าจะไม่ลดโรคอ้วน

ในร่างกฎหมายที่กําลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงยุติธรรมเวียดนาม กระทรวงการคลังเวียดนามได้แก้ไขคําว่า “เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล” เป็น “เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลตามมาตรฐานเวียดนาม” หลังจากปรึกษากับธุรกิจต่างๆ ซึ่งไม่รวมเครื่องดื่มที่มีนม น้ำหวานของเกสรดอกไม้ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่จะไม่ ถูกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แต่เครื่องดื่มอัดลม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเกลือแร่จะต้องเสียภาษี ตอนนี้กระทรวงยังไม่ได้กําหนดอัตราภาษี

หลังจากกระทรวงกลับมาเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปี 2566 ธุรกิจและสมาคมได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่าการเก็บภาษีดังนี้จะไม่ลดโรคอ้วนได้ และจะทําให้เกิดปัญหาสําหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำตาลการผลิตบรรจุภัณฑ์ และการค้าปลีก แต่กระทรวงปฏิเสธข้อโต้แย้งและกล่าวว่าภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก (A global phenomenon) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization ตัวย่อ WHO) สนับสนุนให้รัฐบาลต่างๆ กําหนดภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพื่อควบคุมการบริโภคของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

ปัจจุบัน มีประมาณ 85 ประเทศเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งมากกว่า 10 ปีที่แล้วถึง 6 เท่า ในสหรัฐเม็กซิโก (Mexico) ประชากรได้ลดการใช้จ่ายในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลงร้อยละ 12 ภายในสองปีหลังจากเก็บภาษี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 6 ใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และพม่า ที่มีการเก็บภาษีดังกล่าว

กระทรวงฯ ยังพยายามนําเครื่องดื่มที่ทําจากข้าวบาร์เลย์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มาอยู่ภายใต้ขอบเขตของภาษี เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตเบียร์ แต่บริษัทต่างๆ ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าความคล้ายคลึงกันในกระบวนการผลิตไม่ได้ทําให้พวกเขาเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ในอดีต กระทรวงฯ เสนอให้เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปี 2557 โดยเสนออัตราร้อยละ 10 แต่หน่วยงานของรัฐหลายแห่งปฏิเสธ

จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

วิเคราะห์ผลกระทบ

จากข้อมูลของ WHO เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา จากสถิติในช่วงปี 2553-2563 อัตราน้ำหนักเกินมาตรฐานของเด็กในเวียดนามเพิ่มขึ้นสองเท่าจากร้อยละ 8.5 เป็นร้อยละ 19 ดังนั้น WHO จึงแนะนำอย่างเป็นทางการให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ผ่านมาตรการเก็บภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพื่อเป็นแนวทางในการบริโภค โดยเฉพาะ ปัจจุบันเวียดนามยังไม่มีภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 เท่านั้น หากเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะทำให้ราคาหลายสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ตามสถิติของหน่วยงานเวียดนาม ในปี 2564 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดในเวียดนามจะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านลิตรต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำอัดลม ชาสำเร็จรูป น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและน้ำอัดลมไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น อ้อย การค้าปลีก และบรรจุภัณฑ์ การเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่จากการบริโภคน้ำตาลมากเกินของประชาชน ผู้ส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต้องติดตามมาตรการภาษีน้ำตาลของเวียดนามอันอาจจะส่งผลต่อราคา โดยแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีน้ำตาลต่ำ และปราศจากน้ำตาลกำลังได้รับความนิยมในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

en_USEnglish