• ตามรายงานของเว็บไซต์ ThredUP (จำหน่ายสินค้าแฟชั่นสากลระดับสูง) ได้คาดการณ์จากการเติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของการจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมือสอง (Second hand) บนตลาดอีคอมเมิร์ซว่าจะมีมูลค่าถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 โดยมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ คนรุ่น Gen Z ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายบนโลกออนไลน์ระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 58% ของผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540 ถึง 2555 จะซื้อสินค้ามือสองอย่างน้อยหนึ่งครั้งและมากกว่าคนในวัยอื่นๆ และอย่างน้อย 30% ของสินค้าแฟชั่นมือสอง เป็นสินค้าแฟชั่นหรูหราของแบรนด์เนมดังๆ ที่อาจมีราคาแพงเกินไปสำหรับวัยรุ่นส่วนใหญ่ แต่ความต้องการและการยึดติดกับแบรนด์ดังไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตแบบทวีคูณของสินค้าแฟชั่นมือสอง ปัญหาเงินเฟ้อที่สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้บริโภคถึง 94% แสดงให้เห็นว่าลูกค้าระดับกลางถึงสูงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวเช่นกัน โดย 63% ของผู้ให้สัมภาษณ์พบคำตอบในตลาดสินค้ามือสอง และมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นลูกค้าร่ำรวยและเปิดเผยว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและไม่สนใจของใช้แล้ว โดยในปี 2565 ผู้ซื้อ 37% ใช้จ่ายกับสินค้ามือสองสูงกว่าสินค้ามือหนึ่ง และคาดว่าจะซื้อต่อไปในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบันที่ไม่ช่วยเสริมสร้างกำลังซื้อได้อย่างแน่นอน
  • รายงานดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่จะดึงดูดผู้บริโภคในการซื้อสินค้าแฟชั่นหรูหรามือสอง คือ ความคุ้มค่าและความสะดวกสบาย กล่าวคือ ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงสินค้าที่อยากได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาเริ่มต้น หรือการหาสินค้ารุ่น Limited edition ซึ่งอาจตัดสินใจยากในการซื้อในช่วงที่แบรนด์เพิ่งปล่อยสินค้าสู่ตลาดเพราะราคาสูงเกินไป
  • นอกจากนี้ ความใส่ใจของผู้คนในโลกที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน และความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นตัวเร่งการเติบโตของสินค้ามือสอง ประกอบกับวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้ามีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้บริโภคทั่วไป ทำให้ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการเลือกสินค้าราคาประหยัด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น มลพิษที่เกิดจากห่วงโซ่การผลิต ปัญหาของขยะสิ่งทอ และการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เป็นต้น จากมุมมองดังกล่าว การซื้อเสื้อผ้ามือสองก็น่าสนใจในแง่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการชุบชีวิตที่สองให้กับเสื้อผ้าที่อาจถูกโยนทิ้ง ให้เพิ่มอายุการใช้งานออกไป และช่วยลดปริมาณขยะสิ่งทอ
    สินค้าแฟชั่นมือสอง (Second hand) เทรนด์มาแรงที่ต้องจับตามอง
  • ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะสนับสนุนการเติบโตของสินค้าแฟชั่นมือสอง คือ การตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของอุตสาหกรรม Fast Fashion ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตและการบริโภคแฟชั่นที่อิงการผลิตเสื้อผ้าราคาถูกและคุณภาพต่ำด้วยการตัดเย็บจากผ้าใยสังเคราะห์ทางเคมี และวัสดุตกแต่งแฟชั่นที่มีสารพิษและเป็นขยะกำจัดยาก โดยใช้ราคาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการซื้ออย่างหุนหันพลันแล่นตามกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบการตลาดดังกล่าวมีส่วนในการผลิตขยะสิ่งทอ การสิ้นเปลืองทรัพยากร ตลอดจนมลพิษทางน้ำและอากาศ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการออกตัวเสื้อผ้า “Greenwashing” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยแบรนด์และผู้ค้าปลีกอย่าง H&M และ ASOS ที่มองเห็นการทำงานที่บั่นทอนสุขภาพและรูปแบบที่ครอบงำอุตสาหกรรมของสินค้า Fast fashion อย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปหันหาทางเลือกสินค้ามือสองที่มีราคาย่อมเยากว่าราคาสินค้าแฟชั่นหรูหรามือหนึ่ง ที่ยังทำให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเคารพต่อจริยธรรมการใช้แรงงานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางออกเดียวที่แท้จริงของเรื่องนี้ คือ การผลิตให้น้อยลง แต่ในตลาดที่กระหายความแปลกใหม่จำเป็นต้องสร้างอุปสงค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ย่อมสวนทางกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะความหลงใหลในบริโภคนิยม กระตุ้นให้เกิดการผลิตที่มากเกินจำเป็น
  • สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ แบรนด์ Fast Fashion บางแบรนด์สามารถครองตำแหน่งสูงสุดในตลาดสินค้าแฟชั่นมือสองที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับแรกๆ ได้แก่ แบรนด์ Zara, Urban Outfitters, Lululemon, Patagonia, Levi’s, Free People, Reformation, The North Face, Tory Burch, Coach, Birkenstock และ Longchamp ซึ่งหากลองพิจารณาดูหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท กระเป๋าที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นกระเป๋าเป้ของแบรนด์ Fjällräven แจ๊กเก็ตแขนกุดของแบรนด์ Patagonia รองเท้ามีรูปสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำของแบรนด์ Dr.Martens ชุดวอร์มของแบรนด์ Gap เสื้อชุดของแบรนด์ Sézane และเสื้อกล้ามของแบรนด์ SKIMS ก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก สามารถหาซื้อได้ตามเว็บไซต์สินค้าแฟชั่นมือสองเช่นกัน
  • ล่าสุดมีการเปิดเผยว่า แบรนด์หรูอย่าง Balenciaga เข้าร่วมกลุ่มกับแบรนด์หรูอื่นๆ ในการขายสินค้ามือสอง โดยผ่านแพลตฟอร์ม Vestiaire Collective กับแบรนด์ The RealReal ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ Gucci และ ALEXANDER McQueen ซึ่งก็ได้เข้าร่วมการขายสินค้ามือสองแล้ว เมื่อเจ้าของแบรนด์เองโปรโมตการขายตรงเอง ก็ยิ่งมีคนสนใจมาก การทำงานในลักษณะนี้มักผ่านการติดต่อกันทางเว็บไซต์ก่อน เมื่อตกลงกันได้แล้ว จึงนำสินค้าไปส่งเองที่ร้านค้าแบรนด์นั้นที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือไม่ก็ส่งทางไปรษณีย์ เมื่อสินค้าอยู่ในมือของพนักงานขายแล้ว สินค้าจะผ่านไปยังศูนย์ตรวจสอบว่าเป็นของแท้และประเมินราคา และแบรนด์จะติดต่อกลับเพื่อเสนอราคาที่จะจ่ายให้ หากยอมรับ จะได้รับเงินคืน (น้อยครั้ง) หรือบัตรกำนัล (วิธีปฏิบัติทั่วไปที่แพร่หลาย) ที่มีมูลค่าสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ออกใหม่ล่าสุดของแบรนด์เดียวกัน
  • นอกเหนือจากแบรนด์ Gucci, ALEXANDER McQueen และ Balenciaga ข้างต้นแล้ว แบรนด์ Burberry, Levi’s, Nike, Adidas, COS, Mara Hoffman ยังได้ตอบรับการขายสินค้ามือสองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก็มีแบรนด์อื่นๆ เช่น Hermès และ Chanel ไม่ยินดีและไม่เข้าร่วมกับการค้ารูปแบบนี้
    สินค้าแฟชั่นมือสอง (Second hand) เทรนด์มาแรงที่ต้องจับตามอง
  • ในระยะเริ่มต้น แบรนด์ดังๆ ไม่ชื่นชอบและยอมรับรูปแบบการตลาดนี้ เพราะกังวลว่าการจำหน่ายสินค้ามือสองเป็นการแข่งขันที่อันตราย เสี่ยงที่จะทำลายผลกำไร เกรงจะเป็นช่องทางส่งเสริมสินค้าปลอมและเลียนแบบ ตลอดจนนำไปสู่การลดคุณค่าของแบรนด์สินค้าทั้งในด้านศักดิ์ศรี สถานะ และความภักดีของลูกค้า จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อแบรนด์แฟชั่นดังๆ เห็นว่าไม่สามารถเอาชนะกระแสการตลาดนี้ได้ ก็ผันตัวเข้ามีส่วนร่วมเองเลย เพื่อควบคุมแนวทางตลาดด้วยตัวเอง ตอนนี้แม้แต่ศูนย์การค้าหรูหราขนาดใหญ่ เช่น Selfridges ในสหราชอาณาจักร และ La Rinascente ในอิตาลี ก็เริ่มจัดสรรพื้นที่สำหรับการขายสินค้าแฟชั่นมือสองของดีไซเนอร์แนววินเทจ (Vintage) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ประกอบการตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟให้ทันแทนที่จะถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง ความกลัวเสียลูกค้าเดิมบางส่วนกลับสร้างโอกาสให้ลูกค้ากลับมาอย่างต่อเนื่องที่หน้าร้านทั้งเพื่อซื้อและขาย การยอมรับรูปแบบการขายสินค้าแฟชั่นมือสองเป็นความท้าทายสำหรับแบรนด์ในการตีกรอบสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และหาผลประโยชน์ในขณะเดียวกัน
  • ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ภายในปี 2573 คาดการณ์ว่าเสื้อผ้ามือสองจะมีสัดส่วน 18% ของตู้เสื้อผ้า เพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2563 ในขณะที่ Fast Fashion (Zara, H&M) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8% เป็น 9% ส่วน Amazon Fashion ก็จะเติบโตเช่นกัน จาก 4% เป็น 5% ส่วนแบ่งของห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะลดลงจาก 11% ในปี 2563 เป็น 7% ในปี 2573 และของร้านค้าเฉพาะทางที่มีเป้าหมายราคาปานกลาง (เช่น Gap และ J Crew) ลดลงจาก 16% เป็น 13%
    ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
    1. ความต้องการสินค้าแฟชั่นหรูหรามือสองเพิ่มขึ้นแม้ในอิตาลีเองที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังมากมาย รวมถึงสินค้า Fast Fashion มือสองเช่นกัน ธุรกิจดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จากทุกมุมโลก การเป็นคนกลางในการนำขายทอดตลาดอีกต่อหนึ่งก็เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้ ซึ่งแบรนด์ดังๆ ไม่กีดกันมากนักในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการช่วยระบายสินค้าออกได้เร็วขึ้น เพราะสินค้าแฟชั่นเป็นการขายสินค้าตามฤดูกาล
    2. รูปแบบสินค้าแฟชั่นมือสอง ที่ให้โอกาสลูกค้านำสินค้ากลับมาจำหน่ายให้กับร้านค้า และมีรายได้สำหรับซื้อสินค้าครั้งต่อไป เป็นการทำตลาดที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เหนียวแน่นขึ้น และยังทำให้ลูกค้าแวะเวียนมาบ่อยขึ้นอีกด้วย เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    3. การทำธุรกิจสินค้าแฟชั่นหรูหรา จำเป็นต้องระมัดระวังสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าเองประสบกับปัญหาในภายหลัง และเสียชื่อเสียงได้ เนื่องจากสังคมในโลกโซเชียลมีเดียมีการกระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว
    4. สถานการณ์ตลาดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อสินค้าแฟชั่น จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ดียิ่งขึ้น
    ————————————————————————————–
    ที่มา: www.elle.com/it/moda/ultime-notizie/a43655353/moda-second-hand-tendenze-2023/
    Thai Trade Center - Milan
    1 มิถุนายน 2566
en_USEnglish