(ที่มา : สำนักข่าว Korea Joongang Daily ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2566)
ความเป็นไปได้ที่แอสปาร์แตมซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ในเครื่องดื่มน้ำอัดลมจะถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มและผู้บริโภคของเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความปลอดภัยของประเทศจะจัดแอสปาร์แตมไว้ในกลุ่มปลอดภัยก็ตาม
อ้างอิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ IARC (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์กรอนามัยโลก อาจกำหนดให้แอสปาร์แตมที่ใช้ในเครื่องดื่มน้ำอัดลมและมักกอลลี (ไวน์ข้าวเกาหลี) อยู่ในสารประเภท “เป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง (possibly carcinogenic)” ในมนุษย์
สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติในเครือขององค์กรอนามัยโลก ได้มีการจำแนกระดับของสารออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ เป็นสารก่อมะเร็ง อาจเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ และไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ประเภท “เป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง” หมายความว่า ยังมีหลักฐานที่จำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง
ในปี 2564 กระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา เกาหลี (MFDS) กล่าวว่า ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมกระป๋อง ปริมาณกระป๋องละ 250 มิลลิลิตร จำนวน 55 กระป๋อง ทุกวัน ถึงจะบริโภคแอสปาร์แตมเกินที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวัน (Acceptable Daily Intake) หรือหมายถึง ค่าเฉลี่ยปริมาณของสารเฉพาะในอาหารหรือเครื่องดื่มที่มนุษย์สามารถรับได้ในแต่ละวันตลอดอายุขัย โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
บริษัท Lotte Chilsung Beverage ผู้ผลิตเครื่องดื่ม Zero Sugar เช่น Pepsi Zero Sugar Lime, Mango and Black ที่มีแอสปาร์แตมปรุงแต่งรส และได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลีใต้ ผลิตภัณฑ์ Pepsi Zero Sugar Lime มีมูลค่าการขายถึง 550 ล้านวอน (420,000 ดอลลาร์) สินค้าดังกล่าวเปิดตัวในเกาหลีใต้เดือนมกราคม ปี 2564 และได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด จนถูกเรียกว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งความสุขที่ดีต่อสุขภาพ โฆษกของบริษัท Lotte Chilsung Beverage กล่าวว่า “แอสปาร์แตมเป็นหนึ่งในสารปรุงแต่งอาหาร 22 ชนิด ที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงอาหาร พร้อมกับเสริมว่า กำลังพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวอยู่กับสำนักงานใหญ่ Pepsi
ผู้ผลิตมักกอลลีกล่าวว่า แอสปาร์แตมเป็นส่วนผสมอาหารที่ใช้เพื่อให้ความหวาน และเป็นส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตมักกอลลีเป็นปกติอยู่แล้ว พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า การตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่เป็นการดำเนินการโดยผู้ผลิตมักกอลลีเพียงรายใดรายหนึ่ง แต่จะเป็นการดำเนินการปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียมกันทุกบริษัท ผ่านการตกลงร่วมกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรมมักกอลลี
แอสปาร์แตมถูกพบในสินค้านาโช่และมันฝรั่งแผ่นของบริษัท Orion เช่นกัน แต่โฆษกของบริษัท Orion ได้โต้แย้งว่า ขนมเหล่านี้มีส่วนผสมของแอสปาร์แตมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่น้ำหนัก 60 กิโลกรัม จะต้องกินขนมถุงละ 60 กรัมถึง 300 ถุง ต่อวัน ถึงจะเกินปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวัน โฆษกของบริษัทกล่าวกับ Joongang Ilbo ว่า “ทั้งนี้ เราได้ดำเนินการเชิงป้องกัน ในการหาส่วนผสมอื่นทดแทนไว้แล้ว”
นอกจากนี้ สินค้าเครื่องดื่มโคล่า 2 ชนิด และเครื่องดื่มน้ำอัดลม 5 ชนิดของแบรนด์เครื่องดื่ม “No brand” ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัท Emart ก็มีส่วนผสมของแอสปาร์แตมเช่นเดียวกัน
ในขณะที่บริษัท Coca-Cola เกาหลี Hite Jinro และ Lotte Wellfood กล่าวว่าไม่มีสินค้าใดของบริษัทที่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตม
ท่ามกลางความหวาดกลัวในการบริโภคแอสปาร์แตม บริษัทผู้ผลิตอาหารปราศจากน้ำตาลกำลังรอผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการจาก IARC และปฎิกิริยากระทรวง MFDS แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมกล่าวว่า “ข่าวดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมปั่นป่วน เนื่องจากแอสปาร์แตมเป็นที่รู้จักในฐานะสารเติมแต่งที่ปลอดภัย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และกระทรวง MFDS ของเกาหลี”
จากกระแสดังกล่าว ส่งผลให้เครื่องดื่ม Zero Sugar ที่ไม่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตมอาจได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อตลาดเครื่องดื่ม Zero Sugar เนื่องจากความวิตกกังวลของผู้บริโภค
นอกจากนี้ IARC ยังจำแนก ว่านหางจระเข้ ผักดองเอเชียอยู่ในประเภท “เป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง” และเครื่องดื่มร้อนจัด ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 65 องศาเซลเซียส (149 องศาฟาเรนไฮต์) ก็จัดอยู่ในประเภท “อาจเป็นสารก่อมะเร็ง”
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Seoul พิจารณาแล้วเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา สินค้าเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวเป็นผู้ที่ใส่ใจกับสุขภาพ แต่หลังจากมีข่าวเรื่องแอสปาร์แตมอาจจัดให้อยู่ในประเภท “เป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง”ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสุขภาพเกิดความกังวลและสับสนกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ จากหน่วยงานด้านสุขภาพ และอาจส่งผลระยะยาวถึงความเชื่อถือที่มีต่อหน่วยงานด้านสุขภาพ
ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ควรที่จะเน้นการผลิตสินค้าใช้สารจากธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการไทยที่ปัจจุบันผลิตเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีสารแอสปาร์แตม จำเป็นที่จะต้องเตรียมแผนเชิงป้องกัน โดยการปรับเปลี่ยนสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นสารประเภทอื่นปลอดภัยกว่า เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า และในระยะยาว อาจปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าโดยใช้สารจากธรรมชาติ หรือสารอื่นๆ ที่ไม่มีข้อสงสัยว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
********************************************************************
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Seoul
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล