DB Schenker  บริษัทโลจิสติกส์สัญชาติเยอรมัน จะเปิดศูนย์กลางโลจิสติกส์ไร้มลพิษแห่งใหม่ ในเขต Tampines สิงคโปร์ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2568 ศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งนี้ชื่อว่า RedLion2 มีพื้นที่กว่า 55,000 ตารางเมตรได้รับการออกแบบโดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงล่าสุดในการทำงาน เช่น ระบบสายพานลำเลียงอัจฉริยะ ระบบจัดเก็บและดึงข้อมูลอัตโนมัติ และยานพาหนะนำทางอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการดูแลสุขภาพ

 

 

บริษัท Schenker กล่าวว่า RedLion2 จะก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 600 คนในอีกเจ็ดปีข้างหน้าในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น กระบวนการอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เป็นต้น และจะเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท (มากกว่า 100 ล้านยูโร) นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางของสิงคโปร์ในการทดสอบแนวความคิดใหม่ ๆ ภายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) ภายใน RedLion2

 

นาย Chee Hong Tat รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การขยายบริษัทของ Schenker ในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการกระจายสินค้าและขนถ่ายสินค้าจากทั่วโลก สิงคโปร์มีแหล่งที่ตั้งทำเลที่ดี ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ท่ามกลางการฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการดำเนินธุรกิจ ระบบการเมืองที่มั่นคง หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุม และแรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี ล้วนแต่เป็นคุณลักษณะที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ มาดำเนินการในสิงคโปร์

 

นางสาว Catherine Soo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสิงคโปร์และมาเลเซีย บริษัท Schenker กล่าวว่า RedLion2 จะมีคุณสมบัติที่ยั่งยืนหลายประการ รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 4,000 แผง เพื่อให้เป็นโรงงานปลอดคาร์บอน สาเหตุที่บริษัท Schenker ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในสิงคโปร์มาจากโครงสร้างโลจิสติกส์ที่ดีของสิงคโปร์ ธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่ง และหลาย ๆ บริษัทจำนวนมากได้ย้ายหรือขยายฐานมายังสิงคโปร์ ในขณะที่บริษัท Schenker สามารถช่วยจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ทุกบริษัทเติบโตไปด้วยกัน

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

กระแสการทำธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญในการดำเนินงานที่เล็งเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจโลจิสติกส์ กระแส Green Logistics หรือการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นระบบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับงานโลจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการใช้พลังงานขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนและเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งต่าง ๆ กระแสของ Green Logistics คงจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์และภาคผู้ส่งออกจะต้องปรับตัวและให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

https://www.straitstimes.com/business/db-schenker-to-open-new-zero-emissions-logistics-hub-to-hire-600-people-in-s-pore-over-seven-years

en_USEnglish