กระทรวงเกษตรสหรัฐฯประกาศรายงานล่าสุดลงวันที่ 31 สิงหาคม 2023 คาดการณ์ว่าการค้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ (Outlook for U.S. Agricultural Trade: August 2023) ในปี 2023 และ 2024 ว่ามูลค่าส่งออกในปี 2023 และ 2024 จะลดลง ขณะที่มูลค่านำเข้าจะเพิ่มขึ้น

โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

คาดการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ
– ในปี 2023 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกที่ 177.5 พันล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 9.48 แต่มูลค่าส่งออกข้าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 เป็น 1.9 พันล้านเหรียญฯ
– ในปี 2024 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกที่ 172.0 พันล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 2023 ร้อยละ 3.09 การส่งออกข้าวคาดว่าจะมีปริมาณส่งออก 2.5 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 แต่เนื่องจากการตกต่ำของราคาข้าวทำให้มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 5.26 เป็น 1.8 พันล้านเหรียญฯ

 

คาดการณ์การนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ
– ในปี 2023 คาดการณ์มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 196.5 พันล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 เพียงร้อยละ 1.3

– ในปี 2024 คาดการณ์มูลค่านำเข้าจะเติบโตร้อยละ 2 เป็น 199.5 พันล้านเหรียญฯ เป็น
ผลมาจากความมั่นคงของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่สนับสนุนและกระตุ้นปริมาณนำเข้าคาดว่าในปีงบประมาณ 2024 สหรัฐฯจะเสียดุลการค้าสินค้าเกษตรประมาณ 27.5 พันล้านเหรียญฯ

โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา


– สหรัฐฯคาดการณ์ว่าแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญยังคงเป็นประเทศในภาคพื้นอเมริกาคือ แคนาดา เม็กซิโก และประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รองลงมาเป็นยุโรปและเอเซียตามลำดับ มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรประเทศไทยในปี 2023 คาดว่าจะเท่ากับ 3.1 พันล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 10.79 มูลค่าการนำเข้าในปี 2024 คาดว่าจะเท่ากับ 3.3 พันล้านเหรียญฯเติบโตร้อยละ 6.45

โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

ที่มา: United States Department of Agricultura; “Outlook for U.S. Agricultural Trade: August 2023”

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต ลอสแอนเจลิส
1. กระทรวงเกษตรสหรัฐฯกำหนดคำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่า “agricultural products – สินค้าเกษตร” ว่าคือ พืชผักและผลไม้สดทุกชนิด สินค้าแปรรูปจากพืชผักและผลไม้ทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มทุกประเภทที่ผลิตจากพืชผักผลไม้ สัตว์มีชีวิตทุกชนิดและสินค้าจากสัตว์ทุกชนิด แต่จะไม่รวมสัตว์ทะเลและสินค้าจากป่าไม้

 

2. เหตุผลสำคัญ 5 ประการที่สนับสนุนการเติบโตของการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ไปยังสหรัฐฯ คือ
2.1 สินค้าบางรายการสหรัฐฯไม่สามารถผลิตได้/ผลิตได้จำกัดไม่มากพอเพื่อการค้า เช่น ผักผลไม้เมืองร้อน
2.2 มีช่องว่างที่เป็นการขาดแคลนสินค้าตามฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ในสหรัฐฯไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้น้อยมากไม่พอเพียงต่อความต้องการ
2.3 สินค้านำเข้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมในพื้นที่เกษตรที่มีภูมิอากาศและสภาพดินที่เหมาะสมกว่า และค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ต่ำกว่า
2.4 สร้างหลักประกันให้ผู้ค้าในสหรัฐฯว่าจะมีสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักสด นำเสนอผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปี
2.5 ตัวแปรที่เป็นเรื่องการตลาดและค่าขนส่งจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสหรัฐฯอาจจะถูกกว่าค่าขนส่งระหว่างชายฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตกของสหรัฐฯ เช่น ค่าขนส่งจากเม็กซิโกหรืออเมริกากลางไปยังนครนิวยอร์คอาจถูกว่าค่าขนส่งจากแคลิฟอร์เนียไปยังนิวยอร์ค

 

3. ลักษณะสำคัญของสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯนำเข้า
3.1 เป็นสินค้าสำหรับการบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐฯ สินค้ากลุ่มนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ต่อเนื่องมามากว่าสิบปี เนื่องมาจากการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้มีความต้องการบริโภคพืชผักผลไม้สดตลอดทั้งปี ขณะที่ลักษณะภูมิอากาศของสหรัฐฯไม่เอื้ออำนวย เกินกว่าครึ่งหรือประมาณร้อยละ 56 ของสินค้าเกษตรนำเข้าสหรัฐฯ เป็นกลุ่มพืชผัก horticultural products รวมถึงผลไม้ ถั่ว(nuts) ผัก และเครื่องดื่ม รองลงมาร้อยละ 15 เป็นการนำเข้าสินค้าน้ำตาลและสินค้าเมืองร้อน (tropical products) เช่น กาแฟ โกโก้ และเครื่องเทศ ที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าอื่นๆ

3.2 เป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่สหรัฐฯต้องพี่งพาการนำเข้า ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูง (high value) ที่มีเงื่อนไขมาจากการแข่งขันสูงในการผลิต ฤดูกาลของสินค้า และความชอบของผู้บริโภค

4. สินค้าเกษตรนำเข้าแยกตามสัดส่วนร้อยละของการนำเข้ารวมทั้งสิ้นในระหว่างปี 2011 – 2021
โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

5. ตลาดสหรัฐฯมีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าเกษตรไทยกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปมากกว่ากลุ่มสินค้าเกษตรสด เนื่องจากกฎระเบียบกระทรวงเกษตรสหรัฐฯสร้างข้อจำกัดและความยุ่งยากในการส่งสินค้าเกษตรสดเข้าสหรัฐฯ คือ
5.1 การจำกัดชนิดของพืชผักและผลไม้สดที่อนุญาตให้นำเข้าในรูปสินค้าสดและกำหนดด่านนำเข้าที่อนุญาตนำเข้าได้

 

รายชื่อสินค้าผักและผลไม้สดที่สหรัฐฯอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศไทย

โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

ผลไม้สดที่สหรัฐฯอนุญาตนำเข้าที่เพิ่มเติมจากรายชื่อในตารางข้างบนคือ แก้วมังกร และ ส้มโอ ทั้งนี้ ผลไม้สดจากไทยที่สหรัฐฯอนุญาตให้นำเข้า 7 รายการคือ ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มะม่วง มังคุด แก้วมังกร และส้มโอ ต้องผ่านกระบวน treatment ด้วยการฉายรังสี ซึ่งเป็นความยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีผลกระทบต่อในทางลบต่อรูปลักษณ์และเนื้อของสินค้า

 

(2) สินค้าผักและผลไม้สด รวมถึงสินค้าผักผลไม้เมืองร้อน บางรายการสามารถผลิตได้ในสหรัฐฯ หรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของสหรัฐฯ เช่น เม็กซิโกและอเมริกาลาง ที่มีอำนาจแข่งขันสูง คือ สามารถนำเข้าสหรัฐฯได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า มีค่าใช้จ่ายในการผลิตและการขนส่งต่ำกว่า ทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปถึงสหรัฐฯมีความสด มีสภาพที่สมบูรณ์ และมีราคาถูกกว่าสินค้าที่เดินทางข้ามทวีป

โอกาสสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา

 

(3) สินค้าผักและผลไม้สดที่เป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมบริโภคสูงในตลาด mainstream สหรัฐฯ เช่น กล้วย และสินค้ากลุ่ม berry ต่างๆ เป็นสินค้าที่ประเทศไทยไม่มีหรือไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ ขณะที่ความต้องการสินค้าผักและผลไม้สดเมืองร้อนส่วนใหญ่จะมีแพร่หลายจำกัดเฉพาะในตลาด ethnic

 

(4) สินค้าผักและผลไม้สดมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและขนส่งสูง เน่าเสียได้ง่าย และมีราคาค้าปลีกสูง และหลายชนิดอาจจำเป็นต้องรู้วิธีการจัดการ วิธีรับประทาน และวิธีนำมาปรุงแต่งอาหาร

 

จากเหตุผลข้างต้น ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและสถานการณ์ตลาดการบริโภคสหรัฐฯในปัจจุบันที่ผู้บริโภคสหรัฐฯต้องการบริโภคอาหารจากผักและผลไม้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะที่ถูกแปรรูปเป็นสินค้าอาหารที่มีอายุเก็บไว้ได้นานและราคาถูกกว่าอาหารสด เช่น อาหารกระป๋องหรืออาหารแห้ง และสินค้าอาหารประเภท snack รูปแบบต่างๆที่ผลิตจากผักและผลไม้ จึงทำให้สินค้าผักและผลไม้แปรรูปมีโอกาสทางการค้าในตลาดสหรัฐฯที่สูงกว่าผักและผลไม้สด

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส (ข่าวประจำสัปดาห์ 11 – 15 กันยายน 2566)

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

en_USEnglish