จีนถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภคยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตยางธรรมชาติในประเทศยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในปี 2565 ผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศ อยู่ที่ 743,400 ตัน ลดลงร้อยละ 9.54 YoY และตั้งแต่ เดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ผลผลิตยางธรรมชาติในประเทศอยู่ที่ 174,000 ตัน ลดลงร้อยละ 0.6 YoY  ในปี 2565 ประเทศจีนมีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ 5.78 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 41 ของปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมดทั่วโลก จัดอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีการใช้ยางธรรมชาติมากที่สุดในโลก รองลงมา คือประเทศอินเดีย มีปริมาณการใช้ยาง 1.215 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 9 ของปริมาณการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมดทั่วโลก

 

เนื่องจากการผลิตยางธรรมชาติในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเพียงพอ จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ายางธรรมชาติจำนวนมากทุกปี โดยจีนนำเข้าจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย เป็นหลัก สถิติการนำเข้ายางธรรมชาติในปี 2565 มีดังนี้

 

สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมยางของจีนปี 2566

 

ในปี 2565 บรรดาประเภทยางธรรมชาติที่จีนนิยมนำเข้า ได้แก่ ยางผสม มีปริมาณการนำ 3.33 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55 ยางมาตรฐาน มีปริมาณการนำเข้า 1.7578 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 และ   น้ำยางธรรมชาติ มีปริมาณการนำเข้า 666,700 ตัน คิดเป็นร้อยละ 11 ของประเภทยางธรรมชาติทั้งหมด

 

ในด้านยางสังเคราะห์ ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2565 ผลผลิตยางสังเคราะห์ในประเทศอยู่ที่ 8.23 ล้านต้น ลดลงร้อยละ 5.7 YoY ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ผลผลิตยางสังเคราะห์ในประเทศอยู่ที่ 2.11 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 YoY และปริมาณการบริโภคยางสังเคราะห์อยู่ที่ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 YoY

 

การนำเข้ายางสังเคราะห์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจีนนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น      เป็นหลัก ตั้งแต่เดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2566 จีนนำเข้ายางสังเคราะห์ทั้งหมดอยู่ที่ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 YoY สถิติการนำเข้ายางสังเคราะห์จากต่างประเทศทั่วโลก ในปี 2565 มีดังนี้

 

สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมยางของจีนปี 2566

 

ในปี 2565 บรรดาประเภทยางสังเคราะห์ที่นิยมนำเข้า ได้แก่ ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber) มีปริมาณการนำเข้า 1.40 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ยางบิวตาไดอีน (Butadiene Rubber) มีปริมาณการนำเข้า 600,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.2 และ ยางเอทธีลีนโพรพิลีนไดอีน(Ethylene-Propylene Diene Rubber) มีปริมาณการนำเข้า 450,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12.2 ของประเภทยางสังเคราะห์ทั้งหมด

 

      แนวโน้มและการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในจีน ความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยางล้อ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมที่ต้องการบริโภคยางทั้งหมด รวมถึงการผลิตและการขายรถยนต์ทั่วโลกก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2566 การบริโภคยางล้อทั่วโลกจะสูงถึง 21.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 YoY นอกจากนี้ อุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ก็ยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปี 2566 การบริโภคถุงมือยางทางการแพทย์จะสูงถึง 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 YoY

 

อุตสาหกรรมยางต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากร ดังนั้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจึงเป็นวิธีสำคัญในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบัน นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยางมุ่งเน้นไปที่ 1). การพัฒนาพันธุ์และสูตรยางใหม่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาง ให้ตอบสนองความต้องการการใช้งานที่แตกต่างกัน 2). การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม ในการปรับปรุงผลผลิตและคุณภาพของยางธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3). การใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อบรรลุการผลิตที่สะอาด นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ประหยัดพลังงาน และลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

 

      ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการบริโภคยางมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยางธรรมชาติของจีนมีอยู่อย่างจำกัด และสินค้าในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด จีนจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้ายางจากต่างประเทศ โดยจีนพึ่งพาการนำเข้ายางคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 ซึ่งในประเทศจีนมีการใช้ยางพาราในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทำให้น้ำยางพาราของไทยที่ถือเป็นน้ำยางธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ได้รับการยอมรับจากผู้นำเข้าทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีต่อยางและผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยในการส่งออกมายังจีนเพิ่มมากขึ้น

 

จากสถิติศุลกากรจีน ประมวลผลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566     จีนนำเข้ายางทุกประเภท (HS Code 40 : Rubber And Articles Thereof) จากไทยมากเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการนำเข้า 3,826.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.66 YoY ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 2.57 ล้านต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.35 YoY (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.16 ของปริมาณการนำเข้ายางทั้งหมดของจีน) โดยมีการนำเข้าผ่านทางมณฑลซานตง เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ มากที่สุดตามลำดับ ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนก็เป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 มณฑลฝูเจี้ยนนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยปริมาณ 98,233.92 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.09 คิดเป็นมูลค่า 146.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 YoY

 

                       ที่มา:

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1772486780865328847&wfr=spider&for=pc

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

15 ธันวาคม 2566

en_USEnglish