สเปนรับผลความไม่สงบในทะเลแดง โรงงานยาง Michelin ประกาศหยุดผลิตชั่วคราว

บายาโดลิด – 5 มกราคม 2567 หนังสือพิมพ์ El País รายงานข่าวบริษัทยางสัญชาติฝรั่งเศส Michelin ประกาศหยุดผลิตยางล้อรถเป็นการชั่วคราวในวันที่ 20 และ 21 มกราคม 2567 ที่โรงงานสองแห่งในสเปน คือ บายาโดลิด (Valladolid) และอารันดา เด ดูเอโร ณ เมืองบัวร์โกส (Burgos) ส่วนโรงงานที่วิทอเรียได้เรียกประชุมสมาพันธ์แรงงานเพื่อหาแนวทางรับมือสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบยางพาราจากเอเชียที่นำมาใช้ในการผลิต อันเนื่องมากจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง

 

ในสัปดาห์ก่อนหน้า มิชลินได้ประกาศออกมารอบหนึ่งแล้วว่าจะต้องชะลอการผลิตยางล้อรถยนต์ที่โรงงาน 4 แห่งในสเปน ได้แก่ วิตอเรีย (Vitoria) ลาซาร์เต้ (Lasarte) อารันดา เด ดูเอโร ณ เมืองบัวร์โกส Aranda de Duero (Burgos) และบายาโดลิด Valladolid ซึ่งทำให้ต้องพักงานพนักงานจำนวนหนึ่งระหว่าง 29 ธันวาคม – 15 มกราคม เพราะไม่สามารถเดินสายพานการผลิตในกำลังเท่าเดิมได้ด้วยปริมาณยางพาราที่ลดลง

 

หลังปีใหม่ เมื่อสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย โรงงานที่บายาโดลิดจึงตัดสินใจพักการผลิตต่อไป โดยเป็นโรงงานผลิตยางผสม ยางล้อรถยนต์นั่ง และยางหล่อดอก เช่นเดียวกับโรงงานที่อารันดาฯ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ก็จะต้องหยุดการผลิตในช่วงวันที่ 20 และ 21 มกราคม 2567 เช่นเดียวกัน ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวของบริษัทมิชลิน

 

แนวทางนี้กำลังถูกนำไปพิจารณาใช้กับโรงงานที่วิตอเรีย ซึ่งประสบปัญหาขาดวัตถุดิบยางพาราเช่นกัน โดยโรงงานที่วิตอเรียนับเป็นโรงงานขนาดใหญ่ หากหยุดการผลิตจะกระทบพนักงาน 920 คน ที่อยู่ในส่วนการผลิตยางรถยนต์นั่ง ยางผสม และยางรถอุตสาหกรรม

 

การเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่งมายังยุโรปเพื่อเลี่ยงเส้นทางทะเลแดงและอ้อมไปยังแอฟริกาใต้แทนทำให้การขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาคใช้เวลานานขึ้นและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตยางของสเปน ขณะนี้มีเพียงโรงงานที่ลาซาร์เต้ ประกาศออกมาแล้วว่าจะพักงานพนักงานบางกะเฉพาะในวันศุกร์ กระทบต่อพนักงาน 45 – 500 ราย น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานแห่งอื่น

 

ข้อคิดเห็น สคต.


สคต. ประเมินว่าการชะลอกำลังการผลิตของโรงงานยางในสเปน อาทิ Michelin ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในทะเลแดง อาจส่งผลต่อการนำเข้ายางจากไทยใน 2 ฉากทัศน์ในระยะสั้นถึงระยะกลาง เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำเข้ายางพาราที่สำคัญของสเปน เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและจีน โดยฉากทัศน์แรก ส่งผลเชิงบวก กระตุ้นคำสั่งซื้อเพื่อสต๊อกสินค้าในระยะกลาง ทั้งนี้ ปัจจัยด้านราคายังเป็นความท้าทายในขณะนี้ ส่วนฉากทัศน์ที่สอง ส่งผลเชิงลบ ในระยะสั้นผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้นำเข้าอาจลดปริมาณการสั่งซื้อเนื่องจากความต้องการในตลาดไม่ขยายตัว และเกิดความซับซ้อนในการชำระเงินมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหารือกับคู่ค้าหรือผู้นำเข้าของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแผนรองรับในประเด็นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ผู้ประกอบการสเปนหลายรายยังอยู่ในช่วงพักผ่อนวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่และวันสามกษัตริย์ หากผู้ประกอบการไทยติดขัดในการประสานงานกับคู่ค้า สคต. พร้อมเป็นตัวกลางประสานกับฝ่ายสเปนให้ ติดต่อได้ที่ info@thaitradespain.com

 

ที่มา : El Pais และผู้นำเข้าสินค้าไทยในสเปน

 

Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Madrid

5 มกราคม 2567

en_USEnglish