สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการหาทางต่ออายุโปรแกรม Generalized System of Preferences (GSP)

โปรแกรม GSP (Generalized System of Preferences) ของสหรัฐฯไม่ใช่กฎหมายการค้า แต่เป็นโปรแกรมพิเศษ ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯสร้างเงื่อนไขด้านการค้า ด้วยการเลือกและกำหนดตัวสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาให้ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และประธานาธิบดีมีอำนาจในการเพิกถอน ยกเลิก และจำกัดการให้สิทธินำเข้าสินค้ารายการใดรายการหนึ่งโดยไม่ต้องเสียภาษีในช่วงเวลาใดๆ ทั้งนี้การพิจารณาตัดสินใจของประธานาธิบดีจะอยู่บนสิทธิและเงื่อนไขภายใต้กฎหมายมีกำหนดควบคุมไว้ เมื่อประธานาธิบดีตัดสินใจแล้ว การดำเนินงานบริหารจัดการโปรแกรมฯเป็นหน้าที่ของ Trade Policy Staff Committee ที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จาก U.S. Trade Representatives โดยมี U.S. International Trade Commission ทำรายงานเสนอประธานาธิบดีถึงผลกระทบของโปรแกรมฯที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโปรแกรมฯ และ U.S. Customs and Border Protection ทำหน้าที่บังคับใช้ GSP ในการนำเข้า

 

GSP เป็นโปรแกรมพิเศษด้านการค้าที่มีอายุยืนนานที่สุด เริ่มต้นโปรแกรมฯครั้งแรกในปี 1974 ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้เป็นโปรแกรมถาวร โดยกำหนดอายุโปรแกรมฯไว้เพียง 10 ปี อย่างได้ก็ตาม ได้มีการต่ออายุโปรแกรมฯถึง 14 ครั้ง การต่ออายุแต่ละครั้งจะนาน 2 – 3 ปี โปรแกรมฯล่าสุดได้หมดอายุลงแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 และนับแต่นั้นมาได้มีการถกเถียงหารือกันมาโดยตลอดเพื่อพยายามที่จะต่ออายุโปรแกรมอีก เหตุผลหลักคือ ความเชื่อว่าโปรแกรม GSP จะก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมากกับเศรษฐกิจสหรัฐฯปัจจุบัน กับผู้นำเข้าสหรัฐฯ กับผู้บริโภคสหรัฐฯ และตลาดแรงงานสหรัฐฯ และจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน กล่าวคือ

 

– กฎหมาย Section 301 ที่กำหนดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน ทำให้บริษัทสหรัฐฯจำนวนมากต้องแสวงหาแหล่งอุปทานใหม่ทดแทน และเมื่อโปรแกรม GSP หมดอายุลง บริษัทสหรัฐฯเหล่านี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับอัตราภาษีในระดับสูงที่สหรัฐฯเก็บจากสินค้านำเข้าจากประเทศแหล่งอุปทานที่สามารถเป็นทางเลือกอื่น

 

– สหรัฐฯเชื่อว่า โปรแกรม GSP จะช่วยสหรัฐฯให้สามารถลดระดับความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาจีนซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ GSP การต่ออายุโปรแกรม GSP จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรูปของห่วงโซ่อุปทานออกจากประเทศจีนไปยังห่วงโซ่อุปทาน nearshoring ได้ง่ายและรวดเร็ว

 

– โปรแกรม GSP จะช่วยเพิ่มอำนาจการแข่งขันให้กับผู้ผลิตและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ช่วยลดค่าใช้จ่ยในการผลิตและช่วยลดราคาสินค้า ที่จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค แรงงาน และธุรกิจในสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันความพยายามที่จะต่ออายุ GSP มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และได้รับการสนับสนุนร่วมกันจากนักการเมืองสหรัฐฯทั้งสองพรรค ดังนี้

 

– ในเดือนธันวาคมปี 2023 สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯสองนายจากรัฐวอชิงตันที่เป็นพรรคเดโมแครตและจากรัฐยูท่าห์ที่เป็นพรรครีพับบริกัน ได้นำเสนอร่างกฎหมายที่จะนำโปรแกรม GSP กลับมาใช้อีก และร่างกฎหมายได้ผ่านเข้าสู่รัฐสภาแล้วในเดือนมกราคม 2024 ร่างกฎหมายนี้จะไม่ต่ออายุโปรแกรม GSP ในรูปแบบเดิม ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ถ้ามูลค่าสินค้ารายการดังกล่าวอยู่ภายในระดับที่กำหนด (Competitive Need Limits – CNL) คือ 210 ล้านเหรียญฯ เมื่อมูลค่านำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเกินที่กำหนดไว้ สินค้าดังกล่าวจะเสียสิทธิพิเศษเรื่องภาษีนำเข้าและการนำเข้าจะต้องเสียภาษีตามปกติ กฎหมายฉบับนี้เสนอให้ปรับเปลี่ยนระดับ CNL ใหม่โดยให้เพิ่มเป็น 600 ล้านเหรียญฯ และให้เพิ่มมูลค่า CNL นี้ทุกปีในอัตราร้อยละ 5

 

– สมาชิกรัฐสภาหลายรายจากรัฐฟลอริด้าได้ออกมารณรงค์ให้มีการต่ออายุ GSP โดยสมบูรณ์ โดยระบุว่าการยกเลิกโปรแกรม GSP ทำให้เศรษฐกิจรัฐฟลอริด้าสูญเสียปีละประมาณ 300 ล้านเหรียญฯ

 

– สมาชิกรัฐสภาจากพรรคดิโมแครตจำนวน 11 ราย ได้เสนอร่างกฎหมายที่จะต่ออายุ GSP โดยสมบูรณ์ โดยมีเงื่อนไขว่า ผลประโยชน์จาก GSP ต้องผูกมัดอยู่กับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมในแนวทางเดียวกันกับที่มีอยู่ในข้อตกลง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement)

 

ที่มา : Reuters: “Possible revival of the Generalized System of Preferences and its effect on the trade industry”, by R. Kevin Williams และ Sally Alghazali, January 8, 2024

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจากสคต ลอสแอนเจลิส
มูลค่านำเข้า (ล้านเหรียญฯ) สินค้า 25 อันดับแรกจากประเทศไทย เริ่มต้นในปี 2020 ที่โปรแกรม GSP หมดอายุลง ถึง ปี 2023

สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการหาทางต่ออายุโปรแกรม Generalized System of Preferences (GSP)

 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

 

Overseas Trade Promotion Office นครลอสแอนเจลิส

ข่าวประจำสัปดาห์ 8-12 มกราคม 2566 

en_USEnglish