การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงและอ่าวเอเดน โดยกองกำลังฮูตี ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2566 ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ ร้อยละ 30 ของการขนส่งทางเรือคอนเทนเนอร์ทั้งโลกแล่นผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ
บริษัทขนส่งที่มีชื่อเสียง อาทิ Maersk และ CMA CGM ได้แก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการเลือกใช้เส้นทางอื่น โดยเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเรือผ่านทางแอฟริกาใต้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เวลาการขนส่งมากขึ้นประมาณ 2- 3 สัปดาห์
ระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้นผลกระทบต่อระบบการสั่งสินค้าเป็นอย่างมาก Martijn Tasma หัวหน้าฝ่ายขนส่งและขนส่งระหว่างประเทศของ Broekman Logistics คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสินค้าอุปโภคบริโภค ในเรื่องเวลาและค่าบริการขนส่งที่เพิ่มขึ้น การแออัดของตู้ container ที่ท่าเรือ รวมถึงการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
การหยุดชะงักในการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆด้วย เช่น บริษัทที่ต้องพึ่งพาการส่งมอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้ตรงเวลา ซึ่งจะนำไปสู่การหยุดชะงักของการผลิตและการขาดแคลนในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการค้าปลีก อาจแก้ไขได้โดยใช้การขนส่งทางเลือกเช่น การขนส่งทางรถไฟหรือการขนส่งทางอากาศ
ความเห็น สคต. การเลี่ยงเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง อ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮปแทนจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเล, ค่าประกันวินาศภัย และค่าบริการด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์ทางทะเลเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินค้าและระยะเวลาการขนส่งสินค้า อีกทั้งกระทบต่อการกลับมาของตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งตะวันตกมาเอเชียอีกด้วย ทั้งนี้ ความรุนแรงของสถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งจะทอดยาวไปนานเพียงใด หากสถานการณ์
ตึงเครียดในทะเลแดงยืดเยื้อออกไป ก็จะสร้างความเสียหายต่อการค้าโลกและจะยิ่งทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด
ที่มา : www.bloomberg.com
มกราคม 2567
Office of Commercial Affairs, Royal Thai Embassy (Thai Trade Center) - Pretoria