ร้านจำหน่ายทองคำและเครื่องประดับในนครเซี่ยงไฮ้ให้การสัมภาษณ์ว่า “ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาทองคำในร้านขายได้ดีมาก โดยมีการจำหน่ายทองคำแท่งมากที่สุดถึง 1,000 แท่งภายใน 1 วัน และมีลูกค้ารายหนึ่งซื้อเครื่องประดับทองมูลค่ากว่า 2 แสนกว่าหยวนในครั้งเดียว ถืงแม้ราคาทองคำช่วงนี้มีราคาสูงถึง 625หยวน/กรัมก็ตาม แต่ผู้บริโภคก็มีความพร้อมในการซื้อสินค้าดังกล่าว และสิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นกำลังกลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะบริโภคเครื่องประดับทองคำ หรือซื้อเพื่อการลงทุนก็ตาม”
จากรายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ปี 2023 ผู้ซื้อทองคำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 18 ถึง 34 ปี และมาจากเมืองชั้นหนึ่งและเมืองรอง ผู้บริโภครุ่นใหม่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คนรุ่นหลังปี 2000 ต่างตระหนักถึงคุณสมบัติของทองคำที่สามารถรักษาคุณค่าและจะมีการเพิ่มค่าเรื่อยๆ จึงมีความกระตือรือร้นในการบริโภคเครื่องประดับทอง
ความเป็นจริงชาวจีนนิยมบริโภคทองคำมาโดยตลอด และกระแสความนิยมีการขยายสู่ทุกวัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากราคาทองคำมีความแข็งแกร่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา การบริโภคทองคำจึงได้รับความนิยมมากกว่าเดิม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2024 สมาคมทองคำจีน ได้เปิดเผยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การบริโภคทองคำของประเทศในปี 2023 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาจากประเภทการบริโภค เครื่องประดับทองมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.97 ขณะที่บริโภคทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เมื่อเทียบกับผู้บริโภคทองคำก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากการซื้อทองคำแท่งและเครื่องประดับทองแล้ว วัยรุ่นสมัยนี้ยังหลงรัก “ถั่วทอง”ที่มีน้ำหนัก 1 กรัม ด้วยเพราะราคาไม่สูงมาก ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดีย ผู้คนต่างแข่งขันกันเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการกักตุน “ถั่วทอง” จึงมีคำพูดว่า “ถ้าคุณเก็บถั่วได้เดือนละหนึ่งเม็ด คุณจะมี 12 กรัมต่อปี” หรือบางคนพูดว่า “ถ้าคุณเก็บถั่วได้ 500 เม็ดก็ไปแลกกับรถยนต์ 1 คันได้” หรือผู้ที่ซื้อเพื่อเป็นการลงทุนในระยะยาวมีความคิดว่า วิธีดังกล่าวถือว่าเป็นอีกวิธีที่สนุกและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการฝากเงินเข้าธนาคาร
ตั้งแต่สมัยโบราณ ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและมีอำนาจ ปัจจุบันนี้ ทองคำได้กลับมาดึงดูดสายตาคนหนุ่มสาวอีกครั้งอย่างประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นลูกปัดหรือถั่วทองคำเล็กๆ ที่ซื้อเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่และวันเกิด หรือเครื่องประดับทองคำชิ้นใหญ่ที่ซื้อในโอกาสต่างๆ เช่น งานแต่งงาน และส่งของขวัญ ซึ่งมีการแสดงแนวคิดการเก็บเงินของชาวจีนในยุคสมัยใหม่ที่ว่า “สำรองทองไว้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่”
คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะไม่ได้ติดตามกระแสอย่างไม่คิดตริตรอง แต่จะยึดความมั่งคั่งในการถือครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดการบริโภคของคนหนุ่มสาวมีเหตุผลมากขึ้น “การลงทุนทองคำ” เหมือนลงทุนกับตัวเอง ดังนั้น ทองคำจึงกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่ามั่งคั่งมากกว่ากระเป๋าแบรนด์เนม
ในช่วงไม่กี่ไปที่ผ่านมา ความมั่นใจในตนเองและความชื่นชอบวัฒนธรรมประเทศกลายเป็นกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การแต่งชุดราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นฝู) จนถึงการฝังดนตรีดั้งเดิม คนหนุ่มสาวค่อยๆ ค้นพบเสน่ห์และความงดงามของวัฒนธรรมดั้งเดิม ในบริบทนี้ เครื่องประทับทองคำ ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่มีมายาวนานของชาวจีนก็เป็นหนึ่งในกระแสความนิยม ด้วยทองคำโบราณ ซึ่งเน้นเทคนิคการหล่อทองโบราณ เป็นงานฝีมือและได้รับการจัดอันดับให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยงานฝีมือแบบดั้งเดิม เช่น การแกะสลัก การทอ การตอก และการฝังลวดลายทองคำโบราณ จึงมีความประณีตสวยงามและหรูหรากว่าเครื่องประดับทองคำทั่วไป แม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูงแต่วัยรุ่นหลายคนก็ยังชอบ
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แบรนด์ทองคำบางแบรนด์ยังได้ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์เพื่อเปิดตัวโมเดลร่วมแบรนด์รุ่นลิมิเต็ด โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์กลายเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับทอง เช่น การแกะสลักลวดลายรุ่ยอี้ ลายนกยูง ลายทับทิมบนทองคำ ทำให้ทองคำมีความสวยงาม ตั้งแต่สไตล์ไปจนถึงความหมายแฝงทางวัฒนธรรม ส่งผลให้คนหนุ่มสาวชื่นชมความหรูหราแบบจีนอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น สคต.ณ เมืองหนานหนิง ทองคำและเครื่องประดับกำลังเป็นสินค้าที่นิยมมากในตลาดจีน และสังเกตได้ว่า กลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในหัวเมืองและเมืองรองของจีนกลายเป็นกำลังสำคัญในการสั่งซื้อ ทองคำและเครื่องประดับจากสินค้าที่ล้าสมัยกลับมาเป็นสินค้าเนื้อหอมของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่มีเหตุผลมากขึ้นของชาวจีน นอกจากนี้ ทองคำโบราณที่มีการผสมผสานฝีมือดั้งเติมและกระแสความนิยม อันเป็นผลที่ได้จากวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่สำคัญ โดยที่ประเทศไทยขึ้นชื่อในสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ มีจุดแข็งด้านการออกแบบที่สวยงาม ความประณีตของงานฝีมือช่าง และเอกลักษณ์รูปแบบงานของไทย อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภคชาวจีนในการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจทำตลาดจีน ควรติดตามสถานการณ์ตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด
—————————————————————————————————-
Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Nanning
แหล่งที่มา
https://sghexport.shobserver.com/html/baijiahao/2024/02/19/1258062.html