📰 ข่าวเด่นประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฮังการี นาย István Nagy แถลงในโอกาสที่ฮังการีจะรับตำแหน่งประธานสภาแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the European Union) ช่วงเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม 2567 ว่า รัฐบาลฮังการีให้ความสำคัญที่ต้องการผลักดันในระดับสหภาพฯ เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานความมั่นคงทางอาหารของทุกประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นฐานการผลิตและกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ชนบทให้เจริญเติบโต อันประกอบด้วย

 

    1. การควบคุมการผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ หรือเนื้อสัตว์เทียม อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองการทำการเกษตรและปศุสัตว์แบบดั้งเดิม
    2. อาหารที่ทำจากพืช เช่น เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืช (Plant-based Meat) และนมจากพืช (Plant-based Milk) ยังไม่เข้าข่ายที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันยังสามารถจำหน่ายได้ในตลาดสหภาพยุโรป เพียงแค่ต้องระบุบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจนว่าสินค้านี้เป็นนมหรือเนื้อที่ทำจากพืช มิให้เกิดความสับสน

ก่อนหน้านี้ ช่วงปลายปี 2566 อิตาลีเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าเนื้อสังเคราะห์ในประเทศ เพื่อปกป้องมรดกทางการเกษตรและอาหารของอิตาลี รักษาความหลากหลายทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร รวมถึงรักษาตำแหน่งงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งรัฐบาลฮังการีก็มีแนวคิดคล้ายกับนโยบายของรัฐบาลอิตาลีในประเด็นนี้ จึงต้องการผลักดันประเด็นนี้ในเวทีสหภาพยุโรป และจูงใจประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้เห็นคล้อยตาม

 

    1. รัฐบาลฮังการียังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ข้อที่ 12.3 โดยที่ผ่านมา ฮังการีสามารถลดปริมาณขยะอาหารในครัวเรือนได้ถึง 27% ภายใน 6 ปี และรัฐบาลฮังการีตั้งใจจะนำประเด็นการแก้ปัญหาขยะอาหารเป็นหัวข้อการหารือหลักในเวทีประชุมนานาชาติระดับสหภาพฯ ช่วงเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย
    2. เพิ่มการคุ้มครองสวัสดิภาพและสุขอนามัยของสัตว์ ในสถานที่เพาะพันธุ์เพื่อการพาณิชย์ สถานที่จำหน่ายสัตว์ ตลอดจนกระบวนการขนส่งและเคลื่อนย้าย ครอบคลุมทั้งสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ที่มีชีวิต และผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์ (Products of Animal Origin)
    3. เน้นย้ำความสำคัญของอาหารปลอด GMO และสนับสนุนให้สหภาพยุโรปทบทวนเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายควบคุมสินค้ามีส่วนประกอบจาก GMO

 

ในปัจจุบัน สหภาพยุโรป มีสินค้า GMO จำนวน 49 รายการที่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายได้ แบ่งเป็นหัวข้อหลักๆ ได้แก่ (1) พืช GMO ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกในสหภาพฯ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่มิใช่อุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ ข้าวโพดสายพันธุ์ MON 810 และมันฝรั่งสายพันธุ์ Amflora และ (2) สินค้าจากพืช GMO ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า สำหรับใช้เป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ได้แก่ หัวบีทน้ำตาล 1 ประเภท ถั่วเหลือง 7 ประเภท เมล็ดเรปซีดสำหรับสกัดน้ำมัน 3 ประเภท ฝ้าย 8 ประเภท และข้าวโพด 26 ประเภท เป็นต้น อย่างไรก็ดี นโยบายเกี่ยวกับพืช GMO ของสหภาพยุโรปยังไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศสมาชิกสหภาพฯ ทั้ง 27 ประเทศ มีจุดยืนไม่ตรงกัน แบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่สนับสนุนพืช GMO เช่น สเปน โปรตุเกส โรมาเนีย เช็ก และสโสวาเกีย และประเทศที่ต่อต้านและห้ามเกษตรกรในประเทศเพาะปลูกพืช GMO เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย บัลแกเรีย ฮังการี ลัตเวีย เป็นต้น

 

ฮังการีเป็นประเทศแรกๆ ในสหภาพยุโรปที่มีกฎหมายเฉพาะ เพื่อควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของสินค้าเกษตรกรรม โดยห้ามปลูกพืช GMO ในประเทศ ดังนั้น สินค้าเกษตรกรรมของฮังการีจึงเป็นสินค้าปลอด GMO อันเป็นจุดขายที่สำคัญของฮังการี เมื่อวาระการเป็นประธานสภาแห่งสหภาพยุโรปเวียนมาถึงฮังการี รัฐบาลฮังการีจึงตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันการควบคุมพืช GMO ในเวทีนานาชาติภายในปี 2567 ให้ได้

 

การที่รัฐบาลฮังการีมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบายนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Farm to Fork Strategy ภายใต้นโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืน เป็นธรรม มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด ไปจนถึงการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ เพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสีเขียว

 

อนึ่ง ตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเป็นตำแหน่งหมุนเวียนทุกหกเดือน โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจะผลัดกันเป็นประธานฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เบลเยี่ยมเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวต่อจากสเปน และจะส่งมอบต่อให้ฮังการีในวาระถัดไปช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ตำแหน่งดังกล่าวรับผิดชอบการดำเนินการของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป อันประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จาก 27 ประเทศสมาชิก ตามสาขาของนโยบายที่หารือ มีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติร่วมกับรัฐสภายุโรป และเป็นเวทีสำคัญในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ ตลอดจนดูแลนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ฉะนั้น ตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพฯ และมีอิทธิพลในการผลักดันการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ เห็นว่าสำคัญ ในเวทีนานาชาติ

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วยุโรปกำลังเผชิญกับเหตุการณ์การประท้วงของกลุ่มเกษตรกร ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศเร่งแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ อันเนื่องมาจากสินค้าจากนอกสหภาพฯ ที่มีราคาต่ำกว่า เข้ามาตีตลาด และขอให้สหภาพยุโรปทบทวนร่างระเบียบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ที่แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร

 

ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลฮังการีมุ่งจะผลักดันในเวทีสหภาพยุโรปปลายปีนี้ จึงเป็นการพยายามสนับสนุนและให้ความเป็นธรรมแก่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรในท้องถิ่น อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวยุโรป เพื่อให้พลเมืองชาวยุโรปมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทว่าก็มีความท้าทายในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากหากประเทศสมาชิกอื่นๆ มีความเห็นโน้มเอียงตามฮังการี สหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มจะเพิ่มความเข้มงวดของการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่มาจากนอกสหภาพฯ ซึ่งอาจเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตและส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเนื้อสังเคราะห์ ซึ่งแม้จะเป็นเทรนด์อาหารอนาคตที่กำลังมาแรง แต่ก็มีโอกาสเข้าสู่ตลาดน้อยลง หากฮังการีสามารถผลักดันประเด็นดังกล่าวให้กับประเทศในสหภาพฯ ได้

 

ที่มาของข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
กุมภาพันธ์ 2567

en_USEnglish