กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ในปี 2567 ความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศจะต่ำสุด  เป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ปริมาณ 6.71 ล้านตัน โดยลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 11 ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความต้องการลดลงปีละกว่า 100,000 ตัน ในปี 2567 ปริมาณผลผลิตข้าวของญี่ปุ่นประเมินว่าจะอยู่ที่ 6.69 ล้านตัน

ปริมาณการบริโภครายหัว/ปี คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 54.2 กิโลกรัม ลดลง 600 กรัม เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยผลสำรวจของบริษัทผลิตอาหารแปรรูป Fujicco พบว่า ชาวญี่ปุ่น ช่วงอายุระหว่าง 20 – 69 ปี ให้ความสำคัญกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารมากที่สุด รองลงมาคือ ไขมัน และ โปรตีน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษารูปร่าง (ร้อยละ 40) รองลงมา คือ สุขภาพและการป้องกันโรค และการควบคุมอาหาร (diet) จากเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้การบริโภคโปรตีนในแต่ละมื้ออาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต และไขมัน เพื่อรักษาสุขภาพ และรูปร่าง ในการนี้ อาหารที่ผู้บริโภคญี่ปุ่นหลีกเลี่ยง หรือกังวลใจที่จะบริโภคสองอันดับแรก คือ ข้าว (ร้อยละ 44) และอาหารทอด (ร้อยละ 41) รองลงมา คือ ขนม หรือบะหมี่ (ราเมง) ซึ่งมีภาพลักษณ์ของความ “unhealthy”

ชาวญี่ปุ่นลดการบริโภคข้าว ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวสาลีมากขึ้น โดยเฉพาะขนมปัง และบะหมี่ ทั้งนี้ จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณการบริโภค

———————————————————————————————-

ที่มา : https://www.nippon.com/en/japan-data/h01922/

https://sp.m.jiji.com/english/show/29095

en_USEnglish