แนวโน้มเศรษฐกิจโลก
มุมมองทางเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงมองโลกในแง่ดีแต่ต้องมีความระมัดระวัง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 2567 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยศักยภาพในการผลิตมีแนวโน้มลดลง และด้านการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นจากผลกระทบ อาทิ ความขัดแย้งในชนวนกาซา เป็นต้น ทำให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลกับสภาพเศรษฐกิจโลก โดยราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงขึ้นไปที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ยอดขายค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2567 เติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังเข้มแข็งและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พบว่ายอดขายค้าปลีก (โดยยังไม่ปรับอัตราเงินเฟ้อ) ของเดือนมีนาคม 2567 เติบโตร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า
นอกจากนี้ ยอดขายค้าปลีกที่ไม่รวมการบริการร้านอาหาร ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ร้านวัสดุก่อสร้างและสถานีให้บริการน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของเดือนมีนาคม 2567 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า
การคาดการณ์ของสำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (Congressional Budget Office) ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 97 และคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 116 ภายในปี 2577 แต่หากนำปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยมาร่วมพิจารณาพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 123 ในปี 2577 และหากในอนาคตมีมาตรการปรับลดภาษีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นอีก
คำปราศรัยของประธานาธิบดีไบเดนระหว่างการหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนียได้กล่าวว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความแข็งแรงมากที่สุดในโลก แต่ในการประชุมผู้นำทางการเงินของโลกบนเวทีของ IMF กลับมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวนเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากนโยบายทางการเงินในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและทำให้สกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลง
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนทราบว่า ทางธนาคารกลางฯ จะขอใช้เวลามากขึ้นในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่กลับไปสู่อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจะมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งเพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตร้อยละ 2.7 ในปี 2567 และเติบโตร้อยละ 1.9 ในปี 2568 โดยเติบโตเพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้
นาย Andrew Hunter รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยตลาด Capital Economics กล่าวว่าเหตุผลที่ Fed ชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้องการมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งเพียงพอ Fed จึงต้องการติดตามการฟื้นตัวของการจ้างงานและความเข้มแข็งของการบริโภค ซึ่งนาย Andrew Hunter คาดว่า Fed จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเดือนกันยายน 2567
การดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากด้านอุปทานของเศรษฐกิจ เช่น การจัดการกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การให้ผู้อพยพเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจได้ทำให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจาก Fed ของรัฐฟิลาเดเฟียพบว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตของชาวอเมริกันในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 สูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยมีร้อยละ 3.5 ของยอดชำระหนี้ทั้งหมดที่เลยกำหนดชำระมากกว่า 30 วัน และมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ใช้บัตรเครดิตทั้งหมดที่จะชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือน นอกจากนี้ คะแนนเครดิต (Credit Score) ของเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 และที่ 25 ของปี 2567 ได้ลดลงใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของภายในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของต่างประเทศอ่อนค่าลง และยังทำให้ชาวอเมริกันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากต้นทุนทางการเงินมากขึ้น จึงทำให้นักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไม่ช้านี้เพื่อผ่อนคลายความกดดันทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ที่อาจกระทบเศรษฐกิจและสังคมในสหรัฐฯ เพื่อวางแผนการดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันตามการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลอ้างอิง: Bloomberg