อาณาจักรค้าปลีก Loblaw ถือเป็นผู้นำค้าปลีกอันดับ 1 ในแคนาดา ซึ่งถือครองสัดส่วนธุรกิจค้าปลีกในประเทศถึง 1 ใน 3 ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด กำลังเผชิญกระแสโจมตีจากกลุ่มลูกค้าชาวแคนาเดียนในการเข้าร่วมบอยคอตจับจ่ายซื้อสินค้าจากห้างในเครือตลอดเดือนพฤษภาคม เนื่องมาจากความไม่พอใจที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงมาก จนสร้างความเดือดร้อนกับผู้บริโภคในประเทศกันถ้วนหน้า ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นมากในรอบหลายๆ ปี ซึ่งชาวแคนาดาส่วนใหญ่มองว่าบริษัทมีการเอาเปรียบมากเกินไป และค้ากำไรเกินควรไปหรือไม่
ล่าสุดกลุ่ม Loblaw Company Ltd. ได้มีการแสดงผลประกอบการทางการเงิน (ณ วันที่ 6 พ.ค. 67) พบราคาหุ้นปัจจุบันของบริษัทอยู่ที่ $155.48 ถือเป็นระดับราคาหุ้นสูงสุดที่มีการเติบโตดีมากหากเทียบกับราคาหุ้น $62.58 เมื่อระยะเวลา 5 ปีก่อนหน้า จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวแคนาดาหลายคน จนต้องมีการออกมาเรียกร้องตรวจสอบในความเอาเปรียบของบริษัทกับเรื่องดังกล่าว
โดยในกลุ่มคอมมูนิตี้บนเว็บบอร์ด Reddit แคนาดา ได้มีสมาชิกเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำกำไรของห้าง Loblaw โดยในโพสต์ดังกล่าวว่า “Loblaw is out of control” ซึ่งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีสมาชิกบนเว็บบอร์ดเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 67,000 ราย และบางส่วนสนับสนุนที่จะเข้าบอยคอตการซื้อสินค้าและใช้บริการจากร้านค้าในเครือ Loblaw อาทิ Superstore, No Frills และอื่นๆ ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้บริษัททำการลดราคาสินค้าภายในห้าง 15%
จากจุดเริ่มต้นความเคลื่อนไหว #BoycottLoblaws จากผู้บริโภคสังคมกลุ่มเล็กเริ่มได้ขยายตัวความสนใจในแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ อาทิ X (Twitter เดิม) และ TikTok เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย จนผู้บริหารกลุ่ม Loblaw Company Ltd. ได้เกรงต่อความเสียหายต่อภาพลักษณ์กิจการจนต้องเข้าชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาจากสังคม
ซึ่งนาย Galen Waston ซีอีโอบริษัท Loblaw กล่าวว่า การวิพาก์วิจารณ์และความเคลื่อนไหวบอยคอตของบริษัทนั้นเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่มีความเข้าใจกับความขุ่นเคืองของชาวแคนาดาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งการที่กลุ่ม คอมมูนิตี้เลือกที่จะโจมตีกับห้างในเครือ Loblaw เนื่องจากเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนั้นแล้ว ซีอีโอยังกล่าวว่า สภาวะเงินเฟ้อและสินค้าแพงนั้นก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้มาจาก Loblaw เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ทางห้างพยายามทำงานอย่างเต็มที่ที่จะนำเสนอสินค้าและราคาที่ดีที่สุดต่อลูกค้า ด้วยการจัดหาสินค้าตราเฮ้าส์แบรนด์ในราคาที่ถูกกว่าสินค้าแบรนด์ทั่วไป เปิดร้านค้าปลีกขายสินค้าลดราคา (Discount Store) มีโปรโมชั่นสินค้าต่างๆ รวมไปถึงการต่อรองขึ้นราคาสินค้าจากผู้ผลิต
ขณะที่ทางด้านผู้เชี่ยวชาญนาย Sylvain Charlebois ผู้อำนวยการศูนย์ Agri-Food Analytics Lab มหาวิทยาลัย Dalhousie แคนาดา เห็นว่า การปรับขึ้นราคาสินค้ามักจะมาจากข้อตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นหลัก คือ ผู้ผลิตและร้านค้าปลีก ซึ่งหากผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตอาหารหรือสินค้าเพิ่มขึ้น และร้านค้าปลีกเองก็มีการขอปรับขึ้นค่าวางสินค้า (Shelves fees) จากผู้ผลิต ย่อมทำให้ราคาสินค้าโดยรวมปรับขึ้นทั้งหมดและผลักภาระให้ผู้บริโภคต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้าง Loblaw ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นเช่นกัน เพราะค่าวางสินค้า (Shelves fees) ที่ปรับขึ้นมานั้น เป็นเพราะสภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในแคนาดาถูกควบคุมอยู่ในบริษัทเพียงไม่กลุ่ม ทำให้ Loblaw มีอำนาจในการต่อรองมากเกินไป นาย Sylvain จึงแนะให้ผู้บริโภคให้การสนับสนุนร้านค้าปลีกเล็กๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือมากกว่าการบอยคอท Loblaw เนื่องจากอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากนัก
อย่างไรก็ดี แม้ชาวแคนาดาจำนวนมากจะยอมรับว่าการบอยคอทห้าง Loblaw จะไม่เห็นผลลัพธ์อะไรอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจำนวนร้านค้าในเครือ Loblaw ที่มีอยู่จำนวนมากจนเรียกได้ว่าเกือบครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศเกือบทุกชุมชน และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกประเภท จึงเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะไม่ไปใช้บริการของอาณาจักรค้าปลีกอันดับ 1 ของแคนาดาได้
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
ประเด็นการบอยคอตร้านค้าปลีกของ Loblaw นั้น ถือเป็นการส่งสารไปสู่ห้างค้าปลีกรายอื่นที่อยู่ในกลุ่มเรียกว่า Big 5 ได้แก่ Loblaw, Sobeys, Metro, Walmart และ Costco เพื่อแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจต่อราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงต้องการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลรับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อหวังเข้ามาแก้ไขโดยเร็ว อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการบอยคอท Loblaw ครั้งนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้นำเข้าสินค้าใดๆ แต่ทางสำนักงาน เห็นว่า ผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิด และพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีเสมอ เพื่อพร้อมรับการปรับเปลี่ยนในทิศทางได้ในทุกเวลา และเหมาะสมกับสภาพที่เป็นไปของเศรษฐกิจในแคนาดาต่อไป
ที่มาของบทความ https://www.cbc.ca/news/business/loblaws-boycott-canada-1.7164506