รูปแบบ Nearshoring ของสหรัฐฯ

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนทำให้การค้าระหว่างประเทศมีการปรับตัว โดยสหรัฐฯ ได้พยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากคู่แข่งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และได้สั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่มีสถานที่ตั้งใกล้กับสหรัฐฯ มากขึ้น โดยข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าร้อยละ 80 ของบริษัทในภูมิภาคอเมริกาเหนือมีแนวโน้มที่จะย้ายการทำธุรกิจไปยังประเทศในพื้นที่ใกล้เคียง (Nearshoring) เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ ลดต้นทุนการขนส่ง หรือเพื่อใช้ประโยชน์ของข้อตกลงทางการค้า ซึ่งทำให้สหรัฐฯ หันมาทำการค้ากับประเทศเม็กซิโกมากขึ้น และสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากเม็กซิโกปัจจุบันแซงหน้าการนำเข้าจากจีนแล้ว

 

รูปแบบ Nearshoring ของสหรัฐฯ

 

นอกจากเม็กซิโกจะมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในปี 2566 ค่าเงินเปโซของเม็กซิโกยังแข็งแกร่งที่สุดในโลกและตลาดหุ้นของเม็กซิโกมีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 จากปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้ประมาณการก่อนที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla จะเข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเพื่อสร้างโรงงานเป็นมูลค่าถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากมีการลงนามความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement: NAFTA) ในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้เม็กซิโกดึงดูดนักลงทุนเข้าไปมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเม็กซิโกมีโอกาสหลายครั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างความตกลง NAFTA หรือ Nearshoring ที่จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเม็กซิโกกลับไม่ได้มีการเติบโตเท่าที่ควร

 

ปี 2537 ที่ความตกลง NAFTA มีผลบังคับใช้ เศรษฐกิจเม็กซิโกมีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปีซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เม็กซิโกมีทั้งอุปสรรคเดิมและใหม่ที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่มากเท่าที่ควร รัฐบาลของประธานาธิบดี Andrés Manuel López Obrador มีความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่หลายครั้งเนื่องจากรัฐบาลพยายามเพิ่มบทบาทของตนเองในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ บริษัทในเม็กซิโกจึงลังเลที่จะกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุน ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากนี้ เม็กซิโกยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าจากประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในการเป็นซัพพลายเออร์ให้กับสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ พยายามชะลอการค้ากับจีน รวมทั้งปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ เช่น ความไม่เพียงพอของพลังงาน พื้นที่อุตสาหกรรมที่จำกัด และการขาดแคลนน้ำ เป็นต้น

 

นาย Pedro Campa Eliopulos ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของบริษัท Quanta Computer Inc. จากไต้หวันเล่าว่าเมื่อ 3 ปีก่อน ที่บริษัท Tesla เปิดโรงงานในรัฐเท็กซัสและหาซัพพลายเออร์จากพื้นที่ใกล้เคียงในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมรถยนต์ไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าจากจีน ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัท Tesla บริษัท Quanta Computer Inc. ได้ตั้งโรงงานในเมือง Monterrey ของรัฐ Nuevo León ในเม็กซิโก อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้การจ่ายไฟของเม็กซิโกยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงงานไฟดับอยู่บ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิต บริษัทจึงมีแนวโน้มที่จะหาแหล่งการผลิตใหม่ที่ใกล้กับสหรัฐฯ ในอนาคต

 

เมืองที่ใกล้กับชายแดนสหรัฐฯ มีแนวโน้มการเติบโตทางอุตสาหกรรม

รูปแบบ Nearshoring ของสหรัฐฯ

 

ข้อมูลจากที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CBRE พบว่าพื้นที่อุตสาหกรรมในเม็กซิโกมีแนวโน้มเพิ่มร้อยละ 30 จากปี 2562 เห็นได้จากโรงงานในเมือง Monterrey ได้ถูกขายหมดก่อนที่โรงงานจะสร้างเสร็จ พื้นที่อุตสาหกรรมในเม็กซิโกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานและขยายกำลังการผลิตมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเร่งในการจัดหาชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ให้กับบริษัท Tesla เช่น บริษัท AGP Group ผู้ผลิตกระจกบังลม บริษัท DSBJ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน บริษัท Brembo SpA ผู้ผลิตชิ้นส่วนเบรกของอิตาลี เป็นต้น

 

บริษัทมากกว่า 30 บริษัทได้ย้ายการผลิตไปยังรัฐ Nuevo León ในเม็กซิโกหลังบริษัท Tesla ประกาศว่าจะมีการสร้างโรงงานในรัฐเท็กซัสและรัฐ Nuevo León นาย Iván Rivas Rodríguez รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวว่าบริษัท Tesla ได้บอกกับคู่ค้าว่าให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ภูมิภาคอเมริกาเหนือ

 

นอกจาก บริษัท Tesla แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ อย่างบริษัท General Motors บริษัท Kia Motors และบริษัท BMW ได้ประกาศที่จะมีการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเม็กซิโกเช่นเดียวกันตั้งแต่ต้นปี 2564 รวมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านก็ได้ขยายฐานการผลิตไปยังตอนกลางของเม็กซิโก อุตสาหกรรมการบินและอวกาศและพลาสติกกำลังเติบโตในตะวันตกของเม็กซิโกที่ใกล้กับพรมแดนรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

รูปแบบ Nearshoring ของสหรัฐฯ

 

พื้นที่อุตสาหกรรมในเม็กซิโกเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากสมาคมพื้นที่อุตสาหกรรมเม็กซิโก (Mexican Association of Private Industrial Parks) พบว่าอัตราการว่างงานของเม็กซิโกลดลงเหลือร้อยละ 2.1 ในปี 2565 การเช่าในพื้นที่อุตสาหกรรมในเมือง Monterrey โดยทั่วไปมีข้อผูกพันระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี และพบว่าผู้เช่า 3 ใน 4 เป็นบริษัทต่างชาติ จากการสำรวจของธนาคาร BBVA สัญชาติสเปนพบว่า 1 ใน 5 ของผู้เช่ารายใหม่เป็นบริษัทจากจีนที่กำลังมองหาการนำเข้าโดยหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ

 

รูปแบบ Nearshoring ของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ทรัพยากรธรรมชาติในรัฐ Nuevo León ไม่เพียงพอต่อการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยภัยแล้งปี 2565 ทำให้ประชาชนหลายพันคนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น เพื่อให้น้ำเพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภคของประชาชน อุตสาหกรรมในพื้นที่จึงได้รับการปันส่วนน้ำจากภาครัฐในจำนวนที่จำกัด ทั้งนี้ ภาครัฐได้เร่งสร้างท่อระบายน้ำใหม่เพื่อส่งน้ำไปยังเมือง Monterrey

 

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าหากไม่มีนโยบาย Nearshoring เศรษฐกิจของเม็กซิโกอาจไม่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ธนาคาร Banco Base SA สัญชาติเม็กซิโกให้ข้อมูลว่าสินเชื่อในเม็กซิโกมีการขยายตัวร้อยละ 75 ในช่วงปี 2562-2566 ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มากขึ้น Ms. Gabriela Siller ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคาร Banco Base SA กลับกังวลว่าเม็กซิโกจะไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนเท่าที่ควร ถึงแม้ว่า Nearshoring จะเป็นโอกาสของเม็กซิโก แต่เม็กซิโกอาจไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงและเศรษฐกิจอยู่นอกระบบสูง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถใช้สินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจได้ โดยบริษัทท้องถิ่นมีแนวโน้มไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้เท่ากับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ และการลงทุนมักจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง เช่น รัฐ Nuevo León เป็นต้น

 

ประโยชน์ของ Nearshoring ของสหรัฐฯ

  • ต้นทุนในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ –ประเทศในละตินอเมริกามีแนวโน้มว่าค่าแรงจะต่ำกว่า ข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าค่าแรงของพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคละตินอเมริกาน้อยกว่าค่าแรงของพนักงานในเอเซีย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และน้อยกว่าการจ้างงานในสหรัฐฯ ร้อยละ 20-40 นอกจากนี้ รูปแบบ Nearshoring ยังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าเดินทางที่ลดลง เป็นต้น
  • การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน – การมีฐานการผลิตที่ใกล้กับตลาดทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยลง และมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้นกรณีที่ต้องประชุมแบบพบหน้าหรือเดินทางไปยังประเทศ Nearshoring รวมทั้งการที่ประเทศอยู่ในโซนเวลาเดียวกันจะทำให้สามารถสื่อสารได้อย่างทันที รวมทั้งการลดข้อจำกัดทางภาษาที่ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การปฏิบัติตามกฎระเบียบ – ประเทศ Nearshoring มีแนวโน้มที่จะมีการกำกับดูแลและกฎระเบียบที่คล้ายกันกับสหรัฐฯ และประเทศละตินอเมริกามีการทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ มากว่าทศวรรษ มีความคุ้นเคยในเรื่องของกฎระเบียบสหรัฐฯ เป็นอย่างดี

 

ความท้าทายของ Nearshoring ของสหรัฐฯ

  • ต้นทุนในการผลิต – แม้ว่าประเทศ Nearshoring อย่างประเทศในละตินอเมริกาจะมีค่าแรงต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ก็อาจจะสูงกว่าในหลายประเทศที่มีค่าแรงต่ำมาก จึงอาจทำให้บริษัทเสียโอกาสในการลดต้นทุนในการผลิต
  • ขาดพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง – ประเทศ Nearshoring อาจประสบปัญหาในการหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ทำให้การหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นเรื่องยาก

 

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

การแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สหรัฐฯ ได้มีการกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดจากจีน ทำให้ธุรกิจในสหรัฐฯ หรือบริษัทที่เป็นซัพพายเออร์ให้กับผู้ผลิตในสหรัฐฯ มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังประเทศใกล้เคียงมากขึ้น หรือ Nearshoring ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจไทยอาจควรเฝ้าระวังกรณีการย้ายฐานการผลิตที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้ง ศึกษาช่องทางการขยายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศ Nearshoring ที่อาจสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกมากขึ้น

 

ข้อมูลอ้างอิง: Bloomberg, Builtglobal

en_USEnglish