ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

                                                                                                                              สตท ณ เมืองฮิโรชิมา

 

สินค้าน้ำมันพืชเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารจำเป็นในตลาดญี่ปุ่น  ในตลาดโลกปัจจุบันกำลังประสบปัญหาราคาที่พุ่งขึ้นสูง โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสภาวะดังกล่าว   ถึงกระนั้นก็ตาม   อุตสาหกรรมน้ำมันพืชของญี่ปุ่นคาดการว่าตลาดจะมีการปรับตัวและยังคงเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

สินค้าน้ำมันพืชในตลาดญี่ปุ่น

น้ำมันพืชที่มีการบริโภคในญี่ปุ่นมีหลากหลายมาก โดยในปี 2023 มีปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมทั้งสิ้น 2.53 ล้านตัน โดยแยกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

 

น้ำมันคาโนลา (น้ำมันเรปซีด)

วัตถุดิบ คือ เมล็ดเรปซีด (Rapeseed) ที่ปลูกมากในแคนาดา อินเดียและจีน โดยผลผลิตรวมของสามประเทศนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตของโลก นอกนั้นมีการปลูกในออสเตรเลีย รัสเซีย ยูเครน เยอรมัน ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยที่สุด ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำมันมะกอก จึงเป็นน้ำมันพืชที่ดีต่อสุขภาพที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชอื่นๆ และได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่น โดยในปี 2023 มีปริมาณการบริโภค 8.78 แสนตันหรือคิดเป็นร้อยละ 34.8 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชทั้งสิ้นในญี่ปุ่น

 

น้ำมันปาล์ม

เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์ม มีไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง เป็นน้ำมันพืชที่มีการผลิตมากที่สุดในโลก นอกจากใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหารแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมาการีน ช๊อกโกแลต ฯลฯ ในญี่ปุ่นมีปริมาณการบริโภค 6.69 แสนตัน หรือ ร้อยละ 26.5 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมในญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีการปลูกต้นปาล์มในประเทศ จึงนำเข้าในรูปไขและน้ำมัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย

 

น้ำมันถั่วเหลือง

ในญี่ปุ่นเป็นน้ำมันที่ใช้มากที่สุดในการปรุงอาหาร และมีการผสมกับน้ำมันพืชอื่นใช้ผลิดเป็นน้ำมันที่เรียกกันในญี่ปุ่นว่า Salad Oil (saladayu/サラダ油) และน้ำมันเทมปุระ   สำหรับวัตถุดิบถั่วเหลือง นำเข้าส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและบราซิล มีการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในญี่ปุ่น ปริมาณ 5.03 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 19.9 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมในญี่ปุ่น

 

น้ำมันรำข้าว

เป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคในญี่ปุ่นมายาวนาน ปัจจุบันมีการบริโภคคิดเป็นร้อยละ 4.3 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชโดยรวม เป็นน้ำมันพืชประเภทเดียวของญี่ปุ่นที่ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ และมีการนำเข้าบ้างจากบราซิลและประเทศในเอเซีย น้ำมันรำข้าวได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ เนื่องจากในรำข้าวมีสารแกมมาออไรซานอล (γ-oryzanol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายรวมทั้งช่วยชะลอวัย (Anti-aging) อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ผิดปกติ ลักษณะพิเศษของน้ำมันรำข้าว คือมีรสชาตินุ่มนวลและเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่นยาก (Oxidation)จึงเก็บได้ค่อนข้างนานกว่าน้ำมันประเภทอื่น ทำให้ในระยะหลังที่ผ่านมา แสดงแนวโน้มความต้องการที่ขยายตัวเรื่อยมาตามลำดับ   นอกจากใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหารและใช้เป็นส่วนผสมน้ำสลัด (dressing oil) แล้ว ยังใช้ในการผลิตมายองเนสและขนมขบเคี้ยว น้ำมันสำหรับทอด และในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น

 

น้ำมันพืชประเภทอื่นๆ ที่มีการบริโภคในญี่ปุ่น ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (Flax Seed)  เป็นต้น

 

ปัญหาราคาน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

ในประเภทพืชน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันพืชในญี่ปุ่น พืชน้ำมันที่ญี่ปุ่นมีปริมาณการปลูกค่อนข้างมากได้แก่ ถั่วเหลืองและเรปซีด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการปลูกในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ การผลิตน้ำมันพืชทุกประเภท(ยกเว้นน้ำมันรำข้าว)ในญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่าง ประเทศ โดยสัดส่วนการพึ่งพาตนเองของญี่ปุ่นสำหรับน้ำมันพืชโดยรวมเป็นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น สำหรับน้ำมันเรปซีดซึ่งมีการบริโภคมากที่สุดนั้น เมล็ดเรปซีดที่ได้จากการปลูกในประเทศมีเพียงปีละ 4 พันตัน ดังนั้น วัตถุดิบแทบทั้งหมดจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแคนาดาและออสเตรเลีย

ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

ตลาดน้ำมันปรุงอาหารในญี่ปุ่นได้มีการเติบโตอย่างมั่นคงเรื่อยมา แต่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงธันวาคม ปี 2023 ตลาดมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1 ส่วนปริมาณลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจากเมื่อปี 2021 ได้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันปรุงอาหาร เช่น น้ำมันเรปซีดหรือคาโนล่า ราคาต่อหน่วยโดยเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้น กก.ละ 129 เยน  อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ราคาน้ำมันปรุงอาหารได้หยุดการขึ้นราคา ทำให้ตลาดเริ่มฟื้นตัว

การขึ้นราคาของน้ำมันพืชในตลาดญี่ปุ่น มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลัก คือการที่วัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้น โดยเมล็ดพืชน้ำมันซึ่งนำเข้าจากแหล่งต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่สูงขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้วจึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ นอกจากนั้น สภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตพืชน้ำมันลดลง ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างมากทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งในการนำเข้าได้เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติสงครามในยูเครนก็มีส่วนทำให้อุปทานของวัตถุดิบเกิดความไม่แน่นอน โดยที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาวัตถุดิบสำหรับน้ำมันพืชจากการนำเข้าแทบทั้งหมด จึงมีความผันผวนด้านราคาไปตามสถานะการของแหล่งวัตถุดิบ

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการประมาณการตลาดน้ำมันพืชของญี่ปุ่นในปี 2024 ว่ามีมูลค่า 3.84 แสนล้านเยน (ราว 8.83 หมื่นล้านบาท) และคาดการว่าภายในปี 2029 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 5.52 แสนล้านเยน (ราว 1.27 แสนล้านบาท) โดยคาดการว่าในช่วงปี 2024-2029 อัตราการขยายโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.47 ต่อปี

 

การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันพืชของญี่ปุ่น

บริษัท Nisshin Oillio Co., Ltd. (https://www.nisshin-oillio.com/english/) ได้ตระหนักถึงปัญหาราคาน้ำมันพืชที่จำต้องปรับราคาสูงขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์การตลาดโดยมุ่งเน้นไปยังสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ หรือใช้ปริมาณน้อยลงในการปรุงอาหารแต่ไม่สูญเสียคุณลักษณะและรสชาติ  โดยบริษัทฯมีสินค้าประเภทดังกล่าว ได้แก่ น้ำมันปรุงอาหารแบรนด์ Nisshin Healthy Off  ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่ไม่มีคอเรสเตอรอล และสามารถลดการดูดซึมของน้ำมันได้ดีกว่าน้ำมันพืชธรรมดาร้อยละ 20 ดังนั้นเมื่อใช้ปรุงอาหารประเภททอดจะไม่อมน้ำมัน  ทำให้ยอดจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวในปี 2019 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่า และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 103 นอกจากนั้น ยังพัฒนาสินค้าใหม่ประเภทน้ำมันสำหรับราดบนอาหาร เช่น น้ำมันงา ซึ่งนอกจากจะทำให้มีกลิ่นหอมของงายิ่งขึ้นแล้ว ภาชนะบรรจุก็ปรับปรุงให้สามารถเก็บได้นานโดยน้ำมันไม่หื่น นอกจากนั้นยังมีน้ำมันเพิ่มรสชาติ ภายใต้แบรนด์ Yamitsuki Oil เช่น น้ำมันผสมเนยและกระเทียมใช้ราดขนมปังหรืออาหารประเภทไข่  น้ำมันผักชีที่ให้รสชาติและกลิ่นหอมของผักชี น้ำปลาและมะนาว น้ำมันพริกสำหรับราดกุ้ง น้ำมันผสมเมล็ดยี่หร่าให้รสชาติแกงกะหรี่ญี่ปุ่น

ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

ในปี 2021 บริษัทฯ ได้ออกวางจำหน่าย Nisshin MCT Oil  ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำมันเพื่อสุขภาพ และจัดเป็น Foods with Functional Claims  โดยน้ำมัน MCT นี้มีคุณสมบัติสำคัญคือ ช่วยเพิ่มอัตราการหลั่งฮอร์โมน Peptide YY และฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยควบคุมความรู้สึกหิวในร่างกาย ทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการกินลงและอิ่มนานขึ้น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในขณะที่ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลดี จึงส่งผลต่อการลดความเสี่ยงในของโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจได้ นอกจากนั้นใน MCT Oil มีกรดคาไพรลิก ซึ่ง

ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งพลังงาน และเป็นกรดไขมันสายที่สั้นที่สุด ทำให้กลายเป็นคีโตน ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที และเนื่องจากสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ตับโดยตรง ไม่ต้องพึ่งน้ำดีในการย่อยก่อน ทำให้ดูดซึมได้ง่าย ร่างกายจึงสามารถนำไขมันนี้ไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะสมทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์ด้วยกรดในน้ำมัน  จึงจัดว่าเป็นน้ำมันที่ดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพ ปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ต้องการควบคุมน้ำหนักในขณะที่ไม่ต้องลดการบริโภคอาหารที่ใช้น้ำมัน

บริษัท Showa Sangyou Co., Ltd. (https://www.showa-sangyo.co.jp/en/) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารหลากประเภทตั้งแต่แป้งที่ทำจากธัญญพืช น้ำมันปรุงอาหาร เส้นพาสตา ไปจนถึงอาหารเพื่อสุขภาพ   เมื่อปลายปี 2022 ได้พัฒนาออกจำหน่ายสินค้าใหม่ คือ แป้งใช้ทำเทมปุระโดยไม่ต้องทอด  เนื่องจากมีผู้บริโภคไม่น้อยที่ไม่ชอบความยุ่งยากในการใช้น้ำมันทอดอาหาร และปัจจุบันมีความนิยมใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน หรือในซุปเปอร์มาเกตก็มีจำหน่ายอาหารเทมปุระปรุงสำเร็จ ด้วยเหตุเหล่านี้ พบว่าในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาตลาดแป้งเทมปุระได้หดตัวลงเรื่อยมา เนื่องจากผู้บริโภคที่ทำเทมปุระในครัวเรือนลดน้อยลง บริษัทฯ จึงได้พัฒนาสินค้าตัวใหม่นี้ โดยเป็นผงแป้งทำเทมปุระแบบไม่ต้องทอด แต่ใช้น้ำมันปรุงอาหารเพียง 3 ช้อนโต๊ะผัดกับวัตถุดิบเทมปุระที่คลุกผงแป้งดังกล่าว ปรากฎว่าหลังจากออก

ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น

วางตลาดเพียง 1 ปีครึ่งสามารถจำหน่ายได้ถึง 1.5 ล้านชิ้น และยังคงจำหน่ายได้ดีจนถึงปัจจุบัน ทะลุยอดเป้าหมายที่ตั้งไว้สองเท่า  จะเห็นได้ว่าแม้ว่าบริษัทฯผลิตน้ำมันปรุงอาหารด้วย แต่กลับคิดนอกกรอบหันไปพัฒนาสินค้าที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารน้อยลง โดยศึกษาติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มใส่ใจกับสุขภาพกันมากขึ้น จึงได้พัฒนาสินค้าใหม่สำหรับกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว

 

บทสรุปและข้อคิดเห็น

สินค้าน้ำมันพืชเป็นสินค้าที่มีตลาดและความต้องการในทุกยุค  เนื่องจากเป็นสินค้าอาหารที่จำเป็นประเภทหนึ่ง แต่ตลาดญี่ปุ่นค่อนข้างมีความผันผวนเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าพืชน้ำมัน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ และโดยเหตุที่การนำเข้ามีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ส่งผลต่อระดับราคาต้นทุน ทำให้เกิดความผันผวนของความต้องการเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตพืชน้ำมันในญี่ปุ่นก็ได้พยายามปรับตัวให้รับกับการผันผวนดัง กล่าวโดยการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อกระตุ้นความต้องการใหม่ๆ   แม้ว่าปัจจุบันไทยยังมีการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นน้อยมาก ได้แก่ประเภทน้ำมันรำข้าวซึ่งมีปริมาณส่งออกไปญี่ปุ่นไม่มาก แต่ไทยมีศักยภาพเนื่องจากการที่มีวัตถุดิบในประเทศ ดังนั้นน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย แต่อาจต้องสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยพัฒนาสินค้าพืชน้ำมันใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งจับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสุขภาพ หรือ ผู้บริโภคที่รู้จักและนิยมอาหารไทย ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตญี่ปุ่นเองก็เห็นโอกาส เช่น การนำผักชีไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับน้ำมันราดอาหาร เป็นต้น

 

สิงหาคม 2567

 

ที่มาข้อมูล

  • Japan Oilseed Processors Association (https://www.oil.or.jp/en/ )
  • รายงานเรื่อง “ The current situation on price surge of vegetable oil and its background” (植物油の最近の動向  価格高騰の現状とその背景について) https://www.jofiea.gr.jp/main/wp-content/uploads/2024/01/Booklet_Recent-trends-in-vegetable-oil-in-Japan-2023.pdf
  • รายงานเรื่อง食用油市場、市場成長は踊り場へ 付加価値の高いオイルの提案が急務 ในเวปไซต์ DMenu โดย NTT Docomo  22 มีค. 2024 https://topics.smt.docomo.ne.jp/article/diamondrm/business/diamondrm-481161
  • รายงานการสัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการบริษัท Nissin Ollio นาย Hisano เกี่ยวกับการคงมาตรการราคาที่สูงขึ้นและการขยายตัวของตลาดน้ำมันปรุงอาหาร (日清オイリオ久野社長 食用油市場の成長拡大へ 価値向上施策を継続 ) ในเวปไซต์ Shokuhin Shinbun Newspaper วันที่ 1 ธค. 2023 (https://shokuhin.net/88065/2023/12/01/kakou/yushi/)
  • รายงานเรื่อง “The first in the world “No-fried Tempura” got an unprecedented hit” (世界初の“揚げない天ぷら”が異例のヒット) จากเวปไซต์ eltha  โดยบริษัท oricon ME  https://beauty.oricon.co.jp/special/102439/ )   
  • รายงานเรื่อง Report on Rice Bran Oil 2023 (こめ油特集2023 ) โดย Nihon Shokuryo Shinbun Online (https://news.nissyoku.co.jp/news/muraoka20230725115922606)
  • ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันพืช ในเวปไซต์ของบริษัท J-Oil Mills Inc. (https://www.j-oil.com/oil/type/vegeoil/ )
  • รายงานเรื่อง “Vision on Vegetable Oil with regard to food security” (植物油の視点・食料安全保障について) (https://www.maff.go.jp/j/zyukyu/anpo/attach/pdf/kentoukai-pdf)

 

 

 

 

 

en_USEnglish