ฝูเจี้ยนเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในครึ่งแรกของปี 2567

 

กรมศุลกากรนครฝูโจว และเมืองเซี่ยเหมินได้เปิดเผยตัวเลข และไฮไลท์ของการค้าระหว่างประเทศ ในครึ่งแรกของปี 2567 โดยภาพรวมแล้ว มูลค่าด้านการค้าระหว่างประเทศของจีนอยู่ที่ 21.17 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1(YoY) โดยมูลค่าส่งออกคิดเป็น 12.13 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 (YoY) และมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 9.04 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 (YoY) และสำหรับมณฑลฝูเจี้ยน มูลค่าด้านการนำเข้าและส่งออกอยู่ที่ 993,930 ล้านหยวน ติดอันดับที่ 7 ของประเทศจีน  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (YoY) โดยมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 383,840 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 2.2 (YoY) และมูลค่าส่งออก 610,090 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 (YoY) ซึ่งทั้งมูลค่าและอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

คู่ค้ารายใหญ่ 3 อันดับแรกของมณฑลฝูเจี้ยน ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับอาเซียน คิดเป็น 231,130 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 (YoY) ค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา มูลค่า 132,570 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 (YoY) และกับสหภาพยุโรป มูลค่า 117,710 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.1 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งการนำเข้าและส่งออกระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนกับคู่ค้า 3 รายดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.4 ของการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของมณฑลฝูเจี้ยน

 

สินค้านำเข้าที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยนคือ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่านำเข้าเป็น 61,300 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 (YoY) โดยเฉพาะการนำเข้าอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จอ LED และอุปกรณ์ประมวลข้อมูลอัตโนมัติและชิ้นส่วน (Automatic Data Processing Equipment) ได้เติบโตอย่างเห็นได้ชัด มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 187.4 , 72.3 และ 20.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่  เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ อะไหล่รถยนต์ จอ LED เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟส่องสว่าง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เป็นต้น

 

สำหรับการค้าระหว่างประเทศของเมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกๆ ของจีน และเป็นเมืองที่มี GDP สูงติดอันดับที่ 3 ของมณฑลฝูเจี้ยน มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมทั้งสิ้น 456,940 ล้านหยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.97 ของมณฑลฝูเจี้ยน) แบ่งเป็นมูลค่านำเข้า 223,080 ล้านหยวน และมูลค่าส่งออก 233,860 ล้านหยวน โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมินยังพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

 

วิสาหกิจภาคเอกชนแข็งแกร่ง ได้แสดงบทบาทอันสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของเมืองเซี่ยเหมิน

ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 เมืองเซี่ยเหมินมีจำนวนวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจการนำเข้าและส่งออกจริง รวมทั้งสิ้น 13,105 แห่ง (เพิ่ม 969 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2566) โดยวิสาหกิจภาคเอกชน 11,373 แห่ง (เพิ่ม 916 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2566) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.8 ของวิสาหกิจดำเนินธุรกิจการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของเมืองเซี่ยเหมิน โดยได้สร้างยอดการนำเข้าและส่งออก 227,760 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.8 ของมูลค่าทั้งหมด ในขณะที่ วิสาหกิจภาครัฐ สร้างมูลค่า 123,980 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.1 และวิสาหกิจทุนต่างชาติ สร้างมูลค่า 105,100 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของเมืองเซี่ยเหมิน

 

การค้าระหว่างเมืองเซี่ยเหมินกับตลาดดั้งเดิม และตลาดใหม่ ขยายตัวมากขึ้น

การค้าระหว่างเมืองเซี่ยเหมินกับตลาดดั้งเดิม อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างเมืองเซี่ยเหมินกับคู่ค้า 3 ประเทศดังกล่าวเติบโตร้อยละ 19.6 (YoY) ร้อยละ 13.2 (YoY) และร้อยละ 18.9 (YoY) ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน การค้าระหว่างเมืองเซี่ยเหมินกับตลาดใหม่ เช่น ชิลี และเม็กซิโกก็เติบโตมากขึ้น โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.5 (YoY) และร้อยละ 31.1 (YoY)

 

ความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเพื่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ด้วยเมืองเซี่ยเหมินมีการเร่งการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าอุปกรณ์ ชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้อง และวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่างๆ ได้ขยายตัวตามไปด้วย เช่น มูลค่านำเข้าอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่ที่ 6,320 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว (YoY) การนำเข้าเยื่อกระดาษ ไม้ท่อน วัสดุอลูมิเนียม วัสดุสิ่งทอและน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น รวมเป็นมูลค่า 19,020 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 (YoY) นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าอื่นๆ เช่น ถ่านหิน หินก้อนยังไม่ผ่านการแปรรูป (Raw Stone) เบียร์ ติดอันดับต้นๆ ของจีน และการนำเข้าชิ้นส่วนอากาศยาน รังนก ติดอันดับที่ 2 ของจีน

 

การนำเข้าสินค้าจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของประชาชนเติบโตเร็ว

ภายใต้การผลักดันของกรมศุลกากรเมืองเซี่ยเหมิน สินค้าจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของประชาชนที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผลไม้สดหรือแห้ง ไวน์แดง ธัญหาร เป็นต้น เข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ชาวเซี่ยเหมินมากขึ้น นางZhuang Bian Liang รองผู้อำนวยการฝ่ายสถิติของกรมศุลกากรเมืองเซี่ยเหมินเปิดเผยว่า ในครึ่งแรกของปี 2567 เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าจำพวกผลไม้สด ผลไม้แห้งและถั่ว รวมทั้งสิ้น 59,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 (YoY) รวมเป็นมูลค่า 910 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.5 (YoY) โดยผลไม้ที่นำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ทุเรียน ลำไย และมะพร้าว ซึ่งปริมาณนำเข้ารวมเป็น 11,000 ตัน 9,414.40 ตันและ 8,122.30 ตัน ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.6 ของการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดของเมืองเซี่ยเหมิน แต่เมื่อพิจารณาตามมูลค่านำเข้าแล้ว การนำเข้าทุเรียนสดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 รวมเป็น 300 ล้านหยวน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 31.1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา พบว่า ประเภทผลไม้ที่มีการนำเข้าตรงผ่านทางท่าเมืองเซี่ยเหมิน  เพิ่มจาก 27 ประเภทเป็น 29 ประเภท โดยเพิ่มมังคุดและอะโวคาโด ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2566 ไม่มีการนำเข้าตรงผ่านท่าเมืองเซี่ยเหมิน

 

ความเห็นจากสคต.เซี่ยเหมิน : ข้อมูลจาก GTA แสดงตัวเลข เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 การค้าระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนกับไทยรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,286.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.5 (YoY) โดยฝูเจี้ยนส่งออกไปไทยรวมเป็นมูลค่า 2,484.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.48 (YoY) และนำเข้าจากไทยรวมมูลค่า 802.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.72 (YoY)

 

สินค้าสำคัญที่มณฑลฝูเจี้ยนนำเข้าจากไทย ได้แก่ น้ำตาล เยื่อไม้หรือเยื่อที่ได้จากวัตถุจำพวกเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ แป้งมันสำปะหลัง พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลไม้ ยางพารา ซึ่งการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะของน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.78เยื่อไม้ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.71 ผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.42 โดยผลไม้นำเข้าหลักคือทุเรียน ลำไยแห้งและมะพร้าวอ่อน ทั้งนี้ เมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองสำคัญของมณฑลฝูเจี้ยนทั้งด้านการค้าการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองเซี่ยเหมินมืองเดียวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 45.97 ของทั้งมณฑล สอดคล้องกับตัวเลขทิศทางการค้าของทั้งมณฑลฝูเจี้ยน อนึ่ง ตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสดผ่านทางท่าเซี่ยเหมิน มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสดของทั้งมณฑลฝูเจี้ยน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 254.49 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 โดยทุเรียนสดจากไทย กินส่วนแบ่งตลาดฝูเจี้ยนร้อยละ 50 ตามติดด้วย ทุเรียนสดจากเวียดนาม ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 48.37 และ จากฟิลิปปินส์ สัดส่วนร้อยละ 1.55 แสดงให้เห็นว่าตลาดทุเรียนยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น โดยเวียดนามสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้อย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ

 

ที่มา

http://news.cnr.cn/local/dftj/20240713/t20240713_526792001.shtml

http://xiamen.customs.gov.cn/

https://fj.cri.cn/chinanews

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

1 สิงหาคม 2567

en_USEnglish