อินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนยางธรรมชาติอย่างรุนแรง

ในช่วงปี 2566-2567 อินเดียประสบปัญหาขาดแคลนยางธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยภาคการผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ ด้วยภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ข้อจำกัดด้านการจัดหาวัตถุดิบจากทั่วโลก และราคาที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดไมโครของอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ยางซึ่งกำลังประสบปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

อินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนยางธรรมชาติอย่างรุนแรง

รายงานจากสำนักข่าว Times of India แจ้งว่า ด้วยปัญหาการขาดแคลนยางธรรมชาติ (NR) ของอินเดียผลกระทบต่อภาคการผลิต ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศที่รวมกว่า 5.5 แสนตัน แม้ว่า ในปี 2565-2566 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้นจาก 8.39 แสนตัน เป็น 8.57 แสนตันในปี 2566-2567 แต่ภาคการบริโภคยังคงเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับจาก 13.5 แสนตันเป็น 14.16 แสนตัน เกิดภาวะการขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในภาคการนำเข้าเนื่องจากภาษีศุลกากรที่สูงและปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ ราคาจึงพุ่งสูงขึ้นและมีแนวโน้มนำไปสู่วิกฤตสำหรับอุตสาหกรรมที่พึ่งพายางธรรมชาติได้
Mr. Shashi Singh ประธานสมาคมอุตสาหกรรมยางแห่งอินเดีย (All India Rubber Industries Association :AIRIA) ให้ข้อมูลว่า “ในช่วงปี 2566-2567 ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติ (NR) เพิ่มขึ้นเป็น 0.18 แสนตันหรือขยายตัวร้อยละ 1.33 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา แต่การบริโภคยางธรรมชาติ (NR) ยังคงมีแนวโน้มเติบโตไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ปัจจุบันมีการบริโภคเพิ่มขึ้นอีก 0.66 แสนตัน ขยายตัวร้อยละ 4.89 ดังนั้น สภาวะการขาดแคลนยังคงอยู่ที่ 5.5 แสนตัน” หากพิจารณาแล้ว อินเดียเคยมีประวัติพึ่งพาการนำเข้ายางธรรมชาติ เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ การนำเข้ายางธรรมชาติต้องเผชิญกับเงื่อนไขด้านภาษีศุลกากร 25% หรือ 30 รูปีต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับว่าอันไหนสูงกว่า แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงประเด็นความพร้อมของวัตถุดิบ
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ประเทศจีนที่กำลังสะสมปริมาณยางธรรมชาติ รวมถึงประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเคยเป็นแหล่งจัดหายางธรรมชาติที่ดีกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต สถานการณ์นี้ทำให้ราคาของยางธรรมชาติขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว Mr.Singh กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ราคายางอยู่ที่ 247 รูปีต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี เทียบกับ 182 รูปีต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 1 เมษายน 2567)” จะเห็นได้ว่าในเวลาเพียง 4 เดือน ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า” อีกทั้ง ความไม่แน่นอนด้านความพร้อมของยางธรรมชาติยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทาย เนื่องจากฤดูมรสุมทำให้ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รับผลกระทบ ประกอบกับการนำเข้าที่ลดลง สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพายางธรรมชาติ ปัจจุบัน ประมาณ 70% ของยางธรรมชาติถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาง ในขณะที่ 30% ที่เหลือถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ยาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและไมโครที่ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก
สภาอุตสาหกรรมยางแห่งอินเดีย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “น้ำยาง (latex rubber) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการทำถุงมือและลูกโป่งจะถูกคิดภาษีนำเข้าที่อัตรา 75% โดยสถานะของตลาดวัตถุดิบน้ำยางนี้ยังคงขาดแคลน แต่ในทางตรงกันข้ามภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่นอน ลูกโป่ง หรือถุงมือทางการแพทย์ คิดเป็นเพียง 10% ซึ่งเป็นการแสดงถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีแนวโน้มส่งเสริมเพื่อนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมากกว่าการผลิตในประเทศ” ด้วยเหตุนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมยางแห่งอินเดีย (AIRIA) และสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ (ATMA) ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อภาครัฐเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ภาวะการขาดแคลนของยางธรรมชาติในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยางรถยนต์ในปีงบประมาณนี้ ข้อมูลจาก ATMA ระบุว่า ปริมาณการผลิต NR ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมิถุนายน 2567 คือ 60,000 ตัน แต่ความพร้อมของวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้จริงมีเพียงประมาณ 30,000 ตันเท่านั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เดือนกรกฎาคม 2567 มีปริมาณวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายในบางช่วงสัปดาห์ของเดือน ส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่ออุตสาหกรรมยางทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจยางขนาดเล็กและขนาดกลางไปจนถึงบริษัทผลิตยางรถยนต์
2. ความไม่แน่นอนด้านความพร้อมของยางธรรมชาติและยางลาเท็กซ์เชิงปริมาณในประเทศกำลังทำให้ธุรกิจ MSMEs อุตสาหกรรมยางเกิดความกังวล เนื่องจากธุรกิจจะไม่สามารถเก็บสต็อกสินค้าคงคลังไว้ได้ รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรมยางแห่งอินเดีย (AIRIA) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการยางระดับ MSMEs มีโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 5,000 แห่งที่ผลิตสินค้า/ผลิตภัณฑ์ยางกว่า 35,000 ชนิด ผู้ประกอบการยางและสมาคมที่เกี่ยวข้องได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงาน Rubber Board เพื่อให้ตรวจสอบสถานะและความพร้อมของสินค้าคงคลังซึ่งจะมีผลต่อห่วงโซ่อุปทาน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. โอกาสด้านการส่งออก: ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ เช่น ประเทศไทย ควรใช้ประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอินเดียด้วยการขยายช่องทางการส่งออก ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นอาจทำให้ผู้ส่งออกมีกำไรมากขึ้น
2. อำนาจในการต่อรองที่เพิ่มขึ้น: ผู้ส่งออกมีความได้เปรียบในการเจรจาเนื่องจากสภาวะของตลาดอินเดียที่กำลังขาดแคลนวัตถุดิบและราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งสัญญาณที่ดีในมุมมองของวางกลยุทธ์ทางการตลาดและการตั้งราคา
3. แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ: ราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในวงกว้าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคปลายน้ำ
ข้อคิดเห็น
ในอินเดียกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เนื่องจากการขาดแคลนยางธรรมชาติในประเทศในปี 2567 ความต้องการในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตในประเทศกลับไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนยางธรรมชาติ (NR) ของอินเดียได้ส่งผลต่อภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยางทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจยางขนาดเล็กและขนาดกลางไปจนถึงบริษัทผลิตยางรถยนต์ แนวโน้มสำคัญที่อาจเกิดขึ้ได้แก่ 1) การนำเข้ายางพาราที่เพิ่มขึ้น จากประเทศผู้ผลิตหลัก เช่น ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม 2) แรงกดดันด้านต้นทุน อาจส่งผลให้เกิดการปรับราคาในตลาดและก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และ 3) การลงทุนในอุตสาหกรรมยาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า อินเดียอาจมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งในด้านการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยี ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้ายางธรรมชาติ (HS 400110) ของอินเดียลำดับที่ 3 รองจากเวียดนามและมาเลเซีย โดยในปี 2566 อินเดียนำเข้ายางธรรมชาติจากไทยมูลค่า 2,179,536 เหรียญสหรัฐ หดตัวลง 0.17 % จากปีที่ผ่านมา วัตถุดิบนี้ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และอื่น ๆ ในขณะที่ ไทยส่งออกยางพาราไปตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน (53%) มาเลเซีย (11%) ญี่ปุ่น (5%) อเมริกา (6%) จากผลผลิตภาพรวมทั้งปี 2566 จำนวน 4.71 ล้านตัน อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้นตามฤดูกาล โดยภาวะการค้ามีแนวโน้มชะลอตัวจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อชะลอตัวตามการหดตัวของยอดขายรถยนต์ที่มียอดหนี้เสียในการซื้อขายรถยนต์สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อน้อยลง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของโลกและของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ราคายางในบางเดือนปรับตัวลดลง ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทย ควรวางแผนการส่งออกให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใช้สถานการณ์การขาดแคลนยางในอินเดียให้เป็นประโยชน์ในการเจรจาต่อรองราคาและเงื่อนไขทางการค้า

ที่มา:1. https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/agriculture/india-facing-acute-shortage-of-natural-rubber-prices-soar/articleshow/112563032.cms?from=mdr
2 – https://timesofindia.indiatimes.com/city/chennai/tyre-industry-facing-severe-natural-rubber-shortage/articleshow/112207474.cms

 

en_USEnglish