การเปลี่ยนแปลงราคาอาหารในสหรัฐฯ

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ปัญหาที่รัฐบาลไบเดนเผชิญมาตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นหลักที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันรู้สึกกังวล เนื่องจากทำให้ประชาชนต้องประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น YouGov ผู้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นเผยแพร่ว่าร้อยละ 64 ของชาวอเมริกันเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค

 

นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg พบว่าภาวะเงินเฟ้อโดยรวมปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งหากสามารถรักษาอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวได้ คาดว่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งนักลงทุนมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยหนุนตลาดให้เติบโตมากขึ้น

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนได้กล่าวหาว่าประธานาธิบดีไบเดนเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 ได้เน้นย้ำเรื่องราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคว่าจะออกนโยบายที่ทำให้ชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาเหมาะสมอีกครั้ง

 

การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภครายปีในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ร้อยละ 13.5 ในเดือนสิงหาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหลายคนยังไม่รู้สึกสบายใจมากนัก เพราะถึงแม้ว่าจะมีอัตราการปรับเพิ่มของราคาน้อยลงแต่ราคาอาหารโดยรวมยังคงสูงขึ้น โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2567 โดยรวมได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2563

 

การเปลี่ยนแปลงราคาอาหารในสหรัฐฯ

 

อะไรที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นมาก

หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคชาวอเมริกันลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมทั้งกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก แรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทำให้ธุรกิจขาดแคลนแรงงานในสถานประกอบการอย่างร้านค้า โกดัง และโรงงาน จึงทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการบุกโจมตียูเครนโดยรัสเซีย ได้ทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างธัญพืชและน้ำมันพืชเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น และปัจจุบันปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกยังส่งผลให้แหล่งอาหารขาดแคลนมากขึ้น

 

ผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นได้ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการได้ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปให้ผู้บริโภค โดยราคาเฉลี่ยของไข่ไก่ 1 โหลเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว จาก 1.55 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 2.72 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ราคาของซีเรียลและสินค้าเบเกอรี่ปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2563 ในขณะที่ผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14

 

นาย David Ortega นักเศรษฐศาสตร์ด้านอาหารของมหาวิทยาลัย Michigan State กล่าวว่าต้นทุนของอาหารส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัญหามาจากหลังวัตถุดิบได้ถูกส่งออกมาจากฟาร์ม ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสินค้าอุปโภคบริโภคจะผ่อนคลายลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ราคาสินค้าในสหรัฐฯ มีท่าทีจะไม่กลับลงไปเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19

 

การเติบโตของค่าแรงสูงกว่าการเติบโตของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จากการวิเคราะห์ของรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่าค่าแรงของแรงงานระดับพนักงานทั่วไปปี 2567 เพียงพอต่อการใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อใช้บริโภคภายใน 1 อาทิตย์ในระดับเดียวกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีค่าแรงเพิ่มขึ้นทันราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางกลุ่มมีการใช้จ่ายที่ตึงตัว

 

การเติบโตของราคาอาหาร

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อของสินค้าอุปโภคบริโภคจะอยู่ในระดับทรงตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเว้นแต่จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของอาหารที่รับประทานที่บ้านจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 5 ในปี 2566

 

นาย Omair Sharif ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย Inflation Insights กล่าวว่า ราคาของอาหารบางประเภทยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เช่น ราคาเนื้อวัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์บางคนพบว่าราคาอาหารบางประเภทมีการปรับตัวลง เช่น ราคาแฮมปี 2567 ลดลงร้อยละ 4.3 จากปี 2566 ราคานมและอาหารทะเลลดลงร้อยละ 1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

Ms. Meagan Schoenberger นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา KPMG ให้ความเห็นว่า ในอีกไม่กี่เดือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีแนวโน้มว่าจะมีพายุเฮอริเคนบ่อยครั้งในปี 2567 ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย และหากมีความท้าทายด้านการผลิตอาหารมากเท่าใดก็จะส่งกระทบให้อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารสูงขึ้นมากเท่านั้น

 

อัตราเงินเฟ้อของสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเป็นวาระสำคัญทางการเมือง

ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นความท้าทายทางการเมืองของรัฐบาลไบเดน ในช่วงการหาเสียงของพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดี Kamala Harris ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2567 ยอมรับว่าอาหารมีราคาสูงเกินไป โดยให้คำมั่นว่าพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวอ้างว่าผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มมีการเอากำไรเกินควรและเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าปรับลดราคาสินค้าอาหารลง

 

ผู้ผลิตอาหารบางรายได้ส่งสัญญาณว่ามีแผนที่จะลดราคาสินค้าบางรายการลงเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้บริหารบริษัท PepsiCo ได้ประกาศว่าจะลดราคาและเสนอส่วนลดสำหรับขนมกรุบกรอบและสินค้าอื่นๆ หลังจากที่มีการขึ้นราคามาตลอดหลายปี

 

นาย Christopher B. Barrett นักเศรษฐศาสตร์ด้านเกษตรจากมหาวิทยาลัย Cornell กล่าวว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงกังวลกับราคาอาหารที่สูง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายประเภทอื่นๆ ก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่สามารถซื้ออาหารที่ต้องการได้

 

Ms. Jerlyn Heisz ผู้ช่วยพยาบาลเกษียณอายุวัย 79 ปี เมือง Platteville รัฐวิสคอนซินกล่าวว่าค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนโควิด-19 เป็น 150 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 รวมทั้งค่าไฟฟ้าและค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ภาวะเงินเฟ้อได้ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างมาก โดยเฉพาะราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลง แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงมาด้วยจึงทำให้ชาวอเมริกันต้องควบคุมการใช้จ่ายและใช้จ่ายกับสินค้าจำเป็นเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยต้องพิจารณาการประชาสัมพันธ์ความคุ้มค่าของการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยมากขึ้น เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง: New York Times

en_USEnglish