ปี 2566 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา การปฏิวัติทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด เป็นต้น แต่เศรษฐกิจของประเทศจีนนั้นยังคงทนต่อแรงกดดันจากภายนอก และเอาชนะสถานการณ์ยากลำบากภายใน จนบรรลุเป้าหมายด้านการส่งเสริมความมั่นคงและยกระดับคุณภาพ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้โดยภาพรวมยังคงมีความคึกคัก อีกทั้งมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีตลอดทั้งปี
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปริมาณการนำเข้า 72,000 ตันในปี 2557 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 261,000 ตันในปี 2566 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเป็นร้อยละ 13.7 มูลค่าการนำเข้า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 620 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเป็นร้อยละ 9.5 การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ไม่เพียงแค่ชดเชยการขาดแคลนทรัพยากรภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและการพัฒนาของอุตสาหกรรมยาจีนในยุคใหม่อีกด้วย
การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของประเทศจีน ปี 2557 – 2566 | ||||
ปี | ปริมาณการนำเข้า
(หน่วย:หมื่นตัน) |
อัตราการเติบโตของ
ปริมาณการนำเข้า (หน่วย:%) |
มูลค่าการนำเข้า
(หน่วย:ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ) |
อัตราการเติบโต
ของมูลค่าการนำเข้า (หน่วย:%) |
2557 | 7.2 | -27.3 | 2.5 | -81.4 |
2558 | 4.9 | -31.9 | 1.9 | -24.0 |
2559 | 4.8 | -2.0 | 1.5 | -21.1 |
2560 | 4.0 | -16.7 | 1.9 | 26.7 |
2561 | 4.1 | 2.5 | 1.7 | -10.5 |
2562 | 9.0 | 129.5 | 2.4 | 41.2 |
2563 | 10.4 | 15.6 | 3.2 | 33.3 |
2564 | 14.4 | 38.5 | 5.4 | 68.8 |
2565 | 22.4 | 55.6 | 6.1 | 13.0 |
2566 | 26.1 | 16.5 | 6.2 | 1.6 |
เอเชีย เป็นแหล่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่สำคัญที่สุดของจีน ซึ่งร้อยละ 90 ของวัตถุดิบสมุนไพรที่จีนนำเข้านั้นมาจากเอเชีย แหล่งนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรในแต่ละปีของจีนมีไม่ต่ำกว่า 60 ประเทศ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่า 10 ตันมีประมาณ 40 ประเทศ ในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนคือ 622.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดขนาดใหญ่สามอันดับแรกที่จีนนำเข้า ได้แก่ อินโดนีเซีย แคนาดา และเมียนมา โดยสินค้านำเข้าจากตลาดที่กล่าวมาข้างต้นคิดเป็นร้อยละ 45.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของจีน
10 อันดับแรกของประเทศที่ประเทศจีนนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ ปี 2566 |
||||
ลำดับ | ประเทศ | มูลค่าการนำเข้า
(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ) |
อัตราการเติบโต
ของมูลค่าการนำเข้า (หน่วย:%) |
สัดส่วนมูลค่าการนำเข้า
(หน่วย:%) |
1 | Indonesia | 144 | -6.8 | 23.3 |
2 | Canada | 74 | 32.0 | 12.0 |
3 | Myanmar | 62 | -37.6 | 10.0 |
4 | India | 52 | 62.2 | 8.5 |
5 | นิวซีแลนด์ | 51 | -0.8 | 8.3 |
6 | Vietnam | 38 | 38.4 | 6.2 |
7 | เกาหลีใต้ | 32 | -12.0 | 5.2 |
8 | Iran | 26 | 103.3 | 4.3 |
9 | Russia | 23 | -7.3 | 3.7 |
10 | United States of America | 20 | 45.4 | 3.3 |
ปี 2566 ประเทศจีนนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้จากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 144.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องเทศของอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ (Competitive Advantage) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จีนพิจารณาในการนำเข้า ยกตัวอย่างเช่น กระวานมีกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการทำอาหารและยาจีน ตลอดทั้งปีจีนมีการนำเข้ากระวานจากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 69.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.8 จันทน์เทศและกานพลู ก็เป็นสมุนไพรชนิดหลัก ๆ ที่จีนนำเข้า โดยจันทน์เทศนำเข้าเป็นมูลค่า 42.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนกานพลูนำเข้าเป็นมูลค่า 6.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นแหล่งการนำเข้าเลือดมังกรที่สำคัญของจีนอีกด้วย ในปี 2562-2564 เนื่องจากเลือดมังกรที่ผลิตในประเทศขาดแคลน จึงมีการนำเข้าเลือดมังกรในปริมาณมากในช่วงเวลาดังกล่าว และมีการกักตุนเลือดมังกร จึงส่งผลให้การนำเข้าในปี 2566 ลดปริมาณลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลอดทั้งปีมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 4.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี
แคนาดา เป็นตลาดนำเข้าสมุนไพรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน สินค้าหลัก ๆ ที่จีนนำเข้าจากแคนาดาคือโสมอเมริกา ปี 2566 นำเข้าเป็นมูลค่า 74.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบเป็นรายปี
เมียนมา อยู่ในอันดับสามของประเทศนำเข้า สินค้าหลักที่จีนนำเข้ามาจากเมียนมา คือขมิ้น เนื่องจากการนำเข้าขมิ้นในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทรัพยากรในตลาดยังคงมีเพียงพอ ดังนั้น การนำเข้าขมิ้นในปี 2566 จึงลดลง ปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปีเป็นจำนวน 8,858.3 ตัน ลดลงร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี
นอกจากนี้ เวียดนามก็เป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ปี 2561 วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่จีนนำเข้าจากเวียดนามมีมูลค่าเพียง 180,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ในปี 2566 สูงถึง 38.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 192.1 สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามมายังจีนแบบล็อตใหญ่ที่สำคัญได้แก่ ลูกสำรอง หมากสง โป่งรากสน และอบเชยจีน
ปัจจุบัน วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่จีนนำเข้ามาไม่ได้จำกัดเฉพาะสมุนไพรจากภูมิภาคแถบเขตร้อนเท่านั้น เนื่องจากทรัพยากรยาภายในประเทศไม่เพียงพอ สายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากในประเทศจีนหลายชนิดก็เริ่มมีการนำเข้ามาในปริมาณมาก ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการภายในประเทศส่วนหนึ่งได้ออกไปตั้งฐานการเพาะปลูกสมุนไพรในต่างประเทศ นอกจากนี้ สมุนไพรที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ชนกลุ่มน้อยอาทิ ทิเบต อุยกูร์ นำมาใช้ก็รวมอยู่ในการกำกับดูแลสมุนไพรนำเข้าด้วยเช่นกัน แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะค่อนข้างน้อย แต่มีหลายชนิด ทำให้วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่นำเข้ามาก็เริ่มมีสายพันธุ์ที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปี 2566 สมุนไพรนำเข้า 10 อันดับแรกของจีนคือ โสมอเมริกา กระวาน เขากวางอ่อน จันทน์เทศ โสม ชะเอมเทศ หญ้าฝรั่น เทียนแกลบ กำยาน มดยอบ เลือดมังกร ขมิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.1 ของมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี
10 อันดับแรกของวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่ประเทศจีนมีการนำเข้ามากที่สุด ปี 2566 | ||||
ลำดับ | ประเภท | มูลค่าการนำเข้า
(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ) |
อัตราการเติบโต
ของมูลค่าการนำเข้า (หน่วย:%) |
ปริมาณการนำเข้า
(หน่วย:ตัน) |
1 | โสมเอี่ยเซียม หรือโสมอเมริกา | 92.73 | 34.8 | 5662.5 |
2 | กระวาน | 69.77 | -18.5 | 20871.2 |
3 | เขากวางอ่อน | 51.62 | -1.2 | 859.1 |
4 | จันทน์เทศ | 44.59 | 28.8 | 9822.3 |
5 | โสม | 32.29 | -1.2 | 90.7 |
6 | ชะเอมเทศ | 2872 | 199.8 | 37295.3 |
7 | หญ้าฝรั่น | 26.51 | 104.3 | 70.9 |
8 | เทียนแกลบ | 18.71 | 187.9 | 11366.4 |
9 | กำยาน มดยอบ และเลือดมังกร | 16.52 | -17.7 | 4255.3 |
10 | ขมิ้น | 11.36 | -29.5 | 13978.3 |
หมายเหตุ: ในข้อมูลสถิติของศุลกากร “กำยาน มดยอบ และเลือดมังกร” เป็นพันธุ์ภายใต้รหัสเดียวกัน |
โสมอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง โดยหลัก ๆ มาจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา มูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี 92.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ทั้งหมด ปริมาณการนำเข้าเป็น 5,662.5 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 นอกจากนี้ โสม ก็จัดอยู่ในลำดับที่ห้าของการนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโสมที่มาจากเกาหลีใต้ มูลค่าการนำเข้ารวมตลอดทั้งปีเป็น 32.296 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โสมได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งสมุนไพร” ถูกมองว่าเป็นวัตถุดิบสมุนไพรล้ำค่า และมีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนาน ประเทศจีนในฐานะที่เป็นประเทศแหล่งกำเนิดโสม ยังจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรประเภทโสมในปริมาณมาก ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตยังคงมีปัญหา ซึ่งแม้จะมีขนาดใหญ่แต่ขาดความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงตระหนักถึงความสำคัญของสินค้าที่ผลิตในประเทศ จึงได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างแบรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโสม เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมของแบรนด์ที่มีคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับโสมนำเข้าจากต่างประเทศ
ชะเอมเทศ เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปีเป็น 28.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 199.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ปริมาณนำเข้าเป็น 37,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.3 สร้างสถิติสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีนี้ ชะเอมเทศ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสมุนไพรที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดในจีน ใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ ยาสูบ อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาด้านสรรพคุณ ชะเอมเทศของจีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ดังนั้น จีนจึงนำเข้าชะเอมเทศเข้ามาซึ่งหลัก ๆ มาจากประเทศในตะวันออกกลาง ในปี 2566 นำเข้าจากคาซัคสถาน 23,000 ตัน อุซเบกิสถาน 7,483.5 ตัน เติร์กเมนิสถาน 3,675.9 ตัน เนื่องจากชะเอมเทศจัดอยู่ในสินค้าประเภทอาหารและยา เงื่อนไขในการกำกับดูแลสินค้าประเภทนี้เป็นไปตามการกำกับดูแลวัตถุดิบสมุนไพร ดังนั้น ชะเอมเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ “เภสัชตำรับแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ฉบับปี 2563 ไม่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้ชั่วคราว ปัจจุบันชะเอมเทศที่ใช้ในอาหารและชีวิตประจำวันรวมถึงชะเอมเทศที่เป็นวัตถุดิบยาจีนมีการแบ่งส่วนโควตานำเข้าร่วมกัน ซึ่งทำให้ตลาดของสินค้าประเภทนี้มีการแย่งแข่งขันสูงขึ้น
การนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรประเภทเครื่องเทศในปี 2566 โดยภาพรวมมีการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทั่วโลกมีความต้องการอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องเทศคัดพิเศษที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น จันทน์เทศปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปี 9,822.3 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 มูลค่าการนำเข้า 44.591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 ยี่หร่าปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปี 11,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.9 มูลค่าการนำเข้า 18.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 187.9
ตามข้อมูลจากศุลกากรจีน (GACC) ระบุว่า เดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2567 ประเทศจีนมีการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรปริมาณ 117,106 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 คิดเป็นมูลค่า 257.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีการนำเข้าพรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ (รวมถึงเมล็ดและผล) ชนิดที่ใช้ประโยชน์หลักในทางเภสัชกรรมฯ (HS Code: 1211.90) จากประเทศไทยเป็นมูลค่า 6.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในส่วนของสมุนไพรไทย ชาวจีนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสมุนไพรไทยมาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ยาสมุนไพรไทยได้รับความนิยมในตลาดจีน ได้แก่
1. ความต้องการของตลาดจีน เนื่องด้วยตามแผน “Healthy China 2030” ทำให้ตลาดเพื่อสุขภาพของจีนมีศักยภาพมหาศาล เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
2. ความนิยมของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดจีน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เช่น ครีมนวด สบู่ เครื่องสำอางน้ำมันหอมระเหย ฯลฯ ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย
3. ข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรไทย เนื่องจากความได้เปรียบด้านสภาพอากาศ ประเทศไทยจึงมีความหลากหลายของพืชธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ทำให้มีทรัพยากรมากมายสำหรับการรวบรวมยาสมุนไพร นอกจากนี้การผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนไทยและทฤษฎีทางพุทธศาสนายังเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ให้กับยาสมุนไพรไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมในตลาดจีน
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการส่งออก ปี 2563 จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 34.3 ของการส่งออกทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความต้องการยาสมุนไพรของไทยในตลาดจีนอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกยังคงที่ ส่งผลให้ส่วนต่างของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนแคบลง จาก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 การใช้ทรัพยากรพืชพรรณจากต่างประเทศเพื่อชดเชยความต้องการภายในประเทศได้กลายเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการร่วมมือกับอุตสาหกรรมวัตถุดิบสมุนไพรของต่างประเทศ และในส่วนของแหล่งนำเข้า นอกจากแหล่งนำเข้าแบบดั้งเดิมแล้ว จีนยังจะขยายประเทศมหามิตรในเชิงรุกอีกด้วย ประกอบด้วยการสร้างประเทศและภูมิภาค “One Belt One Road” ประเทศสมาชิก RCEP องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งภูมิภาคและประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นพันธมิตรและเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรของประเทศจีน
ประกาศจากกรมศุลกากรจีน (GACC) ว่าด้วยเรื่อง ยกเลิกการขออนุญาตกักกันสินค้าจากสัตว์และพืชขาเข้าบางชนิด
ตาม “ระเบียบการบริหารจัดการและการขออนุญาตกักกันสินค้าจากสัตว์และพืชขาเข้า” (ประกาศเดิมของสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ฉบับที่ 25 และประกาศเดิมสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้ง ประกาศสำนักงานศุลกากรกลาง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 238 ที่ 240 ที่ 262) ได้รับการพิจารณาและอนุมัติให้ยกเลิกข้อกำหนดการขออนุญาตกักกันสินค้าล่วงหน้าสำหรับการนำเข้าสัตว์และพืชบางชนิด แบ่งเป็น 1. อาหารสัตว์ที่มาจากพืช 2. ปุ๋ยและวัสดุปลูกที่มาจากพืช 3. วัตถุดิบของสมุนไพรจีนที่มาจากพืช 4. ยาสูบ 5. ผักสด 6. ปลาป่น และ 7. หนังสัตว์ สำหรับรายการสินค้าที่ถูกยกเลิกสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่
http://www.customs.gov.cn/customs/302249/2480148/5960228/2024062820200127880.xls
หากรหัสสินค้าและ CIQ Code (รหัสที่จีนกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นรายละเอียดสินค้าเพิ่มขึ้นมา จาก HS Code มกอช.) ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในรายการมีการเปลี่ยนแปลง ให้อ้างอิงจากข้อมูลรหัสใหม่ล่าสุดจากสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก
ก่อนการนำเข้าสินค้าข้างต้น ผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตกักกันสินค้าสัตว์และพืชขาเข้าจากศุลกากรจีน แต่สินค้าที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมาจากประเทศหรือภูมิภาคที่ได้รับอนุญาตนำเข้า รวมถึงสถานที่ผลิต แปรรูป และจัดเก็บสินค้านอกเขตอาณาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศุลกากรจีนเท่านั้น เมื่อสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนแล้ว จะต้องสำแดงต่อศุลกากรตามระเบียบ และรับการตรวจสอบกักกันตามขั้นตอนต่อไป
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบ สมุนไพรที่มาจากพืชส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีน
กรมกักกันพืชและสัตว์ สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the P.R.CHINA : GACC) ขอให้ประเทศไทยส่งทะเบียนรายชื่อผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากพืชและได้รับอนุญาตให้นำเข้าสำหรับใช้ในการผลิตยาจีน เพื่อให้สอดคล้องตามข้อปฏิบัติของกฎหมายการตรวจสอบกักกันพืชและสัตว์นำเข้าและส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน กรมวิชาการเกษตรจึงเป็นผู้ขึ้นและส่งทะเบียนรายชื่อผู้ผลิตและ แปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากพืชส่งออกสาธารรัฐประชาชนจีนให้ GACC เพื่อพิจารณาตรวจสอบและประกาศทะเบียนรายชื่อผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ บนเว็บไซต์ของ GACC ต่อไป
รายการสมุนไพรที่มาจากพืชของไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 28 รายการ
1. หมากแห้ง | 8. ขิงสด ขิงแห้ง | 15. ลูกเดือยแห้ง | 22. เร่วดง |
2. ถั่วแดงแห้ง | 9. พริกแห้ง | 16. ใบงาขี้ม่อนแห้ง | 23. กำ ยานญวน |
3. พุทราจีนแห้ง | 10. เกสรบัวหลวงแห้ง | 17. ไผ่ (ส่วนที่ได้จากลำต้นไผ่นำมาทำให้แห้งเป็นก้อน) | 24. ยางต้นรง |
4. วอลนัทแห้ง | 11. เนื้อลำ ไยอบแห้ง | 18. กระวานแห้ง | 25. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากเปลือกสีเสียด |
5. งาแห้ง | 12. ฮ่วยซัวแห้ง | 19. เปลือกของผลหมากแห้ง | 26. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากใบสกุลว่านหางจระเข้ |
6. พริกไทย | 13. สำ รองสด สำ รองแห้ง | 20. กระเบาใหญ่แห้ง | 27. สีเสียดเทศ (กะเมีย) |
7. ต้นจีกู่เฉาแห้ง | 14. กล้วยไม้สกุลหวายแห้ง | 21. แสลงใจแห้ง | 28. เปลือกแห้งของสกุลไม้ยิว |
ที่มา กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
ผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ สามารถยื่นเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนดังกล่าวบนเว็บไซต์ GACC เท่านั้น จึงจะสามารถส่งออกสมุนไพรฯ ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน
ผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ สามารถ ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
- ตรวจสอบรายชื่อสมุนไพรที่ประสงค์จะส่งออกว่าอยู่ในรายการสมุนไพรฯ 28 รายการ หรือไม่ รายละเอียดตาม QR code
- กรอกข้อมูลคำขอขึ้นทะเบียนตามแบบ กมพ. 31 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบคำ ขอฯ รายละเอียดตาม QR code
- ส่งเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนที่กลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กตม.) กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ความตกลงระดับภูมิภาค อาทิ การริเริ่ม“One Belt One Road” ประเทศสมาชิก RCEP องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ คือพันธมิตรที่สำคัญทางการค้าระดับโลกในอนาคต ล้วนเป็นพื้นที่สำคัญในด้านการค้าวัตถุดิบสมุนไพร และจะกลายเป็นแรงหนุนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ตามสถิติของหอการค้าเพื่อการส่งออกนำเข้าเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพของจีน มูลค่าการค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP จาก 61.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสัดส่วนร้อยละ 36.4 ของมูลค่าการค้ารวมวัตถุดิบสมุนไพรของจีน เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 58.2 ในปี 2566 เนื่องจาก กระวาน ขมิ้น กานพลู เลือดมังกร และม้าน้ำ ต้องอาศัยการนำเข้าจากภูมิภาคดังกล่าว และปริมาณการนำเข้าก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ตลาดในเขตพื้นที่องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน วัตถุดิบสมุนไพรต่าง ๆ ของจีน เช่น ชะเอมเทศ หญ้าฝรั่น มหาหิงคุ์ ฝางเฟิง เป็นต้น หลัก ๆ มาจากประเทศที่เกี่ยวข้องกับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ เดือนตุลาคม ปี 2566 การเปิดตัว “แผนงานภาพรวมของเขตการค้าเสรีนำร่อง (ซินเจียง) แห่งประเทศจีน” ก็ได้เสนอให้ขยายการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรที่มีลักษณะเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการประเมินความเสี่ยงในการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความต้องการเร่งด่วนในปริมาณมากของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เช่น บัวเผื่อน เมโดว์แซฟฟรอน คาโมมายล์ ดอกทับทิม ดอกกุหลาบ หญ้าลิ้นวัว เป็นต้น รวมถึงเร่งลงนามในข้อตกลงทวิภาคี นอกจากนี้ การเจรจารอบที่ 5 สำหรับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ Wang Shou Wen รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้แทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า จะยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน อีกทั้งสร้างประชาคมจีน-อาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในเชิงรุก
ดังนั้น จากมุมมองในระดับชาติ ควรเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรให้แน่นแฟ้น รักษาเสถียรภาพของฐานการค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ เนื่องด้วย คณะกรรมการระเบียบศุลกากรของคณะมนตรีรัฐกิจกำหนดอากรเป็นศูนย์สำหรับยาและวัตถุดิบของยาต้านมะเร็งหรือยารักษาโรคหายากบางส่วน รวมถึงเร่งการนำนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วนในสถานพยาบาลเข้าสู่ตลาดจีน ดำเนินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางการค้าและความต้องการของตลาดใหม่ ๆ
การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ผันผวนของตลาดโลก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การนำเข้าอย่างยืดหยุ่น และเพิ่มความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือกับตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ยาสมุนไพรของไทยเริ่มครองส่วนแบ่งตลาดโลกและคาดว่าจะสร้างรายได้มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทให้กับประเทศ โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดที่สำคัญ เนื่องจากสมุนไพรไทยไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในตลาดจีนเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการของตลาดและศักยภาพในการพัฒนาที่ดีอีกด้วย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจึงมีโอกาสในตลาดจีนอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีทรัพยากรและประสิทธิภาพที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจาก การขออนุญาตและนำเข้าวัตถุดิบรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสมุนไพรนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง ผู้ประกอบการที่สนใจในในตลาดนี้ควรมองหาและร่วมมือกับผู้นำเข้าของจีนที่มีประสบการณ์ในการนำเข้าสมุนไพร นอกจากนี้ ในอนาคตหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่อาจหาช่องทางดำเนินการเจรจากับจีนเพื่อเพิ่มรายการสมุนไพรที่อนุญาตนำเข้าจากไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ให้สามารถขยายตลาดได้ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อื่นที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร
ที่มา:
กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
http://www.customs.gov.cn/customs/302249/302266/302267/2371435/index.html
https://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MzAwODIwMzU0MQ==&mid=2651790295&idx=1&sn=83586e82e6ede4d5426e8fd914b732b3&chksm=814dd72589f62aa4792fe7f8225a96c2380dc36bb80bd92187f2e0ea75c71fb2ef10a4253bce&scene=27
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
สิงหาคม 2567