- ภาพรวมอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก Statista พบว่าตลาดเสื้อผ้าสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567 มีมูลค่า 53,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2567-2571 น่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 1.78% ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าสำหรับเด็กที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเลือกแฟชั่นที่มีจริยธรรมและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเภทของเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ เรียงลำดับตามมูลค่าการจำหน่ายในปี 2567 สามารถแบ่งได้ ดังนี้ เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็ก เสื้อผ้าเด็กอ่อน กางเกงสำหรับเด็ก เสื้อยืดแขนยาวสำหรับเด็ก เครื่องประดับและตกแต่งสำหรับเด็ก เสื้อสำหรับเด็ก ชุดนอนสำหรับเด็ก เสื้อเชิ้ตสำหรับเด็ก ชุดและกระโปรงสำหรับเด็ก เสื้อหนาวสำหรับเด็ก
ถุงเท้าสำหรับเด็ก เสื้อเบเซอร์สำหรับเด็ก เสื้อสูทเข้าชุดสำหรับเด็กและกางเกงรัดรูปสำหรับเด็ก ตามลำดับ
มูลค่าเสื้อผ้าเด็กในตลาดสหรัฐฯ (พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ประเภทเสื้อผ้า | 2566 | 2567 | 2568 | 2569 | 2570 | 2571 |
เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็ก | 12.60 | 13.12 | 13.62 | 14.10 | 14.57 | 15.03 |
เสื้อผ้าเด็กอ่อน | 8.12 | 8.15 | 8.17 | 8.20 | 8.23 | 8.42 |
กางเกงสำหรับเด็ก | 7.63 | 7.68 | 7.73 | 7.77 | 7.82 | 8.12 |
เสื้อยืดแขนยาวสำหรับเด็ก | 5.19 | 5.21 | 5.22 | 5.24 | 5.25 | 5.38 |
เครื่องประดับและตกแต่งสำหรับเด็ก | 4.02 | 4.16 | 4.30 | 4.43 | 4.54 | 4.64 |
เสื้อสำหรับเด็ก | 3.72 | 3.70 | 3.69 | 3.69 | 3.68 | 3.73 |
ชุดนอนสำหรับเด็ก | 3.38 | 3.45 | 3.52 | 3.59 | 3.65 | 3.72 |
เสื้อเชิ้ตสำหรับเด็ก | 2.21 | 2.30 | 2.38 | 2.46 | 2.53 | 2.65 |
ชุดและกะโปรงสำหรับเด็ก | 2.13 | 2.12 | 2.11 | 2.10 | 2.09 | 2.13 |
เสื้อหนาวสำหรับเด็ก | 1.85 | 1.85 | 1.85 | 1.85 | 1.85 | 1.88 |
ถุงเท้าสำหรับเด็ก | 0.91 | 0.92 | 0.93 | 0.94 | 0.96 | 0.99 |
เสื้อเบเซอร์สำหรับเด็ก | 0.77 | 0.75 | 0.73 | 0.71 | 0.69 | 0.68 |
เสื้อสูทเข้าชุดสำหรับเด็ก | 0.30 | 0.29 | 0.28 | 0.27 | 0.26 | 0.26 |
กางเกงรัดรูปสำหรับเด็ก | 0.10 | 0.09 | 0.09 | 0.09 | 0.09 | 0.09 |
รวม | 52.91 | 53.78 | 54.62 | 55.43 | 56.22 | 57.71 |
- ช่องทางการจัดจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ
2.1.ช่องทางออฟไลน์
2.1.1.ห้างสรรพสินค้า: ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมเช่น Macy’s, JCPenney และ Kohl’s ยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเสื้อผ้าเด็ก โดยอาศัยจุดเด่นในเรื่องความหลากหลายของแบรนด์และสินค้า ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตรงตามความต้องการในคราวเดียว
2.1.2.ร้านค้าเฉพาะทาง: ร้านค้าปลีกที่เน้นการจำหน่ายเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เช่น Children’s Place, Gap Kids และ Carter’s มีสถานะแข็งแกร่งในตลาด โดยร้านค้าปลีกดังกล่าวจะเน้นการนำเสนอสินค้าเฉพาะทาง สินค้าคอลเลคชั่นเฉพาะพิเศษตามฤดูกาล ซึ่งผู้ขายมีความรู้และสามารถให้คำแนะนำผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี
2.1.3.ร้านค้าปลีกแบบสาขา: ร้านค้าอย่าง Target และ Walmart มีตัวเลือกเสื้อผ้าเด็กหลากหลายและมี แบรนด์ของตนเองจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยาว์ สามารถตอบสนองความต้องการแบบมหภาค
2.1.4.ร้านบูติก: ร้านบูติกจะเน้นจำหน่ายเสื้อผ้าเด็กที่เป็นแบรนด์หรือมีการผลิตในคอลเลกชั่นพิเศษ เน้นเจาะตลาดลูกค้าระดับบนที่ต้องการความแตกต่าง
2.2.ช่องทางออนไลน์
2.2.1.แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ: Amazon, eBay และ Etsy เป็นกำลังสำคัญของการค้าปลีกออนไลน์ รวมถึงเสื้อผ้าเด็กด้วย เนื่องจากมีความหลากหลายของแบรนด์ มีขนาดและสไตล์ให้เลือกมากมาย
2.2.2.เว็บไซต์ของแบรนด์: แบรนด์เสื้อผ้าเด็กจำนวนมากมีเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตัวเอง ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากแหล่งที่มาได้โดยตรง สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ลูกค้าก็ยังสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษเฉพาะจากแบรนด์ เช่น การสะสมแต้ม การลดราคาและของแถมต่างๆ
2.2.3.แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย: การครอบคลุมของสื่อโซเชียลและผู้ทรงอิทธิพลได้ช่วยแบรนด์ในการเผยแพร่และแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยช่องทางดังกล่าวจะเน้นการผลักดันเทรนด์ใหม่ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อกระตุ้นผู้ปกครองที่มีอำนาจในการซื้อ
- สถานการณ์เสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567
3.1.ภาพรวมตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ
ตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ ปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 13,120 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.13% นับว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเด็กรวม โดยอาศัยแรงผลักดันจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น การที่เยาวชนมีส่วนรวมในกีฬามากขึ้น ความตระหนักเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหนุนให้ผู้ปกครองหันมาสนับสนุนบุตรหลานในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคกำลังมองหาชุดกีฬาที่มีสไตล์สามารถสวมใส่ได้ทั้งในและนอกสนาม กอปรกับความก้าวหน้าทางนวัตกรรมใหม่ทำให้ชุดกีฬาสำหรับเด็กสวมใส่สบายและมีประสิทธิภาพในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น
แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเด็กในตลาดสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม หลัก คือ
3.1.1.ผู้เล่นหลักในตลาดชุดกีฬาเด็ก เช่น แบรนด์ Nike ผู้นำระดับโลก มีชุดกีฬาสำหรับเด็กที่ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้าและเครื่องประดับ แบรนด์ Adidas สินค้ากีฬาสำหรับเด็กของแบรนด์นี้จะมุ่งเน้นการออกแบบและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็ก แบรนด์ Under Armour เน้นความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสำหรับนักกีฬา และแบรนด์ Puma เน้นชุดกีฬาสำหรับเด็กที่มีสไตล์ที่ผสมผสานแฟชั่นและการใช้งานเข้าด้วยกัน
3.1.2.แบรนด์ที่เน้นการเจาะตลาดเฉพาะ เช่น Patagonia เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอชุดกีฬาเด็กคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, Athleta เน้นความหลากหลายของชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงและเด็ก, GapFit Kids เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาเด็กของ Gap เน้นการเสนอทางเลือกที่สะดวกสบายและราคาไม่แพง, Old Navy Active เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาจาก Old Navy เน้นการจำหน่ายชุดออกกำลังกายสำหรับเด็กที่เน้นดีไซน์สนุกสนานและทันสมัย และ H&M Sport เป็นกลุ่มสินค้ากีฬาของ H&M เน้นการนำเสนอชุดกีฬาเด็กที่มีสไตล์และราคาไม่แพง
3.1.3.แบรนด์อิสระ เช่น แบรนด์ Outdoor Research แบรนด์ที่เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์กลางแจ้ง ได้นำเสนอชุดกีฬาเด็กประสิทธิภาพสูงเหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ
3.2.เทรนด์ที่น่าสนใจและน่าจะมาแรงในตลาดเสื้อผ้ากีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ อาทิเช่น
3.2.1.เทรนด์ความยั่งยืนและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นนำจนถึงปลายน้ำ เช่น การรีไซเคิลวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาผลิตสินค้า เป็นต้น ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวกำลังกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูผู้ซื้อในตลาดสหรัฐฯ
3.2.2.เทรนด์การสั่งทำเป็นพิเศษหรือเฉพาะบุคคล หนุนให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ที่มองหาตัวเลือกส่วนบุคคลเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่
3.2.3.เทรนด์ความทันสมัยทางเทคโนโลยี ช่วยทำให้วัสดุและเสื้อผ้ามีการสวมใส่ที่สบายมากขึ้น นอกจากนี้บาง แบรนด์ได้มีการนำเทคโนโลยี เช่น การติดตาม GPS เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และผ้าควบคุมอุณหภูมิไปผนวกเข้ากับชุดกีฬาเด็กเพื่อเพิ่มอรรถประโยชน์สูงสุด
3.2.4.แนวโน้มเสื้อผ้าที่ไม่แบ่งแยกเพศมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น การออกแบบ Gender-neutral จึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
3.3.กลยุทธ์การเจาะตลาดเสื้อผ้ากีฬาในสหรัฐฯ ของแบรนด์ต่างชาติ
3.3.1.ศึกษาและทำความเข้าใจกับตลาดสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางในการนำเสนอแบรนด์ให้แตกต่างจากคู่แข่งในประเทศ และวิเคราะห์ตลาดเพื่อระบุคู่แข่งหลักและจุดแข็งของแบรนด์ตนเอง
3.3.2.การจัดลำดับความสำคัญในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายหลัก: พ่อแม่และผู้ปกครองตัดสินใจซื้อของให้บุตรหลาน และเป้าหมายรอง: ตัวเด็กเองที่อาจมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อ
3.3.3.การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon, Etsy หรือ Shopify และสื่อโซเชียลมีเดียเช่น Instagram, Pinterest และ TikTok ในการเจาะฐานลูกค้า นอกจากนี้ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ในสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือกีฬาสำหรับเด็กเพื่อสร้างการรับรู้และทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำของผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งอาจจะได้รับกระแสนิยมแบบกว้างตามมา อย่างไรก็ดี การทำการตลาดผ่านทางออนไลน์ แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อหาและนำเสนอภาพที่มีคุณภาพเพื่อสร้างความตระหนักให้สอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์และสินค้า
3.3.4.การร่วมมือกับร้านบูติกพิเศษหรือร้านคอนเซ็ปต์ที่เหมาะกับแบรนด์เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นโอกาสที่ดีในการรวบรวมและสร้างฐานรายชื่ออีเมลลูกค้าสำหรับส่งข้อมูลสินค้า และกำหนดโปรแกรมจูงใจลูกค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำต่อไปในอนาคต
3.3.5.การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในระยะยาว โดยงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเด็กในสหรัฐฯ ได้แก่
Playtime & Kid’s Hub NY: 9–11 กุมภาพันธ์ 2568 ณ Metropolitan Pavilion https://www.iloveplaytime.com
MAGIC New York: 18–20 กุมภาพันธ์ และ 14–16 กันยายน 2568 ณ Jacob K. Javits Convention Center
https://www.magicfashionevents.com/en/events/magic-new-york/about.html
ABC Kids Expo: 21–23 พฤษภาคม 2568 ณ the Mandalay Bay Resort & Convention Center
Dallas Kids World Market: (รอยืนยันจากทางผู้จัดงาน) มิถุนายน 2568 ณ Dallas Market Center
https://www.dallasmarketcenter.com/markets/
- โอกาสของสินค้าไทยในตลาดชุดกีฬาเด็ก
แม้ว่าตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ จะมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงแต่สินค้าจากไทยก็ยังมีโอกาสในการเจาะตลาดดังกล่าว โดยอาศัยโอกาสดังต่อไปนี้
4.1.การรับรู้ของตลาดต่างประเทศยอมรับในเรื่องงานออกแบบและงานฝีมือจากไทย ดังนั้นนักออกแบบไทยควรใช้โอกาสดังกล่าวในการนำเสนอชุดกีฬาเด็กที่มีการออกแบบโดดเด่นและมีคุณภาพดีเพื่อมาเจาะฐานลูกค้า
4.2.ไทยควรศึกษาในเรื่องการกำหนดราคาและให้ความสนใจตลาดเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยเน้นการนำเสนอในเรื่อง
แบรนด์ยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม
4.3.อาศัยความร่วมมือกับแบรนด์ในสหรัฐฯ เพื่อสร้างสินค้าคอลเลกชั่นใหม่และขยายการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ
4.4.ร่วมมือกับผู้ทรงอิทธิพลทางสื่อโซเชียลหรือศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงในการสร้างกระแสความนิยมและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้กจักมากขึ้นบนช่องทางโซเชียล เพื่อกระตุ้นอุปสงค์การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์
- ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
ตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กในสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยแรงหนุนจากการที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของบุตรหลาน กอปรกับรายได้ของผู้บริโภคสหรัฐฯ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กระแสความนิยมในเรื่องกีฬาระดับนานาชาติ รวมทั้ง ภาพลักษณ์ของนักกีฬาทางโลกโซเชียลได้กระตุ้นให้กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันและต้องการที่จะเลียนแบบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้ตลาดชุดกีฬาสำหรับเด็กน่าจะมีการเติบโตอย่างสดใสและแข็งแกร่งต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง: Statista, https://www.fibre2fashion.com/