จับตาสถานการณ์ประท้วงหยุดงานท่าเรือในสหรัฐฯ

                 เนื้อหาสาระข่าว and บทวิเคราะห์: ความคืบหน้าข้อพิพาทระหว่างสมาคม International Longshoremen’s Association (ILA) ซึ่งเป็นเสมือนสหภาพแรงงานของพนักงานลูกจ้างที่ทำงานจำนวนประมาณ 45,000 คนในท่าเรือที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออก (East Coast) และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก (Gulf Coast) ของสหรัฐฯ กับเครือข่าย United States Maritime Alliance (USMX) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการกิจการท่าเรือเหล่านั้น ยังไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นสำคัญสองเรื่อง ได้แก่ การขึ้นค่าแรง และการต่อต้านการใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติในอุปกรณ์ต่าง ๆ ในท่าเรือ เช่น เครน ประตู และรถบรรทุก ที่อาจทำให้แรงงานบางส่วนต้องตกงานจากการเข้ามาแทนที่ในการทำงานบางประเภท โดยข้อกังวลอยู่ที่สัญญาระหว่างสองฝ่ายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้จะสิ้นสุดลงวันที่ 30 กันยายน 2024 ซึ่งก็คือในอีกไม่วันที่จะถึงนี้ ฝ่าย ILA ได้ประกาศแล้วว่าทันทีที่ข้ามเที่ยงคืนของวันดังกล่าว แรงงานทั้งหมดที่ทำงานในท่าเรือจะพร้อมใจกันหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีเพื่อประท้วงต่อรอง

ข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพแรงงาน ILA ประกอบด้วย การเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงจากปัจจุบัน 77% เพื่อให้สามารถรองรับและปรับเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเงินชดเชยจำนวนหนึ่งตั้งแต่ช่วงที่ยังมีโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดมีการเจรจาตกลงปรับค่าแรงตามสัญญาฉบับปัจจุบันครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยข้อเรียกร้องในเรื่องการขึ้นค่าแรงถือเป็นประเด็นหลักที่ทำให้การเจรจาระหว่างฝ่ายสหภาพแรงงานและเครือข่ายกิจการท่าเรือไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งในเวลาต่อมาทางเครือข่าย USMX ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Board: NLRB) ให้ตรวจสอบว่าทางสหภาพแรงงาน ILA นั้นกำลังมีพฤติกรรมที่ต่อรองโดยไม่สุจริตใจ เข้าข่ายหลักปฏิบัติแรงงานที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Labor Practice) ซึ่งดูเหมือนจะซ้ำร้ายความเป็นไปได้ในการเจรจาระหว่างสองฝ่าย ทั้งนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีต่อข้อพิพาทดังกล่าวว่าทางประธานาธิบดีไบเดนจะไม่ก้าวก่าย และจะไม่ใช้อำนาจรัฐในการยับยั้งการประท้วงหยุดงานที่อาจขึ้น

คาดการณ์ผลกระทบภาพรวม

                   จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในท่าเรือกว่า 45,000 คนซึ่งพร้อมใจที่จะหยุดงานประท้วงตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 1 ตุลาคม 2024 เป็นต้นไปนั้น จะส่งผลให้ท่าเรือสำคัญว่า 36 แห่งในชายฝั่งตะวันออก และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐ Maine ยาวลงมาถึง Texas ซึ่งมีเมืองท่าสำคัญ อาทิ New York (รัฐ New York), New Jersey (รัฐ New Jersey), Philadelphia (รัฐ Pennsylvania), Baltimore (รัฐ Maryland), Charleston (รัฐ South Carolina), Savannah (รัฐ Georgia), Houston (รัฐ Texas), New Orleans (รัฐ Louisiana) และ Miami (รัฐ Florida) เป็นต้น จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่าเรือทั้งหมดนี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งรองรับสินค้านำเข้าทางเรือมายังสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าทางเรือทั้งประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากการประท้วงหยุดงานเกิดขึ้นกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์ขึ้นไป จะส่งผลให้สินค้าคงค้างที่ท่าเรือมากมาย และที่สำคัญที่สุดคือจะส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งทางเรือไม่ว่าจะขานำเข้าหรือขาส่งออกจากท่าเรือเหล่านี้ ตลอดจนปัญหาการขาดตลาดและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าบางประเภทที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่

กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ

                   สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่ารวมกว่า 3.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีท่าเรือนำเข้าสินค้าอยู่ในฝั่งท่าเรือที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือเมือง Baltimore ที่ถือเป็นท่าเรือหลักสำหรับสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะหากเป็นสินค้าที่ขนส่งมาทางมหาสมุทรแอตแลนติก หรือมาจากทางยุโรป เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนเส้นทางขึ้นท่าเรือไปอีกฝั่งทีมีความซับซ้อนมากกว่า เช่นเดียวกันกับสินค้าเครื่องจักร (มูลค่ารวม 9.74 หมิ่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสินค้าเหล็กแปรรูป (มูลค่ารวม 1.62 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สินค้าเกษตรกว่าร้อยละ 53 ของสหรัฐฯ ที่นำเข้ามาทางเรือจะส่งผลกระทบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/สัปดาห์ สินค้าผลไม้ เช่น กล้วย ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าเป็นหลักจากประเทศกัวเตมาลาและเอกวาดอร์ สินค้ากาแฟและโกโก้ ล้วนนำเข้าผ่านทางท่าเรือเหล่านี้ทั้งสิ้น ในทางตรงข้ามนั้นภาคการส่งออกของสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าจากถั่วเหลือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเนื้อสัตว์และไข่ไก่ที่ต้องอาศัยระบบแช่แข็งและแช่เย็นก็อาจได้รับผลกระทบเสียหายมากที่เดียวเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีสินค้าเวชภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์กว่าร้อยละ 91 ที่สหรัฐฯนำเข้า และกว่าร้อยละ 69 ที่สหรัฐฯส่งออกผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกเป็นหลัก ซึ่งในจำนวนนี้มีปริมาณ 1 ใน 3 ที่นำเข้าผ่านท่าเรือเมือง Charleston อย่างเดียว รวมถึงกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายรวมมูลค่ากว่า 3.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้าเฟอร์นิเจอร์มูลค่ากว่า 2.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งหมดล้วนคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบ

                     ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาระบบ Supply Chain ของโลกในภาคการขนส่งในหลายแห่งต่างก็เผชิญกับอุปสรรคหลากหลายรูปแบบทั้งสงครามความขัดแย้ง ปัญหาภัยความมั่นคง จนถึงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำหรับในสหรัฐฯเอง เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็เกิดอุบัติเหตุความเสียหายครั้งใหญ่ที่ท่าเรือ Baltimore ซึ่งปัจจุบันกำลังฟื้นฟู คราวนี้ก็เผชิญกับการต่อสู้ของสหภาพแรงงานซึ่งอาจนำไปสู่การประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 47 ปี

เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบต้นทุนที่สำคัญที่สุดของการส่งออก-นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ควรเกาะติดสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดที่จะทำให้เกิดภาวะชะงักงัน (Disruption) ในจุดใดจุดหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เป็นตัวแปรมากระทบกับต้นทุนการส่งออก อีกทั้ง ควรแสวงหาทางเลือกสำรองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในระบบการขนส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ และรวมถึงประเทศปลายทางอื่น ๆ เช่นกัน

ที่มา: Reuters
Subject: “What we know about US East Coast Port labor dispute and products affected”
สคต. ไมอามี /วันที่ 26 กันยายน 2567

en_USEnglish