ผู้ส่งออกพลาสติกเวียดนามให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีการรีไซเคิล

นาง Huynh Thi My เลขาธิการสมาคมพลาสติกเวียดนาม (Vietnam Plastics Association) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกของเวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่เกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรีไซเคิลและเทคโนโลยีการผลิตที่ยั่งยืนกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการพัฒนาสีเขียว (green development) ดังนั้นผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในการแปรรูปเศษพลาสติกใช้แล้ว (plastic scrap) รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบใหม่ที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร โดยงานนิทรรศการพลาสติกนานาชาติประจำปี 2024 (2024 International Plastics Exhibition) ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ภาคธุรกิจต่าง ๆ จะมีการนำผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีรีไซเคิลมาจัดแสดง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจเวียดนามที่จะเข้าถึง เลือก และลงทุนในการผลิต เพื่อรองรับคำสั่งซื้อส่งออกในอนาคตด้วยมาตรฐานที่เข้มงวดจากตลาดโลก

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่งออกพลาสติกชั้นนำของเวียดนามได้ดำเนินการอย่างจริงจังตามข้อกำหนดของคู่ค้า เพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างยั่งยืน เช่น ต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลจำนวนหนึ่งในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตามข้อกำหนดของประเทศในยุโรป ทั้งนี้ สมาคมพลาสติกหวังว่าผู้ประกอบการขนาดกลางจะต้องดำเนินการเชิงรุกและเตรียมการ เพื่อให้สามารถตอบสนองข้อกำหนดด้านขยะพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลของโลกได้ และความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ส่งออก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตจากพลาสติกและยางรีไซเคิลได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นผู้ประกอบการเวียดนามจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาด

ด้วยนวัตกรรมและนโยบายในประเทศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กประสบปัญหา เนื่องจากไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ ปัจจุบัน ตลาดส่งออกมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon credits) และเทคโนโลยีการรีไซเคิล ผู้ประกอบการพลาสติกเวียดนามจึงต้องปรับตัวและปรับปรุง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับคำสั่งซื้อในบริบทของการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ เวียดนามจะสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่แข็งแกร่ง และมีการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อรองรับตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ สมาคมพลาสติกเวียดนามยังประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์จะสามารถนำไปใช้ในการรีไซเคิลได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมพลาสติกให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน

(แหล่งที่มา https://tuoitrenews.vn/ ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ในแต่ละปี การบริโภคพลาสติกของเวียดนามเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 โดยในปี 2566 เม็ดพลาสติกทั้งหมดในประเทศมีจำนวนสูงถึงเกือบ 10 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม มีพลาสติกเพียงร้อยละ 33 เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับตลาดพลาสติกรีไซเคิลในเวียดนาม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของเวียดนามยังไม่ได้ดำเนินการเชิงรุกในเรื่องแหล่งวัตถุดิบ ที่ต้องเป็นวัตถุดิบรีไซเคิลและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามข้อกำหนดในการส่งออกสินค้าพลาสติกไปยังต่างประเทศ เช่น ยุโรป อีกด้วย

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ตามรายงานข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามจาก Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2566 เวียดนามนำเข้าพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39) มูลค่า 1.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสินค้าเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (พิกัดศุลกากร 3915) มูลค่า 4,812 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแหล่งนำเข้าสินค้าเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ตุรกี และมาเลเซีย และนำเข้าจากประเทศไทยมูลค่า 57.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+20.62%) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามมีความพยายามที่จะลดการใช้พลาสติกและขจัดขยะพลาสติกภายในประเทศจึงทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) เวียดนามนำเข้าพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39) มูลค่า 50.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 48.47 การลดลงของการนำเข้าพลาสติกในช่วงปี 2567 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลเวียดนามที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมความยั่งยืนและการลดปัญหาขยะพลาสติกภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลาสติกจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยจึงควรตระหนักถึงแนวโน้มการลดการนำเข้าพลาสติกของเวียดนามและปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าพลาสติกและเศษพลาสติก (พิกัดศุลกากร 3915) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของเวียดนาม และควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในเวียดนามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับกลยุทธ์การส่งออกและการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและนโยบายที่กำหนด

en_USEnglish