ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยกเลิกกฎอัยการศึกหลังรัฐสภาคัดค้าน

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เวลาประมาณ 22:28 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาไทย 20:28 น.) นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน (Martial Law) ผ่านสถานีโทรทัศน์ ซึ่งนับเป็นการประกาศครั้งแรกในรอบ 44 ปี ของเกาหลีใต้ หลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุดในในเดือนพฤษภาคม 2523 มีการนำรถถัง เฮลิคอปเตอร์ และกองกำลังทหารเข้าควบคุมสถานที่สำคัญ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนได้แสดงความไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีการระดมสมาชิกรัฐสภาเพื่อลงมติยกเลิกประกาศ และชุมนุมประท้วงที่อาคารรัฐสภาจนเกิดการปะทะกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร

ประธานาธิบดียุนได้ระบุเหตุผลของการประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินว่า เพื่อปกป้องประเทศจากกองกำลังเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ประธานธิบดียุนยังใช้เหตุผลที่รัฐสภาเกาหลีใต้ นำโดยพรรคฝ่ายค้าน (Democratic Party: DPK) มีความพยายามที่จะถอดถอนประธานาธิบดี ว่าเป็นพฤติกรรมต่อต้านรัฐอันมีความมุ่งหมายเพื่อปลุกระดม จนทำให้กิจการของรัฐไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาล รวมถึงการไม่ผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี 2568 และได้โจมตีพรรค DPK ว่าพยายามล้มล้างระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ ลงมติเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 190 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเสียงในสภาทั้งหมด 300 เสียง คัดค้านการประกาศและเรียกร้องให้ประธานาธิบดียกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ประธานาธิบดีตัดสินใจออกประกาศยกเลิก       กฎอัยการศึก และสั่งถอดถอนกำลังทหารในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 04.20 ซึ่งนับเป็นเวลาเพียงหกชั่วโมงหลังจากที่ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินต่อสาธารณชน

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยกเลิกกฎอัยการศึกหลังรัฐสภาคัดค้านจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดียุนซอกยอลกำลังได้รับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากประชาชนและฝ่ายพรรคการเมืองว่าล้มเหลวด้านการบริหาร และอำนาจโดยมิชอบในการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จากสถานการณ์ล่าสุด ณ ช่วงเช้าของวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนนโยบาย และหัวหน้าเลขาธิการประจำสำนักประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง และคาดว่า ความเป็นไปได้สูงที่คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี รวมถึงเจ้าหน้าที่คนสำคัญที่สนับสนุนประธานาธิบดีจะประกาศลาออกหรือถูกปลดจากตำแหน่งภายในอนาคตอันใกล้นี้

ในส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดียุน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเกาหลีใต้กำลังวางแผนเสนอร่างกฎหมายถอดถอนประธานาธิบดี หากมติถอนถอนสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนเพียงพอ (200 เสียง) อาจนำไปสู่การถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังได้ได้ฟ้องร้องประธานธิบดียุนซอกยอล รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในข้อหากบฏ เนื่องจากใช้อำนาจมิชอบประกาศกฏอัยการศึก ก่อการจลาจลและความขัดแย้งภายในประเทศ และใช้กำลังทหารควบคุมสมาชิกรัฐสภาพรรคที่ต่อต้านประธานาธิบดี เพื่อไม่ให้ลงมติคัดค้านการประกาศกฎอัยการศึก

บทวิเคราะห์

จากประกาศใช้กฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนซอกยอล และรัฐสภาเกาหลีใต้ยกเลิกกฎดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มที่ประชาชนเกาหลีใต้จะออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง ทำให้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งต้องคอยติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์เป็นระยะ สำหรับผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทย ในระยะสั้น ค่าเงินที่ผันผวนและการปรับตัวลงของตลาดหุ้นเกาหลีอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้ากับบริษัทเกาหลี สำหรับผลกระทบในระยะยาว ต้องประเมินจากสถานการณ์การเมืองในอนาคตอย่างใกล้ชิดต่อไป

********************************************************************

 

en_USEnglish