ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาการก่อสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนได้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ประกอบกับการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการเชื่อมโยงสำคัญ เช่น เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-sea Corridor) นอกจากนี้ ระบบโลจิสติกส์โซ่เย็นข้ามพรมแดนและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน มาตรการและเงื่อนไขที่เอื้อต่อ การอำนวยความสะดวกในการผ่านด่านศุลกากรก็ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ผลไม้อาเซียน โดยเฉพาะทุเรียน สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า ในปี 2566 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจำนวน 1,426,000 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดอยู่ที่ 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 ซึ่งทำให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดติดต่อกันหลายปี “ทุเรียน” ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามิน กรดอะมิโน และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของจีนไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทุเรียน ส่งผลให้ผลผลิตภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ และยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
- การนำเข้าทุเรียนของประเทศจีน
ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสู่ประเทศจีน ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ
1.1 ประเทศไทย ภายหลังจากที่จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2546 ส่งผลให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลสถิติจากสำนักงานศุลกากรจีน ปรากฏว่า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนปริมาณ 784,000 ตัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 929,000 ตัน ในปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 3,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 4,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยปริมาณ 785,000 ตัน มูลค่า 3,870 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยราคานำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,928 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ฤดูกาลผลิตทุเรียนของไทยอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน และช่วงส่งออกสูงสุดไปยังจีนระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม สำหรับทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ได้แก่ หมอนทอง กระดุม พวงมาณี ชะนี และก้านยาว อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจากทุเรียนเวียดนามส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนไทยลดลง
1.2 ประเทศเวียดนาม หลังจากที่จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากเวียดนามในเดือนกันยายน 2565 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกทุเรียนเวียดนามมายังจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติจากสำนักงานศุลกากรจีนปรากฏว่า ในปี 2566 เวียดนามส่งออกทุเรียนมายังจีนปริมาณ 493,000 ตัน มูลค่า 2,140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนทั้งหมด ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามปริมาณ 702,000 ตัน มูลค่า 2,780 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยราคานำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,965 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคานำเข้าทุเรียนไทย ฤดูกาลผลิตทุเรียนของเวียดนามอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยผลผลิตสูงสุดในบริเวณตอนกลางของประเทศระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทย สำหรับทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ได้แก่ หมอนทอง และเปลือกสีเขียวพันธุ์ Ri6
1.3 ประเทศฟิลิปปินส์ นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2566 จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ ส่งผลให้การส่งออกทุเรียนฟิลิปปินส์มายังจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังครองส่วนแบ่งตลาดน้อย ตามสถิติจากสำนักงานศุลกากรจีน ในปี 2566 ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนไปมาจีนปริมาณ 3,763 ตัน และในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 ส่งออกปริมาณ 6,260 ตัน ทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก คือ ปูยัต (Puyat) โดยมีฤดูกาลผลิตสองช่วง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ซึ่งสามารถชดเชยช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทยได้
1.4 ประเทศมาเลเซีย เมื่อจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากมาเลเซียในเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้การส่งออกทุเรียนมาเลเซียไปยังจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มาเลเซียส่งออกทุเรียนไปยังจีนปริมาณ 215 ตัน มูลค่า 3.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฤดูกาลผลิตทุเรียนของมาเลเซียมีสองช่วง ได้แก่ เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ทุเรียนพันธุ์หลักที่ส่งออก ประกอบด้วย มูซังคิง หนามดำ Udang Merah และ Sultan โดยมีฤดูกาลผลิตหลักสองช่วง ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งสามารถชดเชยช่วงนอกฤดูกาลทุเรียนของไทยได้
- 2. แหล่งนำเข้าทุเรียน 28 อันดับแรกของจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567
ลำดับ | มณฑล/city | ปริมาณ
การนำเข้า (ตัน) |
มูลค่าการนำเข้า
(ล้านเหรียญสหรัฐฯ) |
1 | มณฑลกวางตุ้ง | 368,692.2 | 11,660 |
2 | มณฑลยูนหนาน | 252,173.8 | 7,997 |
3 | เขตปกครองตนเองกวางสี | 222,155.8 | 7,015 |
4 | มณฑลเจื้อเจียง | 142,261 | 4,723 |
5 | มณฑลเหอเป่ย | 127,013.9 | 3,895 |
6 | มณฑลเสฉวน | 71,674.5 | 2,328 |
7 | มหานครเซี่ยงไฮ้ | 63,862.9 | 2,027 |
8 | มณฑลหูเป่ย | 36,769.1 | 1,190 |
9 | กรุงปั่กกิ่ง | 31,460.3 | 1,020 |
10 | มณฑลเจียงซู | 26,892.6 | 791 |
11 | มณฑลฝูเจี้ยน | 26,063.9 | 735 |
12 | มณฑลหูหนาน | 20,886.9 | 680 |
13 | นครฉงชิ่ง | 17,976.1 | 619 |
14 | มณฑลซานตง | 14,973 | 494 |
15 | มณฑลอันฮุย | 13,905.9 | 446 |
16 | มณฑลเหลิวหนิง | 117,595.4 | 361 |
17 | มณฑลไหหลำ | 9,861 | 345 |
18 | มณฑลเหอหนาน | 9,675.8 | 316 |
19 | มณฑลกุ้ยโจว | 6,279.6 | 208 |
20 | มณฑลเจียงซี | 4,434.9 | 152 |
21 | นครเทียนจิน | 3,662.3 | 135 |
22 | มณฑลชิงไห่ | 87.7 | 119 |
23 | มณฑลส่านซี | 1,346.6 | 43.10 |
24 | เขตปกครองตนเองซินเจียง | 956.9 | 39.687 |
25 | มณฑลซานซี | 431.35 | 13.214 |
26 | เขตปกครองตนเองทิเบต | 101 | 3.386 |
27 | เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน | 17 | 0.726 |
28 | มณฑลจี๋หลิน | 3.111 | 0.111 |
แหล่งข้อมูล : https://mp.weixin.qq.com/s/GWAESbXcFXcj5W6m0kO1zg
- วิธีการขนส่ง
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งทุเรียนมายังประเทศจีนมีความหลากหลายตามไปด้วย
3.1 การขนส่งทุเรียนไทย การส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนดำเนินการผ่านช่องทางการขนส่งหลายรูปแบบ ได้แก่ ทางเรือ ทางบก ทางอากาศ และทางราง
การขนส่งทางเรือจะดำเนินการจากท่าเรือแหลมฉบังในประเทศไทย ไปยังท่าเรือหนานซาและท่าเรืออื่น ๆ ในประเทศจีน การขนส่งทางบกจะผ่านด่านต่าง ๆ เช่น ด่าน Youyiguan ในเขตปกครองตนเองกวางสี ด่านบ่อหานในมณฑลยูนนาน และด่านทางบกอื่น ๆ
ทั้งนี้ หลังจากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ผู้นำเข้าทุเรียนชาวจีนหันมาใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งทุเรียนจากประเทศไทยมากขึ้น การขนส่งทุเรียนไทยผ่านเส้นทางนี้มายังเมืองคุนหมิงใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน และจากประเทศไทยไปยังนครฉงชิ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน
3.2 การขนส่งทุเรียนเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีอาณาเขตติดกับเขตปกครองตนเองกวางสี จึงเน้นการขนส่งผ่านทางบกเป็นหลัก
3.3 การขนส่งทุเรียนฟิลิปปินส์ ทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ส่งออกมายังประเทศจีนส่วนใหญ่จะขนส่งผ่าน ทางอากาศและทางเรือเป็นหลัก โดยดำเนินพิธีการผ่านศุลกากรที่มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง มณฑล เจ้อเจียง และพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดด้านระยะทางและโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งจากฟิลิปปินส์มายังจีนมักจะสูงกว่าผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้
3.4 การขนส่งทุเรียนมาเลเซีย ทุเรียนมาเลเซียที่ส่งออกมายังประเทศจีนจะเน้นการขนส่งผ่าน ทางอากาศและทางเรือเป็นหลัก
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยระดับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริโภคของตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง ทุเรียนซึ่งมีรสชาติที่เป็นเอกลักณษ์และคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมในประเทศจีน อย่างไรก็ดี เนื่องจากกำลังการผลิตของจีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกทุเรียน ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องนำเข้าทุเรียนและผลิตภัณฑ์จากทุเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนไปยังจีน และเป็นคู่ค้าทุเรียนอันดับต้น ๆ เนื่องจากคุณภาพดี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย ควรยกระดับการแปรรูปทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ไอศกรีมทุเรียน ท๊อปฟี่ทุเรียน คุกกี้ทุเรียน พิซซ่าทุเรียน เครื่องดื่มทุเรียน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมให้ความสำคัญกับ การพัฒนาอุปกรณ์การขนส่งแช่แข็งและระบบรักษาความสดสำหรับทุเรียนสด เพื่อลดต้นทุนการจำหน่ายและป้องกันการสูญเสีย
————————————————–
Commercial Section, Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Chengdu
ธันวาคม 2567
แหล่งข้อมูล : https://www.360kuai.com
https://www.163.com/dy/article/JHRP13TE0534A4SC.html