การที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดาร้อยละ 25 ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างรุนแรง ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ แคนาดาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยการเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการขึ้นภาษี การเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเป็นสิ่งแรกที่แคนาดาต้องการ หากไม่เป็นผลอาจต้องตอบโต้ทางการค้า รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการภายในประเทศเพื่อปกป้องเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างแนวทางเตรียมความพร้อมของแคนาดา สรุปได้ ดังนี้
- การเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอการยกเว้นภาษีศุลกากร แคนาดามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่แนบแน่น โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของแคนาดา กว่าร้อยละ 77 ของการส่งออกของแคนาดาส่งไปสหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์ เหมืองแร่ และเกษตรกรรม การเริ่มต้นการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอการยกเว้นหรือการลดภาษีศุลกากร โดยเฉพาะหากภาษีที่กำหนดมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจแคนาดา แคนาดาควรเน้นข้อเท็จจริงที่ว่าแม้จะมีเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการส่งออกพลังงาน ซึ่งสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาแคนาดาในฐานะแหล่งพลังงานสำคัญ และไม่ใช่สินค้าที่แข่งขันโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ หากมีการขึ้นภาษีน้ำมันดิบจากแคนาดา ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เองจะต้องประสบปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้น
- การรักษาความเป็นเอกภาพในแคนาดา ทั้งระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐ และภาคธุรกิจ รวมถึงกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเจรจาของแคนาดา การร่วมมือกันในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความหนักแน่นในจุดยืนของแคนาดา แต่ยังส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศในเชิงยุทธศาสตร์
- การเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ หากการเจรจาล้มเหลวและภาษีนำเข้าถูกบังคับใช้ แคนาดาควรเตรียมมาตรการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบมากเกินไปต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ กลยุทธ์การตอบโต้ คือการกำหนดเป้าหมายไปที่สินค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีมูลค่าการส่งออกสูง เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตรหรือเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ มีการแข่งขันสูง การตอบโต้ในลักษณะนี้จะเป็นการบีบให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนการตัดสินใจโดยเร็ว นอกจากนี้ แคนาดาควรพิจารณาให้ละเอียดถึงผลกระทบในระยะยาว ไม่ให้ภาระตกกับอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับผลกระทบมากเกินไป แคนาดาควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้แบบทันที โดยสามารถรอดูท่าทีของสหรัฐฯ และผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวในระยะสั้นก่อน ด้วยแนวทางนี้ แคนาดาจะสามารถประเมินผลกระทบได้ดีกว่าและสามารถเลือกใช้
กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเจรจาหรือการตอบโต้ในอนาคต ขณะเดียวกัน การไม่ตอบโต้ทันทีอาจช่วยให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร เพราะหากภาษีสูงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นกัน - การหาพันธมิตรทางการค้า การเตรียมความพร้อมในการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ ยังสามารถทำได้ผ่านการสร้างพันธมิตรทางการค้า โดยการประสานงานกับกลุ่มพันธมิตรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชีย จะช่วยสร้างแรงกดดันจากหลายประเทศแก่สหรัฐฯ ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถลดผลกระทบของการขึ้นภาษีและช่วยขยายตลาดของแคนาดาในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว
การเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ หรือการต่อรองความตกลงทางการค้าที่มีอยู่ เช่น USMCA (The United States-Mexico-Canada Agreement) ที่มีกำหนดทบทวนในปี 2569 ก็อาจเป็นโอกาสในการทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการค้าระหว่างแคนาดาและสหรัฐฯ ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียเปรียบในระยะยาว
- การเตรียมการภายในประเทศ ในขณะที่การเตรียมความพร้อมในระดับนโยบายระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมการภายในประเทศก็ไม่ควรถูกมองข้าม แคนาดาควรจัดเตรียมมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรที่อาจทำให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้นและสร้างภาระให้กับผู้ผลิต การให้การสนับสนุนทางการเงินและสิ่งจูงใจแก่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน จะช่วยให้การปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- โอกาสจากสถานการณ์ แม้ว่าสถานการณ์การขึ้นภาษีจะเป็นความท้าทาย แต่ก็สามารถมองเป็นโอกาสในการขยายตลาดของแคนาดาได้ หากแคนาดาสามารถใช้โอกาสนี้ในการทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ที่โดนภาษี ด้วยสินค้าที่ผลิตได้ภายใน รวมถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป หรือเอเชีย ด้วย
ความเห็น สคต.
การขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าจากแคนาดาของสหรัฐฯ จะเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับแคนาดา ขณะเดียวกันก็อาจเป็นโอกาสสำหรับสินค้าจากทั่วโลก รวมถึงไทย ในการเข้าสู่ตลาดแคนาดาด้วย หากแคนาดามีการตอบโต้ทางการค้า โดยขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ทางผู้นำเข้าอาจจำเป็นต้องหาแหล่งสินค้าสำรองจากประเทศอื่น ซึ่งจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยซึ่งมีศักยภาพโดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร โดยสินค้าที่ไทยและสหรัฐมีส่วนแบ่งตลาดสูงในตลาดแคนาดา เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่ปรุงสุก อาหารสัตว์เลี้ยง ซอส อาหารพร้อมรับประทาน และสินค้าอื่นๆ ที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับต้นๆ ของแคนาดาแข่งขันกับสหรัฐ เช่น ยางรถยนต์ ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง เครื่องประดับเงิน อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงวงจร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-