นาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ได้ประกาศมอบเงินสนับสนุนจำนวนประมาณ 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ให้แก่ 12 โครงการ ที่ผ่านการคัดเลือกภายใต้โครงการ Seed, Research Translation และ Future Foods[1] ในพิธีเปิดงานสัปดาห์เกษตรและอาหารนานาชาติของสิงคโปร์ 2567 (Singapore International Agri-Food Week : SIAW 2024) เงินสนับสนุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการ Singapore Food Story (SFS)[2] โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมในสี่ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) เกษตรกรรมในเมือง 3) อาหารเพื่ออนาคต (Future Foods)[3] และ 4) ความปลอดภัยของอาหาร โดยโครงการที่ได้รับทุนมีเป้าหมายในการพัฒนาเครื่องมือทางพันธุกรรมสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเหนือกว่าทางพันธุกรรม เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการโรคในเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และลดต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการผลิต
Dr. Koh Poh Koon รัฐมนตรีอาวุโสด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในที่ประชุมวิชาการด้านเกษตรและอาหารระดับโลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ว่า สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) จะสนับสนุนทุนให้กับนักวิจัยและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงหรือเหมือนกับเนื้อสัตว์จริง รวมถึงคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการที่เทียบเท่าหรือดีกว่าโปรตีนทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น โดย SFA กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคตนั้นมีศักยภาพในการเติบโตและการพัฒนาได้อีก แต่เพื่อจะรองรับการผลิตอาหารเพื่ออนาคตในต้นทุนต่ำและในปริมาณมากนั้น จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการเพื่อปรับปรุงความน่ารับประทานและเพิ่มการยอมรับของผู้บริโภค
Dr. Koh ยังกล่าวเสริมว่า สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากกว่า 90% มีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักของอุปทานอาหารทั่วโลก การพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้สิงคโปร์สร้างระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น ทุนสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตที่เริ่มขึ้นในปี 2566 มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตของผู้ผลิตอาหารภายในประเทศให้เหนือกว่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการผลิตโปรตีนทางเลือก
หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนรอบแรกคือ GROW Meats ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*Star) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และสถาบันเทคโนโลยีสิงคโปร์ (Singapore Institute of Technology) โครงการนี้ได้พัฒนาอาหารเพาะเลี้ยงเซลล์(Cell Media) ที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนมากขึ้น พร้อมกระบวนการผลิตที่สามารถขยายขนาดได้และคุ้มค่า เพื่อทำให้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีราคาถูกลงและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ทุนสนับสนุนรอบที่สองเริ่มขึ้นหลังรายงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ระบุถึงความล่าช้าในการเปิดโรงงานของ Eat Just บริษัทจากแคลิฟอร์เนีย รวมถึงการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลจากเซลล์ Shiok Meats และบริษัทสิงคโปร์ Umami Bioworks ซึ่งบริษัท Shiok Meats ได้ชะลอการเข้าสู่ตลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากปัญหาในการขยายการผลิตเซลล์ต้นกำเนิดจากสัตว์จำพวกกุ้ง ซึ่งเผชิญความท้าทายในการขยายการผลิตเซลล์ต้นกำเนิดสัตว์จำพวกกุ้งตั้งแต่ปี 2563 การยื่นขอทุนสนับสนุนในรอบนี้ต้องมาจากนักวิจัยหลักของสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institutions of Higher Learning: IHLs) ในสิงคโปร์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ระหว่างปี 2562-2567 ตลาดอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ทั่วโลกมีอัตราเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (CAGR) ร้อยละ 10.5 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 มูลค่าตลาดจะสูงถึงประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและบริษัทต่างชาติ การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนานี้ช่วยเสริมศักยภาพของสิงคโปร์ให้ตอบสนองความต้องการในตลาดอาหารแห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศไทยมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปอาหาร โดยเป็นประเทศผู้ผลิตและมีวัตถุดิบในประเทศที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)[4] ระบุว่า ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารจากพืชของไทยยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การผลิตและแปรรูป การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมฐานข้อมูล การลงทุน และการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มความสามารถทางการค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารจากพืชระดับโลก
หากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอาหารแห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเร่งการนำเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกที่ยั่งยืน
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :
[1] Seed Grant Call เป็นการขอเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในระยะเริ่มต้น Research Translation Grant Call การปรับงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดศักยภาพในการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ และ Future Foods Grant Call เป็นการมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนและการปรับปรุงกระบวนการ
[2] สิงคโปร์มีข้อจำกัดทางพื้นที่ทางการเกษตรและปศุสัตว์ จึงจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลกถึง 90% SFA จึงได้สร้างสามกยุทธ์ที่อาศัยความร่วมมือทั้งจากรัฐบาล อุตสาหกรรมผู้ผลิต และผู้บริโภค ในการสร้างความมั่นคงทางแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้แก่ประเทศ หรือ 3 Food Baskets ได้แก่ 1) กระจายแหล่งนำเข้าอาหาร 2) นโยบาย 30×30 หรือการเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารในประเทศให้ได้ 30% ของความต้องการบริโภค ภายในปีค.ศ. 2030 และ 3) ผลักดันธุรกิจจากสิงคโปร์ให้ไปผลิตอาหารในต่างประเทศและส่งกลับมายังสิงคโปร์
[3] อาหารเพื่ออนาคต (Future Foods) หรืออาหารใหม่ ซึ่งรวมถึงโปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง และโปรตีนจากจุลินทรีย์ที่ได้มาจากจุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา ยีสต์ หรือสาหร่ายขนาดเล็ก