ด้วยข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรี (FTAs) จังหวัดญาลาย ในภูมิภาคที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามสามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกมูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ก่อนกำหนดถึงสองเดือน
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดญาลาย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 83 ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนผลิตภัณฑ์ป่าไม้และสินค้าอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 15 และจังหวัดจะเดินหน้าพัฒนาสินค้าส่งออกหลัก เช่น กาแฟ พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และน้ำยางพารา ทั้งนี้ จังหวัดได้มุ่งส่งเสริมการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ เช่น กาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้ ไปยังตลาดที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTAs) กับเวียดนาม เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสําหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหภาพยุโรป (EVFTA) และความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหราชอาณาจักร (UKVFTA)
นอกจากนี้ หน่วยงานระดับจังหวัดและผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออกได้เร่งปรับกลยุทธ์
การส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของตลาดที่มีความต้องการสูง เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) อย่างเป็นทางการ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับกลุ่มสินค้านำเข้า 7 ประเภท โดยในเวียดนาม อุตสาหกรรมหลัก 3 ประเภทที่ได้รับผลกระทบคือ ไม้ ยางพารา และกาแฟ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกได้ศึกษาข้อกำหนดของ EUDR อย่างรอบคอบและปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขห่วงโซ่อุปทานปัจจุบันของตนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ EUDR อย่างครบถ้วน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน สำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดญาลาย ได้เร่งดำเนินการอัปเดตข้อมูลตลาด วางแผนส่งเสริมการส่งออก และเสริมสร้างกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตลาดได้อย่างเชิงรุก
ปัจจุบัน จังหวัดญาลาย มีพื้นที่ปลูกกาแฟมากกว่า 100,000 เฮกตาร์ โดยมีผลผลิตประมาณ 315,000 ตันต่อปี พื้นที่ปลูกพริกไทยกว่า 7,700 เฮกตาร์ มีผลผลิต 23,300 ตันต่อปี พื้นที่ปลูกยางพารา 84,000 เฮกตาร์ มีผลผลิตน้ำยางแห้ง 79,000 ตันต่อปี และพื้นที่ปลูกผลไม้หลากหลายชนิดกว่า 30,000 เฮกตาร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการแปรรูปและการส่งออกสินค้าเกษตรของจังหวัด โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 255,600 เฮกตาร์ ที่มีการผลิตตามมาตรฐาน VietGAP, GlobalGAP, 4C, Organic, Rainforest Alliance และ FLO
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดญาลาย ได้ถูกส่งออกไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดยุโรปคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของจังหวัด โดยมีสินค้าที่สำคัญ เช่น กาแฟ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้แปรรูป ส่วนตลาดเอเชียคิดเป็นร้อยละ 30 โดยมีสินค้าที่สำคัญ เช่น ยางพารา กาแฟ และผลิตภัณฑ์ไม้
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
วิเคราะห์ผลกระทบ
จังหวัดญาลาย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสองในเวียดนาม โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดมากกว่า 1.4 ล้านเฮกตาร์ การส่งออกสินค้าเกษตรจึงเป็นหนึ่งในสามสาขาสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดญาลาย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรวมของจังหวัดได้เพิ่มขึ้นจาก 580 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 680 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของจังหวัด ได้แก่ กาแฟ ยางพารา โกโก้ พริกไทย และผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งมีอยู่ในตลาดของกว่า 50 ประเทศ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์บางประเภทจากจังหวัดสามารถตอบสนองตลาดที่มีข้อกำหนดคุณภาพสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรี (FTAs) ซึ่งช่วยให้จังหวัดสามารถบรรลุเป้าหมายมูลค่าการส่งออก 750 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้ถึง 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรของเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายในการส่งออกไปยังประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTAs) เนื่องจากมาตรการทางเทคนิค (Technical Trade Barriers) ที่เข้มงวด ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม และการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล โดยหนึ่งในปัญหาหลักที่สินค้าการเกษตรของเวียดนามต้องเผชิญ คือการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูง ซึ่งรวมถึงการควบคุมสารเคมีตกค้างในผลผลิต การจัดการกับสารพิษและสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีข้อกำหนดเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร นอกจากนี้ สินค้าเกษตรของเวียดนามต้องมีการรับรองมาตรฐานด้านแรงงานที่เป็นธรรมและเหมาะสม เช่น การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองแรงงานในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญในบางตลาด เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions) และการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ธุรกิจต้องคำนึงถึง ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่เข้มงวดในการควบคุมกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนในด้านการเติบโตแบบสีเขียว (Green Growth) ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับตลาดทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการเกษตรที่ไม่ทำลายธรรมชาติดังนั้น สินค้าเกษตรของเวียดนามจึงต้องปรับตัวและพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านี้เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนและมีความสามารถในการเติบโตในระยะยาว
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) มีมูลค่าประมาณ 51,740 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่ที่ 27,380 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 สินค้าหลายประเภทมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น กาแฟ ซึ่งขยายตัวประมาณ 340 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้าวขยายตัวประมาณ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และผักผลไม้ขยายตัวประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าสินค้าเกษตร ป่าไม้ และประมงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 36,530 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
การเติบโตของการส่งออกของเวียดนามตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากข้อได้เปรียบจากความตกลง FTAs ที่เวียดนามได้ลงนาม โดยเฉพาะความตกลง FTAs ที่สำคัญ เช่น RCEP CPTPP EVFTA และ UKVFTA ซึ่งความตกลง FTAs เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้เวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีข้อกำหนดทางการค้าที่โปร่งใส รวมถึงการลดภาษีและอุปสรรคทางการค้าในหลายตลาดสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดโลก
สำหรับผู้ประกอบการไทย การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของสินค้าในตลาดที่มีข้อกำหนดสูง เช่น สหภาพยุโรป และประเทศในแถบเอเชีย นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป หากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวในทิศทางนี้ได้ ก็จะสามารถแข่งขันกับสินค้าและบริการจากเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกทางเลือกหนึ่งคือการขยายการลงทุนไปยังเวียดนามเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง FTAs ที่เวียดนามมี ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดยุโรป และสหราชอาณาจักร ได้ง่ายขึ้นและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTAs ที่มีอยู่