เคนยาเริ่มส่งไฟฟ้าไปยังแทนซาเนียผ่านสายส่งไฟฟ้าใหม่ จุดเริ่มต้นระบบไฟฟ้าร่วมกันของแอฟริกาตะวันออก

Kenya Electricity Transmission Company (KETRACO) ได้สร้างสายส่งไฟฟ้า 400 กิโลโวลต์ที่เชื่อมระหว่างเคนยาและแทนซาเนียเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการค้าไฟฟ้าและการใช้ระบบไฟฟ้าร่วมกับในภูมิภาค (Eastern Africa Power Pool (EAPP)) การพัฒนานี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศสมาชิก 13 ประเทศของ Eastern Africa Power Pool (EAPP) (เคนยา แทนชาเนีย สป.คองโก จีบูติ เอธิโอเปีย อียิปต์ รวันดา ชูดาน เซาท์ซูดาน และยูดานกา) ตกลงที่จะเริ่มส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนและซื้อขายแพลตฟอร์มพลังงานอื่นๆ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2025 โครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้ คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างเคนยาและแทนซาเนีย ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นและสนับสนุนการบูรณาการด้านพลังงานและเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กว้างขึ้น

 

KETRACO, Tanzania Electricity Supply Company Limited (TANESCO) และ Kenya Power ตกลงที่จะจ่ายไฟและประสานโครงข่ายไฟฟ้าทั้งสองสายเข้าด้วยกัน โดยโครงการเชื่อมต่อเคนยา-แทนซาเนียประกอบด้วยการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ากระแสสลับแรงดันสูง (HVAC) ระยะทางประมาณ 510 กม. จากเคนยาไปยังแทนซาเนีย การขยายสถานีไฟฟ้า Isinya (เคนยา) และ Singida (แทนซาเนีย) รวมถึงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า Arusha ในส่วนของเคนยา เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 400 กิโลโวลต์ระยะทาง 96 กม. จากสถานีไฟฟ้า Isinya ไปยังชายแดน Namanga และการขยายสถานีไฟฟ้า Isinya 400/220 กิโลโวลต์

 

ในส่วนของแทนซาเนีย เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 400 กิโลโวลต์ระยะทาง 414 กม. จากสถานีไฟฟ้า Namanga ไปยัง Singida การก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 400 กิโลโวลต์ Arusha ตลอดจนการขยายสถานีไฟฟ้า 220/33 กิโลโวลต์ Singida เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงไฟฟ้าตะวันออกซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าในภูมิภาค

 

ในการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุม EAPP ซึ่งเน้นที่กลยุทธ์สำหรับการบูรณาการด้านพลังงาน ดร. จอห์น มาติโว กรรมการผู้จัดการของ KETRACO ได้เน้นย้ำถึงผลลัพธ์ที่สำคัญและประโยชน์จากการบูรณาการระดับภูมิภาค

 

“ระบบเชื่อมต่อระดับภูมิภาคนี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกัน ทำให้การเข้าถึงไฟฟ้ามีความยั่งยืนและเชื่อถือได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะสร้างโอกาสสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพขนาดใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการส่งออกพลังงานหมุนเวียนราคาถูกไปยังประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล” Mativo กล่าว

 

เขาเสริมว่า โครงการนี้จะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่าง เอธิโอเปีย เคนยา แทนซาเนีย ซูดาน และอียิปต์ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าราคาถูกผ่านแหล่งพลังงานแอฟริกาตะวันออกด้วย

 

โครงการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้านี้ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเคนยา (GoK) และธนาคารพัฒนาแอฟริกา (AFDB) ในมูลค่าประมาณ 35 ล้าน USD ตามลำดับ ผู้รับเหมาสำหรับโครงการนี้คือ บริษัท North China Power Engineering Company Limited ในขณะที่ต้นทุนรวมของโครงการอยู่ที่ประมาณ 309.26 ล้านดอลลาร์

 

การซื้อขายพลังงานของ EAPP ได้รับการอนุมัติรัฐบาลแต่ละประเทศแล้ว และกฎระเบียบและภาษีศุลกากรที่จำเป็นทั้งหมดก็พร้อมแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่า การชื้อขายเหล่านี้มีความโปร่งใสและนำไปปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ เส้นทางเคนยา-แทนซาเนียจะใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศอื่น จะทำการโครงการในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่าง Ethiopian Electric Power (EEP) และ TANESCO ระบุถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอธิโอเปียและแทนซาเนีย ซึ่งส่งผ่านเครือข่ายส่งไฟฟ้าของเคนยา TANESCO วางแผนที่จะซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์จาก EEP โดยกำหนดปริมาณเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ภายในสามปีข้างหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายไฟฟ้า KETRACO และ TANESCO ได้ตกลงกันในข้อตกลงแลกเปลี่ยนไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ KETRACO สร้างรายได้จากการให้บริการส่งไฟฟ้าผ่านธุรกรรมพลังงานเอธิโอเปีย-เคนยา-แทนซาเนีย (EKT)

 

เคนยาได้ลงนามในข้อตกลงแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับแทนซาเนียเพื่อสนับสนุนธุรกรรมนี้ ธุรกรรมพลังงาน EKT จะเป็นธุรกรรมแลกเปลี่ยนไฟฟ้าครั้งแรกภายใน EAPP และจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการพัฒนาวิธีการกำหนดราคาส่งไฟฟ้าในตลาด EAPP ซึ่งกำหนดไว้ในช่วงต้นปี 2025

 

ความเห็นของ สคต.

 

โครงการระบบไฟฟ้าร่วมของแอฟริกาตะวันออกที่มีประเทศในแอฟริกา 13 ประเทศลงนามและเริ่มมีการจัดทำโครงการและขายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2025 ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในแอฟริกาให้มีมากขึ้น นอกจากนั้น แนวคิดที่ประเทศเหล่านี้ ต่างเร่งการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ เช่น เขื่อนผลิตไฟฟ้าของเอธิโอเปีย การใช้พลังงานลมของเคนยา การพัฒนาระบบไฟฟ้าโดย Solar Cell เป็นต้น ทำให้ในอนาคต หากประเทศผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าให้ประเทศอื่นได้ นอกจากจะช่วยให้ปัญหาระบบไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นบ่อยในแอฟริกาน่าจะมีแนวโน้มที่จะดับน้อยลงมากขึ้น

 

นอกจากนั้น ก็ยังจะทำให้อุตสาหกรรมด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคต และจะเป็นรายได้ของรัฐบาลที่จะช่วยเป็นแหล่งเงินงบประมาณที่ยั่งยืนนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้ แทนการขอเงินกู้จากต่างประเทศได้ในอนาคตอีกด้วย

 

สำหรับประเทศไทยนั้น นักธุรกิจไทยที่ไม่เชื่อมั่นต่อระบบพลังงานของแอฟริกา ทำให้ไม่สนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตในแอฟริกานั้น น่าจะต้องเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ในอนาคตอันใกล้มากขึ้น เพราะ สคต. เชื่อว่า แนวทางการใช้ไฟฟ้าร่วมดังกล่าว น่าจะทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคนี้มีมากขึ้นในอนาคตต่อไป นอกจากนั้น บริษัทของไทยที่เชี่ยวชาญการพัฒนาโรงไฟฟ้าหรือระบบสายส่งไฟฟ้า น่าจะต้องลองหาข้อมูลและช่องทางในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศในแอฟริกาตะวันออก เช่น เคนยาต่อไป

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : https://businesstoday.co.ke/

en_USEnglish