10 เทรนด์เศรษฐกิจโลก ที่สิงคโปร์จับตามองในปี 68

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry : MTI) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP)[1] ในปี 2568 จะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 3 % ซึ่งลดลงการคาดการณ์ในปี 2567 ที่ 4%[2] การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไปจนถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2568

10 เทรนด์เศรษฐกิจที่สิงคโปร์ต้องเฝ้าระวังปี 2568 มีดังนี้

  1. สงครามการค้า (Trade War) ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเริ่มดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคม 2568 โดยนโยบายสำคัญคือการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่เข้มงวด โดยจะจัดเก็บภาษี 20% สำหรับสินค้านำเข้าจากคู่ค้าทั้งหมด และ 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน แม้ว่าสิงคโปร์อาจไม่ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรโดยตรง แต่สงครามการค้าจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าทั่วโลกสูงขึ้น ลด
    อุปสงค์ และส่งผลให้ปริมาณการค้าลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก นักวิเคราะห์เตือนว่าการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป อาจทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ของสิงคโปร์ลดลงอย่างน้อย 1%[3]
  2. การเติบโตที่ช้าลงของจีน (Slower China) เศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมถึงสิงคโปร์ ต่างมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของจีนจะลดลงเหลือ5% ในปี 2568 จาก 4.8% ในปี 2567 และ 5.2% ในปี 2566 การชะลอตัวของการเติบโตของจีนที่คาดการณ์ไว้ไม่ได้เกิดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การบริโภคที่ซบเซาหลังจากการจัดการอย่างเข้มงวดกับภาค
    อสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยีของรัฐบาล ท่ามกลางผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ความต้องการที่ลดลงนี้ไม่เพียงส่งผลให้การนำเข้าของจีนจากประเทศเพื่อนบ้านลดลง แต่ยังนำไปสู่กำลังการผลิตส่วนเกินอย่างมีนัยสำคัญ ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และมาตรการควบคุมการส่งออกของสหภาพยุโรปอาจผลักดันให้จีนเปลี่ยนเส้นทางการผลิตส่วนเกินนี้ไปยังตลาดใหม่ ๆ รวมถึงตลาดในเอเชีย ธนาคาร Nomura ของญี่ปุ่นเตือนว่าการส่งออกส่วนเกินจากจีนมายังเอเชียที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อภูมิภาค เศรษฐกิจเอเชียอาจต้องเผชิญกับการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันต่อผลกำไรของบริษัท การผลิตในประเทศที่ลดลง และแรงจูงใจในการลงทุนขยายกำลังการผลิตที่ลดน้อยลงทั้งนี้ ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละประเทศกับจีน
  3. เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย (Inflation and Interest Rates) แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากภาษีที่สูงขึ้นทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเอเชีย รวมถึงสำนักงานการเงินสิงคโปร์ (MAS) มีความซับซ้อนมากขึ้น ธนาคารกลางทั่วเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาการค้าและเคยเผชิญอัตราเงินเฟ้อลดลงในปีที่ผ่านมา มีแผนปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสองประเทศใหญ่ที่สุดของโลก MAS ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน คาดว่าจะชะลอการแข็งค่าของดอลลาร์สิงคโปร์ตามน้ำหนักการค้าเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ
  4. ค่าเงินสหรัฐฯที่แข็งค่า (Strong US dollar) นักลงทุนทั่วโลกมองว่า ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจผันผวน ด้วยเหตุนี้ ดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนหลายคนนิยมใช้ในปี 2568 หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบให้สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น ซึ่ง MAS อาจใช้ความยืดหยุ่นบางประการในการผ่อนคลายค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม หากคู่ค้าสำคัญพยายามปกป้องค่าเงินของตนจากปัจจัยภายนอกได้ เช่น ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น สิงคโปร์อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลลบต่อการส่งออกและชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ
  5. ความผันผวนของตลาดการเงิน (Financial Market Volatility) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากบริษัทเทคโนโลยี ส่งผลให้ดัชนีมีมูลค่าสูงในเชิงเปรียบเทียบ บริษัทในสหรัฐฯ จำเป็นต้องแสดงการเติบโตของรายได้ที่โดดเด่นในไตรมาสถัดไปเพื่อสนับสนุนการแนะนำให้ซื้อหุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่แสดงว่านักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของราคาหุ้นในวอลล์สตรีท โดยนักวิเคราะห์อย่างนาย Ruchir Sharma ประธาน Rockefeller International อธิบายว่าการเพิ่มขึ้นครั้งนี้อาจเป็น “จุดเริ่มต้นของฟองสบู่ทั้งหมด”
  6. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Conflicts) นอกจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายแล้ว ความขัดแย้งระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางหรือสงครามในยูเครนเลวร้ายลงอย่างมาก อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและลดปริมาณการค้า รายงานจาก EY-Parthenon เมื่อเดือนกันยายน 2024 ระบุว่าผู้บริหารประมาณ 33% คาดการณ์ว่าการหยุดชะงักทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2568
  7. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคโลหะ พลังงาน และอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้จำกัดการเติบโตของความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ และส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านี้บางรายการลดลงในปี 2567 ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน อาจผลักดันให้ราคาพลังงานและอาหารในระดับนานาชาติพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การขึ้นภาษีรอบใหม่อาจทำให้ต้นทุนอาหารและสินค้าโลหะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  8. การเปลี่ยนเส้นทางห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Rewiring) ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มขึ้นในปี 2561 สิงคโปร์ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับต้น ๆ สำหรับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้ง ประเทศอื่น ๆ ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารของทรัมป์ชุดใหม่ การขนส่งสินค้าจากคู่ค้ามีแนวโน้มจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่าประเทศเหล่านั้นเป็นช่องทางให้สินค้าจีนเข้าสู่สหรัฐฯ หรือไม่ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูงถึง 34% นอกจากนี้ ประเทศอาเซียนอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ก็พบว่าการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ การตอบสนองของบริษัทข้ามชาติภายใต้ข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนเส้นทางการค้ายังคงไม่แน่นอน โดยอาจนำไปสู่การปรับกลยุทธ์หรือโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานในอนาคต

 

  1. สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ข้อพิพาทในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูงอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้เล่นรายใหญ่มีแนวโน้มตอบโต้ด้วยการชะลอหรือยุติการลงทุนใหม่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการลงทุนของผู้ผลิตในสิงคโปร์
  2. ความเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Risks) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ตลาดเกิดใหม่ที่มีภาระหนี้สูงจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP หากมีการเพิ่มภาษีตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพียงเล็กน้อยในปี 2568 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่อาจไม่รุนแรงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจจีนโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของสิงคโปร์ ยังคงมีความเสี่ยงสูงต่ออุปสงค์ที่ลดลงจากจีน นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นและผลกระทบที่รุนแรงต่อการเติบโตยังคงสูงอยู่ ความไม่แน่นอนทางการค้าอาจนำไปสู่ความผันผวนในสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันให้เงื่อนไขทางการเงินตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปี 2568 เป็นปีที่สิงคโปร์และไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย อันเกิดจากปัจจัยระดับโลก ตั้งแต่สงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ไปจนถึงความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน ซึ่งล้วนมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ การปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรักษาความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกให้กับทั้งสิงคโปร์และไทย

สำหรับผู้ประกอบการไทยในปี 2568 การปรับตัวอย่างรวดเร็วและการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถือเป็นสิ่งจำเป็น การใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม เช่น การกระจายตลาดส่งออก การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในธุรกิจจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือการใช้ E-commerce เพื่อขยายตลาดออนไลน์

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/business/economic-trends-to-watch-for-singapore-in-2025

[1] คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงโดยไม่นำผลของเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง

[2] นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่องได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์วันปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567

[3] จากการคาดการณ์ของ MTI

 

en_USEnglish