เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ธนาคารกลางบังกลาเทศ (Bangladesh Bank) รายงานว่า เงินสำรองระหว่างประเทศรวม (gross foreign exchange reserves) คำนวณตามแนวทางของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากกระแสเงินส่งกลับจากแรงงานบังกลาเทศโพ้นทะเล ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ระบุว่า เงินสำรองอยู่ที่ 20,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 19,960 ล้านดอลลาร์จากวันที่ 30 มกราคม
จากข้อมูลของธนาคารกลาง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-มกราคมของปีงบประมาณ 2568 เงินส่งกลับจากแรงงานบังกลาเทศโพ้นทะเลมีมูลค่ารวม 15,960 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 12,910 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า ขณะที่รายได้จากการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันพุ่งขึ้น 11.58% สู่ระดับ 28,960 ล้านดอลลาร์ จาก 25,960 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ หากคำนวณตามวิธีการประเมินแบบดั้งเดิมของธนาคารกลาง เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 26,100 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ จาก 25,300 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 30 มกราคม อย่างไรก็ตาม เงินสำรองเคยลดลงจาก 21,600 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 7 มกราคม มาเหลือ 20,000 ล้านดอลลาร์ในวันถัดมา หลังจากชำระหนี้ 1,670 ล้านดอลลาร์ให้กับสหภาพเคลียร์ริ่งแห่งเอเชีย (ACU) สำหรับบิลนำเข้าสินค้าในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม
ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ถึง 30 ธันวาคม 2567 หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ธนาคารกลางบังกลาเทศได้ชำระหนี้ค้างชำระจากต่างประเทศไปแล้ว 3,300 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 90% ของยอดค้างชำระทั้งหมด โดยการคำนวณเงินสำรองนี้เป็นไปตามคู่มือการชำระเงินและข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศฉบับที่ 6 (BPM6) ของ IMF
ค่าเงินตากาอ่อนตัว-การขาดดุลการค้าลดลง
ในขณะเดียวกัน ค่าเงินตากาของบังกลาเทศยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยแตะระดับ 122 ตากาต่อดอลลาร์ อันเนื่องมาจากภาวะขาดแคลนดอลลาร์และแรงกดดันต่อธนาคารในการชำระเงินค่านำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การขาดดุลการค้าในช่วงกรกฎาคม-ธันวาคมของปีงบประมาณ 2568 ลดลงเหลือ 9,760 ล้านดอลลาร์ จาก 10,870 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2567 อย่างไรก็ตาม การชำระเงินค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 32,000 ล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงความต้องการดอลลาร์ที่สูงขึ้น
เงินส่งกลับเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ใน 22 วัน
ชาวบังกลาเทศในต่างประเทศส่งเงินกลับเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 22 วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ FY25 โดยยอดเงินส่งกลับรวม 1,930 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลจากธนาคารกลางระบุว่า ธนาคารของรัฐรับธุรกรรมทางการเงินมาได้ 831.36 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารเอกชน 43 แห่งนำเข้าธุรกรรมทางการเงินจำนวน 1,094.29 ล้านดอลลาร์ โดยธนาคาร Agrani Bank PLC ของรัฐครองอันดับหนึ่งด้วยยอด 274.81 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย Islami Bank Bangladesh PLC ที่ 269.21 ล้านดอลลาร์ และ Janata Bank PLC ที่ 186.97 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ บังกลาเทศได้รับเงินส่งกลับ 2,180 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม และ 2,640 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม สะท้อนถึงกระแสเงินทุนที่แข็งแกร่งจากชาวบังกลาเทศในต่างแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเงินสำรองของประเทศ
ความเห็นสำนักงาน
1. ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ สะท้อนความสามารถในการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าของบังกลาเทศและเป็นตัวชี้วัดในการประเมินการทำการค้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บังกลาเทสประสบปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และปัญหาการชำระเงินล่าช้า
2. บังกลาเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแบบใหม่ที่กำหนดโดย IMF ซึ่งแตกต่างจากวิธีคำนวนแบบเดิม ส่งผลให้ทุนสำรองลดลง
3. ปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลบังกลาเทศจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ส่งผลให้รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการหารายได้เพิ่มมากขึ้น ตามเอกสารงบประมาณ วิธีการที่รัฐบาลบังกลาเทศวางแผนไว้ ได้แก่ การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้านำเข้า การเรียกเก็บเพิ่มมูลค่าสินค้านำเข้าขั้นต่ำ การเพิ่มจำนวนและฐานผู้เสียภาษี เป็นต้น
——————
สคต. ณ กรุงธากา
กุมภาพันธ์ 2568
ที่มา ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น https://www.dhakatribune.com/