สถานะและโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น
สตท. ณ เมืองฮิโรชิมา
ญี่ปุ่นมิได้เป็นเพียงตลาดที่น่าสนใจสำหรับสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจบริการอีกด้วย โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งทุนของญี่ปุ่นและจากต่างประเทศที่กำลังพยายามขยายโอกาสทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นในญี่ปุ่น
จากผลสำรวจโดย Teikoku Databank ในปีงบประมาณ 2024 (เมษายน 2024 – มีนาคม 2025) ประมาณการว่าขนาดตลาดธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่นจะมีมูลค่า 5.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งขยายตัวจาก 4.9 ล้านล้านเยนของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็น1.8 เท่าของมูลค่าในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ตกลงต่ำสุด จากผลกระทบของวิกฤติโรคโควิด 19 และต่อมาได้ฟื้นตัวจนมูลค่าตลาดกลับสูงขึ้นเกินระดับของในปี 2018 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤติโรคโควิดแล้ว
ในขณะที่บริษัท Tokyo Shoko Research ก็ได้ประกาศผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายน 2024 เกี่ยวกับราคาห้องพักและอัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) ของบริษัทผู้บริหารกิจการ โรงแรม 13 อันดับแรก ในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2024) พบว่ามีราคาห้องพักและอัตราการเข้าพักที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ราคาค่าห้องโดยเฉลี่ย เท่ากับ 15,537 เยน (ประมาณ 3,600 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.7 หรือประมาณ 1.8 เท่าเมื่อเปรียบ เทียบกับของปี 2021 ซึ่งมีค่าห้องโดยเฉลี่ย 8,320 เยน เมื่อพิจารณายอดผู้เข้าพักโรงแรมในญี่ปุ่นของช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยมา ในปี 2023 มียอดผู้เข้าพัก 617.5 ล้านคน ซึ่งได้กลับสู่ระดับที่สูงกว่าของปี 2019 ซึ่งเริ่มเกิดวิกฤติโรคโควิด และในปี 2024 ยอดผู้เข้าพักยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนเป็น 650.3 ล้านคน ซึ่งจัดว่าเป็นระดับสูงที่สุดในประวัติการณ์
การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ไปเยือนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากค่าเงินเยนที่ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงระยะที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Japan Tourism Bureau ระบุว่า ณ เดือนตุลาคม 2024 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไปเยือนญี่ปุ่นจำนวน 3.31 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่ผ่านมา และมียอดสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม สูงถึง 30.19 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นยอดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1964 และเป็นปีแรกที่ได้ทะลุเป้า 30 ล้านคน ทั้งนี้ แม้ว่ามีผู้เข้าพักชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น แต่ยอดผู้เข้าพักโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้เข้าพักภายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่ามาก
ในปี 2025 จะมีการจัดงานมหกรรมโลก หรือ Expo 2025 Osaka ระหว่าง 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2025 จึงคาดว่าโรงแรมในญี่ปุ่นจะรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สถานะการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น
ธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่นกล่าวได้ว่ามีศักยภาพและมีแนวโน้มที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันที่เข้มข้นด้วยเช่นกัน ได้มีรายงานวิเคราะห์สถานะการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้
- กลุ่มโรงแรมหรูราคาสูง หรือ Luxury Hotel ยังคงเป็นประเภทโรงแรมที่มีความต้องการสูง มีการเปิดกิจการใหม่ๆอยู่อย่างต่อเนื่อง พบว่าโรงแรมหรูใหม่ๆเริ่มเปลี่ยนทำเลจากตัวเมืองใหญ่ไปยังท้องถิ่น และมีการเปลี่ยนรูปโฉมของการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ดูหรูหรา เช่น ห้องน้ำกว้าง เตียงที่ดูเลิศหรู หรือเก้าอี้โซฟาขนาดใหญ่ มาเป็นการใช้ดีไซน์ที่มีสไตล์และให้บรรยากาศของความสงบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าพักที่ใฝ่หา“พื้นที่” ที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกสัมผัสทั้งห้า ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติสำหรับเฟอร์นิเจอร์ การจัดแสงสว่างในห้อง วิวที่เห็นจากหน้าต่างหรือบริเวณรอบๆโรงแรม นอกจากนั้น เนื่องจากปัจจุบันโรงแรมหรูทุกแห่งให้การบริการระดับสูงอยู่แล้วจึงยากที่จะสร้างความแตกต่างในด้านการบริการ โรงแรมหรูจึงเริ่มหันไปสู่การสร้างโรงแรมในท้องถิ่นที่ห่างจากใจกลางแหล่งท่องเที่ยวเล็กน้อย เพื่อให้ผู้เข้าพักได้มีโอกาสพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่อยู่ห่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่มีความเป็นส่วนตัวในขณะที่ยังคงมีความรู้สึกของการพักในโรงแรมหรู
- กลุ่มโรงแรมในตัวเมือง หรือ City Hotel ที่ผ่านมาโรงแรมกลุ่มนี้ที่เปิดใหม่ๆ มีหลายแห่งซึ่งได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆรวมไปถึงการบริการอาหารเครื่องดื่มของโรงแรมให้ทัดเทียมกับระดับของโรงแรมหรู ในขณะที่ยังรักษาความสมดุลของราคาห้องพัก เพื่อมุ่งเป้าการเป็นโรงแรมระดับกลางระหว่างโรงแรมหรูกับโรงแรมธุรกิจ (Business hotel) โดยโรงแรมกลุ่มนี้นอกจากจะมีการยกระดับความสะดวกสบายและดีไซน์แล้ว ยังพัฒนาคุณภาพสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น มีมินิบาร์ในห้อง หรือมียิมสำหรับบริการผู้เข้าพัก ฯลฯ สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดคือ การใช้สิ่งของอำนวยความสะดวก หรือ Amenities เช่น สบู่ แชมพู ฯลฯ เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ทำให้ผู้ได้เคยเข้าพักนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ต่อและกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ให้โรงแรมต่อไปด้วย
- กลุ่มที่พักสไตล์บ้านพักให้นักท่องเที่ยวเช่า (Vacation Rental) เป็นรูปแบบที่พักที่เริ่มพบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2024 ซึ่งมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยพบว่ามีการสร้างบ้านพักขนาดไม่ใหญ่ในพื้นที่ที่เคยปล่อยว่างเปล่าในเขตท้องถิ่น โดยบริษัทในท้องถิ่นหรือเจ้าของที่ดินที่ต้องการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ในขณะเดียวกันสามารถบริหารได้ง่ายเพราะไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่หรือต้องใช้บุคคลากรดูแลมาก จึงทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจกลุ่มนี้มากขึ้นตามลำดับ ในด้านผู้เข้าพักก็นิยมที่พักประเภทนี้เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มหรือเป็นครอบครัว อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายในด้านการทำให้เป็นที่รู้จักและการหาผู้เข้าพัก ซึ่งผู้ที่เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ในญี่ปุ่นมักจะยังขาดความรู้หรือโนฮาวในด้านเหล่านี้
กระแสความนิยมในปัจจุบันของผู้ใช้บริการโรงแรมในญี่ปุ่น
นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการโรงแรมในญี่ปุ่น มีแนวโน้มความต้องการสำหรับที่พักลักษณะใหม่ๆ ดังนี้
- Lifestyle Hotel ในอดีตโรงแรมหรูมักเป็นโรงแรมที่ดึงดูดผู้เข้าพักด้วยการตบแต่งภายในที่หรูหราและการบริการที่เลิศหรู แต่ในระยะหลังนี้ มีกระแสความนิยมโรงแรมประเภทที่เรียกว่า Lifestyle Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมที่เน้น “ค่านิยม ดีไซน์ สุนทรียภาพ” ที่ตอบสนองต่อผู้เข้าพักให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ รสนิยมส่วนบุคคล และให้ได้รับประสบการณ์พิเศษที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันปกติ การออกแบบห้องพักของโรงแรมประเภทไลฟ์สไตล์นี้ เช่น ตู้เสื้อผ้าแบบเปิดโล่งแทนที่จะเป็นตู้ที่มีฝาปิด หรือ ห้องอาบน้ำที่มีแต่ฝักบัวแทนที่จะมีอ่างอาบน้ำ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำและนำเสนอเส้นทางเดินสำรวจย่านรอบๆโรงแรม แนะนำสถานที่ วัฒนธรรม อาหาร และร้านค้าในท้องถิ่น ฯลฯ จากข้อมูลล่าสุด พบว่ามีโรงแรมหรูทุนต่างชาติในญี่ปุ่นที่ปรับลักษณะให้เป็น “โรงแรมไลฟ์สไตล์” และมีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2025 จำนวน 6 แห่ง คือในกรุงโตเกียว (3 แห่ง) นครโอซากา (2 แห่ง) และเมืองซัปโปโร (1 แห่ง) โดยโรงแรมเหล่านี้เน้นในด้าน “กลิ่นอายท้องถิ่น (Regional Characteristics” และ “ความยั่งยืน” เช่น โรงแรม CAPTION by Hyatt Kabuto-Cho Tokyo ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน Kabuto-Cho อันเป็นย่านธุรกิจการเงินในกรุงโตเกียว โรงแรมดังกล่าวมีความพิเศษคือ มีโครงสร้างเป็น Wooden hybrid structure เป็นการตอบสนองมาตรการป้องกันภัยพิบัติและลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นโรงแรมแห่งแรกในเขตตัวเมืองที่ได้รับการรับรองภายใต้ DBJ Green Building Certification ซึ่งเป็นการรับรองโดย Development Bank of Japan ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนั้น โรงแรมยังมีกิจกรรมและความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ แนะนำเส้นทางสำรวจธุรกิจและสถานที่สำคัญในย่านดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความสนใจให้กับผู้เข้าพักโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่อยากสัมผัสกับท้องถิ่น LifestyleLifestyle Hotel ในอดีตโรงแรมหรูมักเป็นโรงแรมที่ดึงดูดผู้เข้าพักด้วยการตบแต่งภายในที่หรูหราและการบริการที่เลิศหรู แต่ในระยะหลังนี้ มีกระแสความนิยมโรงแรมประเภทที่เรียกว่า Lifestyle Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมที่เน้น “ค่านิยม ดีไซน์ สุนทรียภาพ” ที่ตอบสนองต่อผู้เข้าพักให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ รสนิยมส่วนบุคคล และให้ได้รับประสบการณ์พิเศษที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันปกติ การออกแบบห้องพักของโรงแรมประเภทไลฟ์สไตล์นี้ เช่น ตู้เสื้อผ้าแบบเปิดโล่งแทนที่จะเป็นตู้ที่มีฝาปิด หรือ ห้องอาบน้ำที่มีแต่ฝักบัวแทนที่จะมีอ่างอาบน้ำ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำและนำเสนอเส้นทางเดินสำรวจย่านรอบๆโรงแรม แนะนำสถานที่ วัฒนธรรม อาหาร และร้านค้าในท้องถิ่น ฯลฯ
- Slow Travel ปัจจุบันมีกระแสนิยมที่พักสำหรับการพักเป็นระยะยาว เช่น โรงแรมประเภท Apartment Hotel ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม ต้องการที่จะพักแบบเป็นส่วนตัว สามารถไปหาซื้อวัตถุดิบท้องถิ่นที่ตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เกตมาทำอาหารรับประทานกันเอง ตัวอย่างเช่น โรงแรม Oakwood Premium Hotel ในโตเกียว (https://www.discoverasr.com/ja/ oakwood/japan/oakwood-premier-tokyo) ซึ่งเป็นโรงแรมของทุนต่างชาติจากสิงคโปร์ ให้เช่าห้องพักที่เป็น Services apartment ซึ่งสามารถพักระยะยาวในราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับโรงแรมทั่วไป โดยในยูนิตมีส่วนที่เป็นครัวพร้อมอุปกรณ์ทำอาหารครบครัน รวมทั้งมีฟิตเนสยิม และ Residence lounge ไปจนถึง Business support เช่น การบริการถ่ายเอกสารหรือส่งแฟกซ์ การจองร้านอาหารหรือรถแท็กซี่ ฯลฯ อีกด้วย
- Personalized Stay ในระยะหลังที่ผ่านมา เมื่อการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่นมีมากขึ้น พบว่ามีโรงแรมหลายแห่งได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการให้บริการแบบ Personalized services หรือการบริการแบบเฉพาะตัว กล่าวคือ โรงแรมเสนอการบริการที่ปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้าพักแต่ละคน โดยการเก็บและใช้ข้อมูลของผู้เข้าพัก เช่น ประเภทห้อง ความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวสำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในห้อง เช่น ความนุ่มของหมอน จำนวนผ้าห่มที่ใช้ ฯลฯ หรือวันสำคัญของผู้เข้าพักนั้นๆเช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน ฯลฯ อาหารที่ชอบสั่ง ความสนใจหรืองานอดิเรกเพื่อนำเสนอข้อมูลร้านอาหาร ร้านขายของหรือสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบโรงแรม ที่ผ่านมาโรงแรมหรูหลายแห่งในโลกได้มีการบริการเช่นนี้แล้ว ส่วนในญี่ปุ่นพบว่ามีโรงแรมในทุกระดับเริ่มนำระบบนี้มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เคยได้เข้าพักและเลือกที่จะกลับไปพักที่โรงแรมเดิมนี้แม้ว่าราคาจะแพงกว่าบ้างก็ตาม อีกทั้งเมื่อผู้เข้าพักเกิดความประทับใจ ยังช่วยประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก หรือผ่านช่องทางสื่อโซเชียลต่อไปได้อีกด้วย
ปัญหาและความท้าทายสำหรับธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น
ปัจจุบัน สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น คือ การขาดแคลนแรงงานและอัตราการลาออกจากงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อผู้ปฎิบัติงานไม่เพียงพอ ภาระงานของบุคคลากรแต่ละคนเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการลาออกกันมากขึ้นตามมา แนวทางที่โรงแรมหลายแห่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เช่น Digital Transformation (DX) หรือ การปรับปรุงระบบงานให้เป็นดิจิทอล ซึ่งยกประสิทธิภาพการทำงานและการบริหารโรงแรม
บทสรุปและข้อคิดเห็นสำหรับผู้ประกอบการไทย
ธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่น จัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีและน่าสนใจ เนื่องจากความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จากการที่ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยม ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความปลอดภัย คุณภาพการบริการ แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความสุภาพและเป็นมิตรของชาวญี่ปุ่น ฯลฯ อีกทั้งในบางช่วงยังได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินเยนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมในญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในทุกระดับ ผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาแนวโน้มความนิยมของผู้เข้าพักเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น การปรับรูปแบบโรงแรมให้ตอบสนองกระแสความนิยมไม่ว่าจะเป็นโรงแรมไลฟ์สไตล์ หรือโรงแรมที่ผู้เข้าพักได้รับการบริการแบบเฉพาะตัว สำหรับธุรกิจโรงแรมของของผู้ประกอบการไทย ที่ผ่านมาสามารถเข้าไปเริ่มธุรกิจในญี่ปุ่นได้แล้วอย่างน้อย 3 แบรนด์ (Dusit Thani, Centara Grand และ Hop Inn) และน่าจะยังเป็นโอกาสสำหรับการขยายสาขาและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยรายอื่น รวมไปถึงธุรกิจและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรมซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของประดับตกแต่ง อุปกรณ์เครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในโรงแรม ฯลฯ
มีนาคม 2568
ที่มาข้อมูล
- สถิติ “The Research on ryokan & hotel market in Japan Y2024” (全国「旅館・ホテル市場」動向調査2024年度見通しโดย Teikoku Databank ,Ltd. 12 มีค. 2025 https://www.tdb.co.jp/report/industry/20250312_ryokanhotel/
- รายงานเรื่อง “Ryokan and Hotel Market 4.9 Trillion Yen in Y2023”(旅館・ホテル市場、23年度は9兆円) จาก TDB REPORT ONLINE, Teikoku Databank Co.,Ltd. 10 กค. 2024 https://www.tdb-publish.com/2024/07/20240709-TDBBV-hotel.php
- รายงานเรื่อง “Y2025 The trend of hotel business: now and the future” (2025年宿泊業界の動向~現状とこれから) โดย net 10 กพ. 2025 https://www.yadoken.net/archives/column/tin-depth-explanation-of-marketing-strategies-based-on-trends-in-the-hotel-industry-for-2025-and-beyond
- รายงานเรื่อง “The current and future situation: the market size and recent trend”(ホテル業界の現状と今後 市場規模や近年の動向) โดย JCB Co., Ltd. (https://www.jcb.co.jp/merchant/acq/mep/special/hotel_industry.html)
- รายงานเรื่อง “Y2024 Reviewing the data about the market size of hotel business” 2024年ホテル業界の市場規模をデータでチェック|国内外の観光需要の動向は? โดย Shuken Corporation 6 มิย.2024 (https://www.shuken.jp/column/%E5%AE%BF%E6%B3%8A%E6%96%BD%E8%A8%AD/5452/)
- รายงานเรื่อง “What comes next in the hotel business? Comments with details on the solutions of the current situation and the future” (ホテル業界の今後は?現状と今後の課題に対する解決策を徹底解説 บนเวปไซต์ TUNAG 28 สค. 2024 (https://biz.tunag.jp/article/65484)
- รายงานเรื่อง “Paying attention to the foreign-capital hotel opening this year. The key words are “Sustainability” and “Regional Characteristics” 今年、日本で開業する注目の外資系ホテル、キーワードは「サステナビリティ」と「地域性」จากคอลัมม์ Travel Voice โดย Kanko Sangyou News 23 มค. 2025 https://www.travelvoice.jp/20250120-156977
- รายงานเรื่อง “CAPTION by Hyatt Kabuto-cho Tokyo, the first hotel that received DBJ Greeen Building Certification by Hyatt (キャプションby Hyatt兜町 東京 都内ホテルとして初のDBJ Green Building認証取得) 5 กย. 2024 (https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000106.000024148.html)
- รายงานเรื่อง “The average room rate of the listed hotels is on increase” (上場ホテルの客室単価、上昇続く) โดย TSR Data Inside ของ Tokyo Shoko Research 13 ธค. 2024 (https://www.tsr-net.co.jp/data/detail/1200775_1527.html)
- รายงานเรื่อง “The hotel’s new tide : What is Lifestyle Hotel?” ホテルの新潮流「ライフスタイル・ホテル」とは? จากคอลัมม์ Travel Voice โดย Kanko Sangyou News 18 พย. 2024 (https://www.travelvoice.jp/20250109-156908)
- รายงานเรื่อง “The effectiveness of Personalization in the hotel business” (ホテル業におけるパーソナライズの有効性) โดย Techsuite 2 พค. 2024 (https://techsuite.biz/16415)