เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์แสดงผลงานด้านความร่วมมือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-อาเซียน (China-ASEAN AI Innovation Cooperation Center Exhibition Hall) ได้เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-อาเซียนได้เข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการเต็มรูปแบบ นับเป็นก้าวสำคัญของเมืองหนานหนิงในการเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่มุ่งสู่อาเซียน
ศูนย์แสดงฯ แห่งนี้เป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างจีนกับอาเซียน มีวัตถุประสงค์หลักในด้านการแสดงเทคโนโลยี การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และความร่วมมือข้ามพรมแดน ศูนย์แสดงฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอู่เซี่ยงซึ่งเป็นเขตเมืองใหม่ของเมืองหนาน หนิง มีพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 19,000 ตารางเมตร โดยมีการปรับปรุงการก่อสร้างจากอาคารเดิมที่ประกอบด้วย ห้องให้บริการ โรงงานอัจฉริยะ ศูนย์ประสานงานอาเซียน และฐานฝึกอบรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับอาเซียน
โครงการนี้ใช้เทคโนโลยี AI เป็นระบบพื้นฐาน สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร ผสมผสานการแสดงเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้ภาพ และการบ่มเพาะนวัตกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มแสดงผลงานปัญญาประดิษฐ์แบบคาร์บอนต่ำสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
ในฐานะที่เขตปกครองฯ กว่างซีเป็นประตูที่เปิดสู่อาเซียน หลายปีที่ผ่านมาเมืองหนานหนิงได้ดำเนินภารกิจสำคัญที่รัฐบาลมอบหมาย โดยใช้โอกาสจากแผนส่งเสริมความสามารถด้าน AI และเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน 3.0 ที่รวมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นครั้งแรก ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านทรัพยากรและศูนย์บริการสื่อสารระหว่างประเทศหนานหนิง เพื่อเร่งสร้างศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-อาเซียน
ศูนย์แสดงฯ ที่เริ่มก่อสร้างในครั้งนี้เป็นโครงการสำคัญของหนานหนิงในการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของเขตปกครองตนเอง และสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล คาดการณ์ว่าหลังจากการสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการวิจัยพัฒนา AI ความร่วมมือข้ามพรมแดน การบ่มเพาะระบบนิเวศดิจิทัล และการแปลงผลวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยมุ่งยกระดับบริการพื้นฐาน AI นวัตกรรมเทคโนโลยี การจัดการปฏิบัติการ และส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งพัฒนาให้เป็นประตูสู่บริการสาธารณะ หน้าต่างแสดงผลงาน ศูนย์กลางการจัดการ และแพลตฟอร์มส่งเสริมการลงทุนสำหรับความร่วมมือ AI ระหว่างจีน-อาเซียน ช่วยให้หนานหนิงและกว่างซีสามารถฉวยโอกาสจากเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ สร้างสะพานยุทธศาสตร์ด้านการแบ่งปันเทคโนโลยี AI การต่อยอดผลงานวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างจีนกับอาเซียน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขตปกครองฯ กว่างซีจ้วงได้ส่งเสริมการดำเนินการนโยบายอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง พัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และผลักดันให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง โดยกว่างซีได้สนับสนุนบริษัทด้าน AI อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ปี ด้วยการจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อดำเนินโครงการนำร่องการประยุกต์ใช้ AI กับเศรษฐกิจจริง ซึ่งช่วยยกระดับความเป็นอัจฉริยะของอุปกรณ์การผลิต กระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ของกว่างซีอย่างเป็นระบบ ทำให้บริษัทด้าน AI ที่ดำเนินมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2567 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.77 เมื่อเทียบกับปี 2566 จนถึงสิ้นปี 2566 กว่างซีมีโครงการดิจิทัลที่ได้รับการคัดเลือกในระดับชาติ จำนวน 76 โครงการ บริษัทที่ได้รับการรับรองสถานะบริษัทต้นแบบการผลิตอัจฉริยะระดับเขตปกครองตนเอง 16 แห่ง โรงงานอัจฉริยะ 303 แห่ง และเวิร์คช็อปดิจิทัล 197 แห่ง โดยโครงการนำร่องการก่อสร้างอัจฉริยะสำหรับโครงการขนส่งทางแม่น้ำขนาดใหญ่คลองผิงหลูในกว่างซี และโครงการนำร่องการขับขี่อัตโนมัติในเขตอุตสาหกรรมเมืองหลิ่วโจว ได้รับเลือกให้เป็นโครงการนำร่องการประยุกต์ใช้ระบบขนส่งอัจฉริยะระดับชาติรุ่นที่สอง จนถึงปัจจุบันผลงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีทั้งหมด 1,788 ผลงาน โดยได้มีการลงนามก่อสร้างศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จีน-ลาว ถือว่าเป็นแพลตฟอร็มความร่วมมือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์กับประเทศอาเซียนแห่งแรกของจีน สร้างความร่วมมือด้าน AI และดิจิทัลข้ามพรมแดนกับลาว สำหรับเวียดนามมีทั้งหมด 20 โครงการ
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองหนานหนิง ด้วยเขตฯ กว่างซีจ้วงมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่ติดกับประเทศสมาชิกอาเซียน มีพื้นที่ที่ติดกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเลกับจีน สำหรับเมืองหนานหนิงซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองฯ กว่างซีจ้วง และเป็นเมืองที่มีการจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) เป็นประจำทุกปี เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 ที่มุ่งเน้นพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ปัจจุบันกว่างซีได้มีผลงานที่สำเร็จในด้านอุตสาหกรรมการผลิตแบบอัจฉริยะ การเกษตรแบบอัจฉริยะและโลจิสติกส์แบบอัจฉริยะ สำหรับประเทศไทย ศูนย์แสดงดังกล่าวถือเป็นโอกาสความร่วมมือใหม่ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวกับสาขาธุรกิจต่างๆ กับตลาดจีน โดยผ่านเมืองหนานหนิง โดยเฉพาะในด้านการเกษตร การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน การขนส่งทางโลจิสติกส์ การแพทย์ และการค้า E-commerce ข้ามพรมแดน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สคต. ณ เมืองหนานหนิง จะติดตามสถานะของศูนย์แสดงผลงานด้านความร่วมมือนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ จีน-อาเซียน อย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนอข้อมูลในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการประสงค์ข้อมูลเพิ่มเดิม สามารถติตต่อ สคต.ณ เมืองหนานหนิง ทาง Email: thaitcnanning@ditp.go.th
——————————————————-
แหล่งที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/AJd7TTHOgDswchgHVLsLqg
http://www.gx.chinanews.com.cn/mt/2025-04-20/detail-ihequxpf6685445.shtml
http://www.gxnews.com.cn/staticpages/20250311/newgx67cf7e51-21765620.shtml
Royal Thai Consulate General, Commercial Office (Thai Trade Center) - Nanning
วันที่ 23 เมษายน 2568