ผลกระทบจากมาตรการภาษีในสหรัฐอเมริกาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายรายการต่างสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลและตื่นตระหนกต่อทิศทางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และผู้คนเริ่มกว้านซื้อสินค้าที่คาดว่าจะมีการขึ้นราคาครั้งใหญ่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็เริ่มคาดการณ์ว่าจะมีการชะลอตัวของการผลิตซึ่งสะท้อนว่ามาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์อาจให้ผลตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่ประกาศไว้ในการฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกา
สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความมั่นใจก็จะใช้จ่ายมากขึ้นพร้อมทั้งให้ความสนับสนุนภาคธุรกิจ และจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ทว่าหากทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างมีความหวาดกลัว ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายในการนำการผลิตกลับมาในประเทศและสร้างยุคทองแห่งความมั่งคั่งของอเมริกาได้
แม้จะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ แต่ที่เห็นได้อย่างแน่ชัดคือมาตรการเหล่านี้กำลังส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
ผู้บริโภคกำลังจับจ่ายด้วยความหวาดกลัว
ตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำคัญ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งวัดความรู้สึกของชาวอเมริกันต่อสภาพเศรษฐกิจโดยพิจารณาจากการตอบแบบสอบถามของผู้บริโภค ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงทันทีหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี โดยลดลงเหลือ 50.8 ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าตัวเลขความเชื่อมั่นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Recession) และตัวเลขนี้เข้าใกล้ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลนี้บ่งชี้ว่ามาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงชาวอเมริกันทั่วไปที่กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วด้วย

ผลกระทบจากมาตรการภาษีในสหรัฐอเมริกาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าในท้ายที่สุดผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายลง ถึงแม้ในระยะสั้นจะดูเหมือนว่าผู้บริโภคกำลังเร่งซื้อสินค้าเพื่อกักตุน อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ชี้แจงว่าการเร่งใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นไม่ยั่งยืนและไม่ใช่สัญญาณของเศรษฐกิจที่แข็งแรง
นาย Michael Madowitz นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจ Roosevelt Institute กล่าวว่า “ถ้าคุณประกาศว่าจะขึ้นภาษีในอีก 2 สัปดาห์ แน่นอนว่าจะทำให้การใช้จ่ายหลังจาก 2 สัปดาห์นั้นร่วงลง แต่ในระยะสั้นอาจมีการเร่งการใช้จ่ายเกิดขึ้น ผมเองก็ซื้ออะไหล่รถยนต์หลายชิ้นเก็บไว้เพื่อเตรียมซ่อมรถเก่าๆ ของผม”
นาย Michael Madowitz ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำแบบนั้น ในเดือนมีนาคม 2568 ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์มียอดขายเพิ่มขึ้น 5.3% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งในเดือนมีนาคม 2568 นั้นประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ที่ประกอบเสร็จ โดยกำหนดให้ภาษีมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีการเติบโตเช่นกัน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนมีนาคมของปีก่อนหน้า เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้พูดถึงการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมาตลอดหลายเดือนก่อนหน้านั้น และจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก
แม้ว่าต่ อมาประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศการยกเว้นภาษีบางส่วนสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนจากอัตราภาษีนำเข้า 145% ที่เคยกำหนดไว้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสินค้าเหล่านั้นจะรอดพ้นจากการขึ้นราคาได้มากน้อยเพียงใด ประธานาธิบดีทรัมป์ยังกล่าวอีกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะสินค้าที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ

ผลกระทบจากมาตรการภาษีในสหรัฐอเมริกาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

นอกจากนี้ สถาบันผู้บริโภคเคียร์นีย์ (Kearney Consumer Institute) ซึ่งจัดทำดัชนีความเครียดของผู้บริโภคเป็นรายไตรมาส ผ่านคำถามที่ถามชาวอเมริกัน 2,000 คนที่มีความหลากหลายในด้านรายได้และประชากรศาสตร์ จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สงครามทางการค้าเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ผู้บริโภค 36% กังวลว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อพิพาททางการค้า แต่ในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าตัวเลขความกังวลนี้พุ่งขึ้นเป็น 54%
ภาคการผลิตของอเมริกากำลังประสบปัญหา
ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นว่า “การจ้างงานและโรงงานจะกลับมาที่สหรัฐฯ อีกครั้ง” อันเป็นผลมาจากมาตรการภาษี โดยประธานาธิบดีทรัมป์หวังว่าเมื่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น บริษัทต่างๆ จะเลือกลงทุนย้ายฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ ซึ่งการย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ จะช่วยให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคลดลงในระยะยาว และยังอ้างว่ามาตรการภาษีจะช่วยหยุดประเทศอื่น ๆ ไม่ให้เอาเปรียบสหรัฐอเมริกาในเรื่องการค้าอีกต่อไป อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ยังคงแสดงความสงสัยในมาตรการนี้ โดยนิตยสาร The Economist โดยเรียกมาตรการนี้ว่า “ความผิดพลาดทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน” ที่เกิดจากความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์
จากข้อมูลในปัจจุบันยืนยันแล้วว่ามาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์มีผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งเป้าไว้ กล่าวคือภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากการประกาศขึ้นภาษี และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าทิศทางเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป
การสำรวจผู้ผลิตในสหรัฐฯ ที่จัดทำโดยธนาคารกลางแห่งนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียชี้ให้เห็นถึงมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งตัวเลขคาดการณ์กิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน
ดัชนีคาดการณ์สภาพธุรกิจในอนาคต (Future General Business Conditions Index) ของธนาคารกลางนิวยอร์กลดลงจาก 12.7 ในเดือนมีนาคม 2568 เหลือเพียง 7.4 ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นอันดับสองในรอบกว่า 20 ปี ส่วนดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟียลดลงจาก 8.7 ในเดือนมีนาคม 2568 ไปอยู่ที่ -34.2 ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19

ผลกระทบจากมาตรการภาษีในสหรัฐอเมริกาต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตัวเลขเหล่านี้ถือเป็นข่าวร้ายต่อภาคธุรกิจสหรัฐฯ จากที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยอ้างว่าภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายภาษี แต่ตอนนี้ภาคธุรกิจเองกลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจนยากที่จะวางแผนสำหรับอนาคต หลายบริษัทในสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงการวิจารณ์มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์โดยตรง แต่เลือกที่จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทตนเองลงทุนในภาคการผลิตในสหรัฐฯ อยู่แล้ว เพื่อพยายามโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยกเลิกมาตรการเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่าแรงกดดันจากภาคการผลิตในสหรัฐฯ และความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคจะสามารถเปลี่ยนใจประธานาธิบดีทรัมป์ให้ยกเลิกมาตรการเหล่านี้ได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Vox, USAtoday

en_USEnglish