ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2568 ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองออกมาเร่งแถลงนโยบายเพื่อหวังให้ชนะการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ล้วนแต่จะมีผลกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจและการเมืองของแคนาดาอีกครั้ง โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การค้ากับสหรัฐฯ ที่คงความไม่แน่นอนและยังคาดเดาไม่ได้ จนนำไปสู่ความกังวลต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชนและการลงทุนในภาคธุรกิจในวงกว้าง
จากความนิยมพรรคการเมืองในแคนาดาปัจจุบัน จะมีเพียงพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรค Conservative (อนุรักษ์นิยม) และพรรค Liberal (เสรีนิยม) ที่จะมีโอกาสเข้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศจากการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีนาย Mark Carney นายกรัฐมนตรีแคนาดาปัจจุบันตัวแทนจากพรรคเสรีนิยม และนาย Pierre Poilievre ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากใครชนะการเลือกตั้ง ก็หมายความว่า นโยบายของแคนาดาจะเดินหน้าไปในทิศทางที่ได้หาเสียงไว้อีก 4 ปีข้างหน้า
ในการนี้ หากพรรค Liberal (เสรีนิยม) ชนะการเลือกตั้ง นโยบายแต่ละด้านที่สำคัญ มีดังนี้
- เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ: เน้นการบริหารจัดการการเงินอย่างรับผิดชอบ โดยมีการควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเร่งสร้างเศรษฐกิจแคนาดาให้แข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว
- ด้านค่าครองชีพ: พรรคเสรีนิยมกล่าวว่า จะลดภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่สุด และลดภาษีสินค้าและบริการ (GST) สำหรับผู้ซื้อบ้านครั้งแรกที่มีมูลค่าเท่ากับหรือต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 25 ล้านบาท) นอกจากนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อยู่ในวัยเกษียณ พรรคจะสนับสนุนเงินอุดหนุนรายได้ที่รับประกัน (GIS) เป็นการชั่วคราว และลดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องถอนออกจากกองทุนรายได้เกษียณอายุที่จดทะเบียน (RRIF) ไว้
- ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย: สร้างโอกาสให้กับชาวแคนาดาในการเป็นเจ้าของบ้านผ่านมาตรการแรงจูงใจทางภาษี รวมถึงดำเนินโครงการสร้างบ้านพักอาศัยราคาประหยัดให้ได้ราวปีละ 500,000 หลัง และจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อกำกับดูแลการก่อสร้างบ้านราคาประหยัดอย่างมีประสิทธิภาพ
- การค้าและมาตรภาษีการค้า : ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงดำเนินอยู่ พรรคยังระบุว่า จะสร้างรายได้ให้กับประเทศมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาจากการตอบโต้ภาษีศุลกากรของแคนาดา
- โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ : เร่งอนุมัติโครงการทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้แคนาดาเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน ขณะเดียวกัน ลดการพึ่งพานำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ และจะกระจายความเสี่ยงทางการค้าของแคนาดาให้มากขึ้น โดยจะลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ในกองทุน Trade Diversification Corridor เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงทางการค้าของแคนาดา ตลอดทั้งการสร้างงานในประเทศ
แต่หากพรรค Conservative (อนุรักษ์นิยม) ชนะการเลือกตั้ง นโยบายแต่ละด้านที่สำคัญ มีดังนี้
- เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ: เน้นการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ จากการสนับสนุนการลงทุนในประเทศและลดการพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ
- ด้านค่าครองชีพ: ลดภาษีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสุด รวมทั้งลดภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากบ้านใหม่ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 32.5 ล้านบาท) และรถยนต์ที่ผลิตในแคนาดา นอกจากนั้น จะยุติการขึ้นภาษีแอลกอฮอล์ประจำปีโดยอัตโนมัติ
- ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย จะกระตุ้นขยายตัวตลาดที่อยู่อาศัย จากการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านครั้งแรก โดยออกแผนการยกเลิกภาษี GST สำหรับการซื้อบ้านใหม่ที่มีราคาต่ำกว่า 1.3 ล้านดอลลาร์สำหรับผู้ซื้อบ้านทุกคน
- การค้าและมาตรภาษีการค้า ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความพอเพียงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ในส่วนประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ ก็จะพร้อมใช้มาตรการภาษีตอบโต้แบบเท่าเทียมกับสหรัฐฯ ในระยะสั้น และจากนั้นจะเน้นส่งเสริมการค้าต่างชาติ เพื่อลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ ในระยะยาว
- โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ : เร่งการอนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าพลังงานไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ นอกจากนั้น จะกำหนดระยะเวลาในการอนุมัติใบอนุญาตจากรัฐบาลกลางทั้งหมด สำหรับการทำเหมืองในภูมิภาค Ring of Fire ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐออนทารีโอให้ได้ภายใน 6 เดือน และจัดสรรงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งทางถนน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเหมืองแร่กับทางหลวงของรัฐออนทารีโอ และชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อคิดเห็นสคต. จากนโยบายของทั้ง 2 พรรคเห็นว่า มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการค้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนและต่างฝ่ายที่มีการตอบโต้ทางภาษีกัน ทั้งนี้ นโยบายการค้าต่อสหรัฐฯ ของนาย Mark Carney จากพรรคเสรีนิยมจะมีความแข็งกร้าวกว่านาย Pierre Poilievre จากพรรคอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าแคนาดายังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ อยู่มาก ซึ่งหากใครชนะการเลือกตั้ง ก็จะต้องมีการปรับตัวตามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจตามมา สำหรับประเทศไทยอาจไม่มีการได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เป็นผลทางอ้อมมากกว่า โดยมิติการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหากสหรัฐฯ ออกมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น นั่นหมายถึงไทยว่า อาจได้รับประโยชน์การส่งออกเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางอุตสาหกรรมได้เช่นกัน
โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์