มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 24-28 กรกฎาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Lichtsammler @ Pixabay

 

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในทวีปยุโรป

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร ปศุสัตว์ และสุขอนามัยพืช ประเทศมอนเตเนโกร (Directorate for Food Safety, Veterinary and Phytosanitary Affairs) แถลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ว่า เนื่องจากมีการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever (ASF) ในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกับมอนเตเนโกรอย่างบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เซอร์เบีย และโครเอเชีย มอนเตเนโกรจึงได้ประกาศระงับการนำเข้าและขนส่งสุกรเลี้ยงและสุกรป่าที่มีชีวิต เนื้อสุกร รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทั้งสุกรเลี้ยงและสุกรป่า จากประเทศต้นทาง 43 ประเทศ ดังนี้

  • ประเทศภายในสหภาพยุโรป ได้แก่ กรีซ โครเอเชีย (บางส่วน) เช็ก บัลแกเรีย โปแลนด์ เยอรมนี โรมาเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวาเกีย อิตาลี เอสโตเนีย และฮังการี
  • ประเทศนอกสหภาพยุโรป ได้แก่ เกาหลีใต้ เคนยา จีน เซอร์เบีย (บางส่วน) เซียร์ราลีโอน แซมเบีย ติมอร์ตะวันออก นามิเบีย เนปาล ไนจีเรีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ภูฏาน มองโกเลีย มอลโดวา มาซิโดเนียเหนือ มาเลเซีย เมียนมาร์ ยูเครน รัสเซีย เวียดนาม สปป.ลาว สาธารณรัฐโดมินิกัน สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ไอวอรีโคสต์ และเฮติ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ระบุว่า ในปัจจุบัน ยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในมอนเตเนโกร แต่รัฐบาลมอนเตเนโกรก็ได้เผยแพร่แคมเปญให้ความรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนในกระบวนการนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแต่เนิ่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้แปรรูปเนื้อสุกร และผู้ค้าสุกรในท้องถิ่น ปฏิบัติตามมาตรการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) กล่าวคือ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงฆ่าชำแหละเนื้อสุกร โรงงานแปปรูป และตลาดขายสุกรของตนเองอย่างสม่ำเสมอ แยกสุกรป่าออกจากสุกรเลี้ยง รวมถึง ขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงสุกรและผู้ล่าสุกรป่ารายงานหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เมื่อพบสุกรป่าและสุกรเลี้ยงตายเฉียบพลัน โดยคณะกรรมการฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบ เป็นเงิน 40 ยูโรต่อจำนวนสุกรที่ตาย ด้านการดำเนินการของภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มความเข้มงวดของการตรวจสินค้าผ่านด่านศุลกากรที่ต้องสงสัยว่าเป็นการลักลอบขนส่งสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่มาจากประเทศที่กำลังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

 

สหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดในโลก รองจากประเทศจีน โดยส่งออกราว 4 ล้านตันต่อปี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเนื้อสุกรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือภัยคุกคามร้ายแรงจากการระบาดของโรค ASF ในหลายภูมิภาคมาเป็นระยะเวลาหลายปี โรค ASF เป็นโรคติดต่อในสุกรที่มีความรุนแรงและมีอัตราการตายสูง เชื้อโรคอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน สามารถแพร่ได้อย่างรวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการปศุสัตว์และอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสุกรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ปัจจุบัน โรค ASF ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคที่ใช้ได้ผล จึงยังต้องศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การควบคุมให้พื้นที่ปลอดโรค ASF จึงต้องมีมาตรการการเฝ้าระวังโรคและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการจำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์และการคัดทิ้งสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ

 

การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของโรค ASF ในพื้นที่ทวีปยุโรป ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลในประเทศสมาชิกสหภาพฯ และประเทศเพื่อนบ้านของสหภาพฯ โดยเฉพาะมอนเตเนโกร เนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตเนื้อสุกรของมอนเตเนโกรมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีศักยภาพในการผลิตจำกัด อันเป็นเหตุจากเทคโนโลยีการผลิตทั้งในระดับฟาร์มและโรงฆ่าชำแหละขนาดเล็กหลายแห่งยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ มอนเตเนโกรมีพื้นที่เพาะปลูกสำหรับแปรรูปเป็นอาหารสุกรจำกัด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศเพื่อให้พอต่อการบริโภคในประเทศ อีกทั้ง ฟาร์มส่วนใหญ่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวขนาดเล็ก มีความเสี่ยงและต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทรายใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่รายในตลาด ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศในเดือนมิถุนายน 2566 ตรวจพบการระบาดของโรค ASF ในฟาร์มเลี้ยงสุกรหลายแห่งในประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย อิตาลี กรีซ และโปแลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าเนื้อสุกรที่สำคัญของมอนเตเนโกร การระบาดครั้งนี้จึงเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขที่สำคัญต่อมอนเตเนโกร

 

  • การระบาดของโรค ASF ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตเนื้อสุกรหลายประเทศในยุโรป ทำให้เกิดการขาดแคลนและมีราคาในตลาดผันผวน ทั้งนี้ สคต. จึงเห็นว่าผู้ประกอบการไทยที่มีกระบวนการผลิตได้ตามมาตรฐานสากล มีโอกาสที่จะส่งออกผลผลิตจากสุกรเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคบอลข่าน โดยปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของไทยยังไม่ถูกระงับการนำเข้ามาในมอนเตเนโกร จึงอาจเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากไทยเข้ามาสำรวจโอกาสในการส่งออกในภูมิภาคนี้
  • จุดเด่นที่น่าสนใจของมอนเตเนโกร คือ มอนเตเนโกรใช้เงินสกุลยูโรเป็นสกุลหลักของประเทศตั้งแต่ปี 2545 จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจกับคู่ค้าในสหภาพยุโรป นอกจากนี้มอนเตเนโกรยังมีท่าเรือของตนเอง ณ เมือง Bar รองรับการขนส่งสินค้าทางทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานระบบถนนและระบบรางสามารถรองรับสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคบอลข่านได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
  • ปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาลักษณะตลาดเนื้อสัตว์แปรรูปในมอนเตเนโกร คือวัฒนธรรมการรับประทานเนื้อสัตว์ในคาบสมุทรบอลข่าน โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ในภูมิภาคบอลข่าน รวมถึงมอนเตเนโกร นิยมบริโภคเนื้อสุกร เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาเหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรที่เป็นที่นิยมในมอนเตเนโกร ได้แก่ ไส้กรอกและแฮม โดยได้รับอิทธิพลการรับประทานอาหารในลักษณะนี้จากชาวอิตาเลียน

 

แฮมเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของมอนเตเนโกร โดยได้รับการคุ้มครองจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของมอนเตเนโกร และเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) คือ แฮมดิบรมควันที่ผลิตในภูมิภาค Njeguši ใกล้อ่าวโกตอร์ (Kotor Bay) เพราะมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่แห้งและมีลมพัดตลอด อีกทั้ง สามารถใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงในการใช้ฟืนรมควันเนื้อ ในธุรกิจขนาดเล็กที่มิได้ผลิตระดับอุตสาหกรรมตลอดปี มักจะเริ่มหมักเกลือสมุทรและรมควันเนื้อส่วนขาหลังของสุกรช่วงปลายปี เนื่องจากมีอากาศเย็นและระดับความชื้นเหมาะสม เนื้อสุกรจะไม่เสียง่าย

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

รูปภาพที่ 1: แฮมรมควันจากภูมิภาค Njeguši (Njeguški pršut)
ที่มาของข้อมูล: Total Montenegro News

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ แนะนำผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรจากไทยที่มีโอกาสที่ดีในตลาดมอนเตเนโกร โดยอาจเริ่มจากร้านค้าขายสินค้าเอเชีย หรือร้านค้าเฉพาะทางที่ขายสินค้าออร์แกนิกจากต่างประเทศ โดยสินค้าฯ ที่น่าจะได้รับความนิยม อาทิ

  1. เนื้อสุกรสดและแช่เย็น เช่น พอร์คชอป เนื้อสันใน และซี่โครง เพื่อนำไปใช้ประกอบอาหาร ทั้งนี้ สินค้าเนื้อสุกรออร์แกนิกและสุกรจากฟาร์มระบบเลี้ยงแบบปล่อยหรืออินทรีย์ (Free-range/Organic) จะมีโอกาสจับตลาดพรีเมี่ยมสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการสินค้ามีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ
  2. ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูป เช่น ไส้กรอก ซาลามี่ เนื้อสุกรอบแห้ง (Pork Jerky) แคบหมู แฮมรมควัน ซี่โครงบาร์บีคิว และแฮมหมักเกลือ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่เป็นที่นิยมในท้องถิ่นอยู่แล้ว

 

เมื่อพิจารณาข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเนื้อสุกรในมอนเตเนโกรในปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีการจัดตั้งสมาคมผู้เลี้ยงและผลิตเนื้อสุกร ทำให้อำนาจการต่อรองของผู้ประกอบการมีน้อย นอกจากนี้ เนื่องจากเกษตรกรในประเทศมอนเตเนโกรไม่สามารถผลิตเนื้อสุกรได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ในประเทศ เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสัตว์ จึงต้องนำเข้าทั้งสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกร

 

เนื่องจากมอนเตเนโกรยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จึงยังคงใช้กฎระเบียบด้านภาษีและการส่งออก-นำเข้าสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ดี การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 2555 และกระบวนการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้มอนเตเนโกรต้องปรับปรุงกฎหมายด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงระเบียบมาตรฐานสินค้าและศุลกากรให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป

 

  • ด้านอัตราภาษีอากร

  • ข้อมูลจากองค์การการค้าโลกระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันไทยยังไม่มีการทำความตกลงการค้ากับมอนเตเนโกร สินค้าเนื้อสุกรและส่วนอื่นที่กินได้จากไทย อยู่ภายใต้พิกัดศุลกากร 0203 และ 0206 มีอัตราภาษีอยู่ในช่วง 2-9% ส่วนสินค้าแปรรูป เช่น ไส้กรอก พิกัดศุลกากร 1601 มีอัตราภาษี 20%

 

  • งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในมอนเตเนโกร

  • งาน FOOD FAIR MONTENEGRO 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร จัดในช่วงเดือนมีนาคม 2567 สถานที่จัดงาน ศูนย์แสดงสินค้า Adriatic Fair Budva เมืองบุดวา (Budva) ประเทศมอนเตเนโกร

เว็บไซต์ของผู้จัดงาน http://www.adriafair.co.me/en/

 

  • หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในมอนเตเนโกร

  1. คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร ปศุสัตว์ และสุขอนามัยพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ประเทศมอนเตเนโกร (Directorate for Food Safety, Veterinary and Phytosanitary Affairs)

เว็บไซต์ https://www.gov.me/ubh

  1. ระบบข้อมูลการตลาดการเกษตร กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ประเทศมอนเตเนโกร (Agrarian Marketing Information System of Montenegro)

เว็บไซต์ https://www.amiscg.org/

  1. หน่วยงานศุลกากร กระทรวงการคลัง ประเทศมอนเตเนโกร (Revenue and Customs Administration)

เว็บไซต์ https://www.gov.me/upravaprihoda

  1. หน่วยงานตรวจสอบมาตรการสุขอนามัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศมอนเตเนโกร (Administration for Inspection Affairs)

เว็บไซต์ https://www.gov.me/uip

  1. กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประเทศมอนเตเนโกร (Ministry of Economic Development and Tourism)

เว็บไซต์ https://www.gov.me/en/mek

 

ที่มาของข้อมูล

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
24-28 กรกฎาคม 2566

 

jaJapanese